ตีพิมพ์ในคอลัมน์ มหาสมุทรแห่งปัญญา
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 27 พฤษภาคม 2550


คราวที่แล้วผมเล่าประสบการณ์การเรียนอย่างไม่ค่อยจะมีสติของผม ... อันที่จริงผมชอบบทเรียนส่วนตัวแบบนี้ เพราะมันแรงดี มันโดนดี มันสอนเราได้ดีกว่าประสบการณ์แบบพื้นๆ ตรงกับที่ครูบาอาจารย์แนะอยู่เสมอๆ ว่า “ถ้าอยากจะสุข ให้เอาทุกข์เป็นทางเดิน” แม้ว่าบางครั้งการลุยผ่านเส้นทางเหล่านั้นจะทุกข์อย่างแสนสาหัสและเกือบจะเอาตัวไม่รอด

ถ้ามองย้อนกลับไปก็เห็นทั้งโอกาสและศักยภาพความสามารถเรียนรู้เรื่องสติได้เอง ง่ายๆ ของมนุษย์ ไม่ว่าจะผ่านเรื่องเรียนหนังสือหรืออย่างอื่น และไม่ว่าเราจะรู้จัก เรียกชื่อได้ถูกต้องหรือไม่ก็ตาม

การเกิดวิตก-วิจารณ์-ปีติอันเป็นปฐมบทแห่งจิตที่มีกำลังคู่ควรแก่งานนั้นอาจมีอยู่ให้เรา “ชิมลอง” เหมือนกับเมนูอาหารว่าง พวก appetizer ที่เราสั่งมากินเล่นง่ายๆ แต่จะได้กินอาหารหลักจานอร่อยดูเหมือนต้องลงทุนลงแรงฝึกอย่างต่อเนื่องและยาวนานไม่น้อย อาจเป็นเพราะเช่นนี้เองเราจึงมักจะเห็นคุณค่าของอาหารและยอมลงทุนกับมันยามที่เราทุกข์ทรมานจากความหิวมากๆ

ไม่แน่ใจว่าจะเป็นเช่นเดียวกับกรณีนักศึกษาใหม่ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์หรือเปล่า

ผมเพิ่งกลับมาจากการไปพูดคุยกับบรรดานักศึกษาระดับปริญญาโทเข้าใหม่ ของคณะพยาบาลศาสตร์ ม.อ. หาดใหญ่ ประมาณหนึ่งร้อยยี่สิบคน ในหัวข้อ “การเรียนอย่างมีสติ และมีความสุข” ตั้งแต่เช้าก็ได้ยินอาจารย์ท่านต่างๆ พูดถึงความสุขๆ กันตลอด ดูเป็นเรื่องที่ขายได้กับนักศึกษา

ก็คงขายได้จริงๆ เพราะดังเช่นอาจารย์ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งเคยกล่าวไว้ว่าในบ้านเรานั้น “การศึกษาเป็นทุกข์ของแผ่นดิน” ผมได้ลองถามนักศึกษาเหล่านี้ดูว่าในบรรดาร้อยกว่าคนที่นั่งอยู่นั้น มีใครที่รู้สึกกังวลเกี่ยวกับการเรียนของเขาบ้าง ปรากฏว่าเกือบทั้งหมดยกมือขึ้นแบบไม่ต้องลังเล มีอยู่ไม่ถึงห้าคนที่ไม่ยกมือ

เมื่อถามว่า แล้วจากประสบการณ์ของพวกเขาการเรียนนั้นเป็นอย่างไรมีความสุข เฉยๆ หรือว่าเป็นทุกข์ มีคนยกมือว่ามีความสุขสองสามคน ที่เฉยๆ มีเกือบครึ่ง และเป็นทุกข์เสียส่วนใหญ่ พอถามว่าแล้วเวลาไหนบ้างที่มีความสุข หลายคนตอบแบบขำๆ ว่าตอนออดหมดเวลา บ้างก็ตอบว่าตอนครูไม่มา เป็นไปได้ว่าอาจตอบเล่นๆ แต่คงมีความจริงอยู่ในนั้นไม่มากก็น้อย

ผมลองถามอีกว่าเขา “คิดว่า” ตนเองมีสติ รู้เนื้อรู้ตัวอยู่สักเท่าไหร่ เกือบทั้งหมดคิดว่ามีเวลาไม่ถึงครึ่งที่ตนเองมีสติอยู่กับตัว อาจารย์ท่านหนึ่งยกตัวอย่างว่า เคยบ้างไหมที่พอเข้าไปในห้องยาแล้วจู่ๆ ก็จำไม่ได้กระทันหันว่าอุตส่าห์เดินมาตั้งไกลเพื่อตั้งใจจะมาหยิบอะไร ทั้งหมดพยักหน้าหงึกหงักอย่างเห็นด้วย

เพื่อแสดงวิธีกลับมาอยู่กับตัวเอง กับร่างกายของเราเองอย่างง่ายๆ ผมจึงพานักศึกษาทำกิจกรรม “Body Work” หรือ “ผ่อนพักตระหนักรู้” โดยให้ทุกคนนอนหงาย ปล่อยตัวตามสบาย ชันเข่าขึ้น ใช้เชือกหรือผ้าผูกบริเวณเหนือเข่าให้ขาทั้งสองอยู่ด้วยกัน

การชันเข่าขึ้นและปรับเข่าให้ติดกันทำให้กล้ามเนื้อบริเวณช่องท้องซึ่งสัมพันธ์กับความกลัวของมนุษย์ผ่อนคลายลง ยามที่เราตกใจ อยู่ในภาวะป้องกันตนเอง หรือเครียด ร่างกายของเราจะมีปฏิกิริยาหลายอย่าง เช่น จะหลั่งเสตียรอยด์สารกลุ่มคอร์ติซอล ที่ทำให้เราความดันสูงขึ้น หรืออดรีนาลิน รวมถึงการหดตัวของกล้ามเนื้อหลายมัด ทั้งที่เรารู้ตัว ตั้งใจ และบังคับได้ และที่เราไม่รู้ตัว ไม่ตั้งใจ และบังคับไม่ได้

คนสมัยปัจจุบันเติบโตและมีชีวิตอยู่ในภาวะที่เราเครียดเป็นประจำจนบางคนกล้ามเนื้อบางส่วนเกร็งอยู่บ่อยๆหรือตลอดเวลา การปรับเข่าจะช่วยผ่อนกล้ามเนื้อดังกล่าว

เช่นเดียวกันกับการที่เรายิ้มให้กับตัวเอง ทราบไหมครับว่าใบหน้าของเรานี้มีกล้ามเนื้อมากกว่า ๓๐๐ มัด ยามที่เราโกรธ กล้ามเนื้อเหล่านี้ก็จะเกร็งหดตัว แค่เราพยายามยิ้ม ก็จะเป็นการช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อได้นับร้อยมัด ซ้ำยังมีการวิจัยค้นพบแล้วว่ามีผลต่อจิตใจของเราด้วย

ผมให้นักศึกษานอนหงายตามสบาย วางมือลงข้างลำตัว หลับตาให้สบาย เปิดดนตรีเพื่อช่วยปรับคลื่นสมองไปสู่ระดับอัลฟ่า (มีความถี่ประมาณ ๗-๑๔ รอบต่อวินาที) จากนั้นพานักศึกษาตามความรู้สึกตัวผ่านทางกายเริ่มจากนิ้วเท้าไปจนถึงศีรษะ โดยกำหนดควบคู่กับลมหายใจไปด้วย

ในระหว่างที่ความรู้ตัวของเราไปอยู่ที่ตำแหน่งใดก็ให้เขาสื่อสารกับเซล เนื้อเยื่อ อวัยวะบริเวณนั้น ส่งความรัก ความปรารถนาดีไปให้ ขอบคุณอวัยวะเหล่านั้นที่ได้ช่วยเหลือร่วมชีวิตกับเรามาตลอด ขอโทษเขาที่บางครั้งเราอาจทำสิ่งที่เป็นโทษต่อเขา เช่น กินอาหารมันๆ ทำให้หัวใจต้องทำงานหนักขึ้น ดื่มเหล้าทำให้ตับต้องออกแรงกำจัดแอลกอฮอล์เป็นพิเศษ หรือบางทีก็เดินแบบเผลอตัวเผลอใจไม่ระวังเอาเท้าไปเตะโต๊ะเตะเก้าอี้เข้าให้ เป็นต้น

อีกกิจกรรมที่ผมให้ทดลองทำกันคือ “Earth Breathing” หรือ “ปราณพิภพ” เป็นวิธีการเจริญสติด้วยลมหายใจของศาสนาพุทธสายทิเบต ซึ่งสามารถช่วยให้เรากลับมาอยู่กับลมหายใจและรู้สึกมั่นคง “ติดดิน” ได้ง่ายๆ อย่างเหลือเชื่อ (ผมขออนุญาตอุบเอาไว้จะเก็บมาเล่าให้ฟังภายหลัง)

การที่เราสามารถกลับมาอยู่กับตัวเรา ร่างกายของเราได้ง่ายๆ เช่นนี้ นับเป็นบาทฐานสำคัญเบื้องต้นในการเจริญสติ และหากเราฝึกฝนบ่อยๆ สักระยะ จะเกิดภาวะที่เรียกว่า ปีติและสุข ซึ่งเป็นความสุขง่ายๆ ราคาถูก เข้าถึงได้ทุกคน ไม่จำกัดอายุ เพศ ความรู้ ฐานะ หรือรายได้แต่อย่างใด ปีติและสุขเป็นเสมือนเสบียงหรือกำลังใจเล็กๆ น้อยๆ ในการเดินทางทางจิตวิญญาณของเรา

ผมหวังว่าเทคนิควิธีการเล็กน้อยเหล่านี้จะทำให้นักศึกษาบางคนเข้าใจจากการได้ลงมือปฏิบัติเอง และนำไปสู่การมีสติในการเรียนได้ แต่ถ้าใครยังไม่ชอบไม่ถูกจริตกับเครื่องมือสองอย่างนี้ ทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เองยังได้จัดให้นักศึกษาที่สนใจได้เข้าโครงการอบรมวิปัสสนากัมมัฏฐาน ร่วมจัดโดยยุวพุทธิกสมาคม (สายคุณแม่สิริ กรินชัย) และอานาปานสติ ร่วมจัดกับทางสวนโมกขพลารามด้วย ซึ่งนับว่าเป็นโอกาสที่ดีมากสำหรับนักศึกษาที่จะเห็นศักยภาพจากการมีสติของตน

แล้วเราทุกคนก็สามารถเข้าถึงความสุขง่ายๆ นี้ได้ทุกเวลาด้วย ไม่เพียงแต่เฉพาะเวลาเรียน เราสามารถสัมผัสมันได้ตลอดไม่ว่าจะเป็นเวลาทำงาน ทำความสะอาดบ้าน ล้างจาน ถูบ้าน ซักผ้า เล่นกีฬา

สำหรับชื่อเรื่องที่ว่า “เรียนอย่างมีสติ และมีความสุข” นั้น ในเรื่องว่าด้วยการมีสติแล้ว ไม่ว่าจะกระทำการหรือดำเนินกริยาใดๆ ก็สามารถเอากิจกรรมใดๆ มาแทนคำว่า “เรียน” ได้ด้วยเกือบทุกกริยา และได้ผลคือความสุขเช่นเดียวกัน

0 comments: