ตีพิมพ์ในคอลัมน์ มหาสมุทรแห่งปัญญา
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 20 พฤษภาคม 2550


“หัวข้อที่อยากให้มาชวนนักศึกษาคุย คือ ‘เรียนอย่างมีสติและมีสุข’ ค่ะ”


น้ำเสียงไพเราะผ่านโทรศัพท์มาจากภาคใต้ กำลังนัดแนะกับผมเรื่องการปฐมนิเทศนักศึกษาปริญญาโทและปริญญาเอกเข้าใหม่ของคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผมบอกตัวเองว่าเอาอีกแล้วไหมล่ะ เคยตั้งใจว่าไม่อยากรับปากจะไปคุยอะไรที่ไหนโดยยังไม่ทราบหัวเรื่องก่อน นี่เผลอไปตกปากรับคำเข้าให้อีกแล้ว อืมม์ ... คนชวนนี่ก็เหมือนกัน มั่นใจได้อย่างไรว่าผมจะไม่คุยกันลงคูลงคลองกันไป (ฮา)


ยังดีที่ผมพอมีประสบการณ์อยู่บ้าง เรื่องเรียนนี่ ก็เล่นเรียนอยู่ตั้งเกือบสามสิบปีนี่ครับ (ฮา) แต่ที่คาดว่าจะเอาไปเล่าแลกเปลี่ยนกับบรรดาน้องๆ นักศึกษาใหม่ (แม้ว่าหลายคนคงไม่ใช่น้องแล้ว) คือ ประสบการณ์การเรียนอย่างขาดสติและมีทุกข์ ต่างหากครับ เพราะมันทั้งขำ ทั้งเจ็บปวดเสียเหลือเกิน จนจำได้แม่นยำ ชัดเจน ราวกับว่ามันเพิ่งจะเกิดได้ไม่นานเชียวหละ


เรื่องราวเกิดขึ้นตอนผมขึ้น ม.๔ ครับ เป็นช่วงที่พวกเรานักเรียนสายวิทย์-คณิตได้เริ่มเรียนวิชากลุ่มวิทยาศาสตร์ใหม่ๆ หลายตัว ได้แก่ ชีววิทยา เคมี และฟิสิกส์ หลายคนคงว่าการเรียนแบบ ม.ต้น กับ ม.ปลายก็ไม่ค่อยต่างกัน แต่สำหรับผมแล้วต่างกันราวกับฟ้ากับเหวเลยครับ และก็เจ้าวิชาฟิสิกส์นี่แหละครับ ที่ทำเอาผมเกือบทำผมเสีย self แบบสุดๆ


ไม่รู้เป็นอย่างไร ผมทำแบบฝึกหัดไม่ได้ซักที ทั้งๆ ที่อ่านหนังสือของ สสวท. ก็แล้ว อ่านคู่มือทั้งของมัธยมและมหาวิทยาลัยก็ด้วย แต่ละครั้งอาจารย์สมชัย ซึ่งสอนเก่งและใจดี จะให้การบ้านประมาณสามถึงสี่ข้อกลับมาทำที่บ้าน เชื่อไหมครับ ผมนั่งทำอยู่ข้อละเป็นชั่วโมงยังไม่เสร็จเลย บางครั้งนั่งอยู่ทั้งคืนก็ยังคิดไม่ได้ ที่ทำๆ ให้เสร็จก็ออกมาผิดประจำ


หลังจากเรียนไปได้ไม่นาน ก็มีการทดสอบพรีเทสต์ นัยว่าจะดูว่านักเรียนมีพื้นฐานความเข้าใจและความพร้อมเท่าไหร่ ผมไม่ค่อยเครียดเท่าไหร่เพราะเดาเอาจากประสบการณ์เก่าจาก ม.ต้นว่าเราคงพอจะทำได้


แต่ผลไม่ได้เป็นอย่างนั้นครับ สอบครั้งแรกคะแนนเต็ม ๕๐ คะแนน ผมได้ ๒๙ คะแนน (เห็นไหมครับว่าจำได้แม่น) เกินครึ่งมาสี่คะแนน โอย ผมลมแทบใส่ ... แหมอย่าเพิ่งบอกว่าเว่อร์นะครับ ก็ตอนม.ต้นเราเรียนพอใช้ได้นี่นา ได้เท่านี้ย่อมต้องตกอกตกใจเป็นธรรมดา ผมได้แต่ปลอบใจตัวเองว่า เอาล่ะน่ะ คงเป็นเพราะเราเตรียมตัวไม่ค่อยดีเท่าไหร่ รอบหน้าต้องเตรียมดีๆ ทำให้ดีกว่านี้


ดูเหมือนอะไรๆ จะไม่เป็นใจครับ ในขณะที่วิชาอื่นๆ ผมก็เรียนสนุก รู้เรื่องเข้าใจเนื้อหาดี ทำคะแนนใช้ได้ แต่เจ้าฟิสิกส์ไม้เบื่อไม้เมานี่ไม่รู้เป็นอย่างไร ทำเอาปวดเศียรเวียนศีรษะได้เป็นประจำครับ การทำการบ้านของผมไม่ได้ดีขึ้นเท่าใดเลย ยังใช้เวลาข้อละเป็นชั่วโมงๆ อยู่ดี ทั้งๆ ที่ถ้าเข้าใจก็น่าจะใช้เวลาไม่เกินห้านาทีเท่านั้น ช่วงนั้นจำได้ว่าเครียดมาก ไม่รู้ว่าเวลาสอบจะเป็นอย่างไร ในห้องเรียนก็เครียด ตอนอ่านหนังสือเตรียมสอบนี่ยิ่งทั้งเหนื่อยทั้งทรมาน ใจตุ๊มๆ ต่อมๆ ไปตลอด


พอสอบครั้งถัดมา อยู่ในห้องสอบทำได้บ้างไม่ได้บ้าง แต่ละข้อไม่มั่นใจเลยว่าจะถูกต้อง พออาจารย์ประกาศคะแนนออกมาที่คาดเอาไว้ก็เป็นจริง จากคะแนนเต็ม ๕๐ ผมได้ ๒๙ เกินครึ่งมาอีกสี่คะแนนอีกแล้ว แถมรอบนี้เพื่อนๆ ส่วนใหญ่ได้คะแนนดีกันทั้งนั้น ท่าทางจะตก mean แน่เรา เสร็จแน่


ใครที่เรียนเก่งตลอดหรือไม่เคยเครียดเพราะการเรียน แล้วไม่เข้าใจว่าคนที่ได้คะแนนน้อยเขาเครียดมากจนทำอะไรบางอย่างที่ไม่อยากจะเชื่อนั้นจะมีจริงหรือ ไม่ต้องแปลกใจครับ มีแน่นอน


ช่วงนั้นผมเครียดมาก รู้สึกเหมือนโลกจะถล่มทลาย เห็นใจหน่อยนะครับ ก็ผมอยู่ในระบบที่บอกว่าต้องเรียนให้เก่งที่สุด ให้ดีที่สุดมาตลอดนี่นา ถึงขนาดเคยมีอยู่คืนหนึ่งยืนอาบน้ำ เบลอไปหมด น้ำตาซึม ยืนให้น้ำฝักบัวฉีดอยู่นาน นึกอะไรไม่ออกเอาหัวโขกกับประตูห้องน้ำหลายโป๊กเหมือนกับหนังฮอลลีวู้ดที่เพิ่งดูมา ผลคือมึนยิ่งกว่าเดิมอีก (ฮา)


หลังจากคิดสะระตะอยู่นานสองนาน ผมคิดว่าชาตินี้คงเอาดีกับวิชาฟิสิกส์ไม่ได้แน่นอน และถ้าเรียนฟิสิกส์ไม่ดีก็อนาคตในทางสายวิทยาศาสตร์คงจะลำบากแน่ จึงตัดสินใจไปหาอาจารย์เพื่อขอย้ายแผนการเรียน ไม่ต้องเจอวิชานี้ให้มันรู้แล้วรู้รอดไปเลย พอผมไปพบอาจารย์ปทุมมาศ ที่ห้องแนะแนวการศึกษา อาจารย์ท่านถามด้วยความเป็นห่วงเป็นใยว่า “เป็นอย่างไรบ้าง ทำไมหน้าไม่ค่อยดีมาเลย” ผมตอบไปว่า “อาจารย์ครับ ผมจะมาขอย้ายแผนการเรียนครับ”


พอได้ยินดังว่าจากปากนักเรียนคะแนนค่อนข้างดีที่อาจารย์รู้จักมาตั้งแต่ ม.ต้น อาจารย์มีสีหน้าแปลกใจระคนตกใจ ถึงขนาดลุกขึ้นมาปลอบโยนผม มาแตะตัวแตะไหล่ พลางพูดว่า “ใจเย็นๆ พยายามนึกถึงสิ่งดีๆ ที่เคยทำในอดีตเข้าไว้” นึกย้อนกลับไปแล้วผมรู้สึกขำกลิ้ง (แต่ไม่เกี่ยวกับลิงหรือหมาแต่ประการใด) ทีเดียวเชียวครับ แต่ตอนนั้นผมขำไม่ออกหรอกครับ มีแต่ความเศร้า ผิดหวัง และอาย ไม่อยากจะไปเจอใครเลย นึกไม่ออกว่าจะเอาหน้าไปไว้ที่ไหน


อาจารย์ปทุมมาศ หลังจากได้ฟังเรื่องราวของผม เธอยิ้มอย่างมีเมตตาแล้วบอกว่า ให้ใช้หลักของ “เกสตัลต์” ดูสิ คือ ฝึก “Here and Now” (ที่นี่ และ เดี๋ยวนี้) หลักๆ แค่นี้เองครับอาจารย์ไม่ได้อธิบายอะไรมาก เพียงแต่บอกว่าไม่ต้องเครียด ให้ผมไปพักผ่อน และคิดต่อเอาเอง ผมก็เอากลับมาคิดต่อ ออกบ้างไม่ออกบ้างครับ


ช่วงนั้นรู้สึกเวลาผ่านไปเร็วมาก เพราะผมกลัวจะต้องสอบอีก เดี๋ยวคะแนนไม่ดีอีก แต่แล้วก็หนีไม่พ้น อีกไม่นานก็นัดสอบฟิสิกส์อีก ผมลองทำใจฮึดสู้อีกครั้ง แต่ด้วยล้าเหลือเกิน เรียนมาไม่ถึงเทอมแต่เหนื่อยอย่างถึงที่สุด คิดวนคิดเวียนแต่เรื่องสูตรกลศาสตร์แทบทุกวันจันทร์ถึงอาทิตย์ ไม่มีเว้นสักวัน ตั้งใจว่าเอาเถอะทำเท่าที่ได้ละนะ ไม่ได้สี่ก็ช่างมัน จะเป็นปะไร


นั่งอ่านหนังสืออยู่ดีๆ คราวนี้เจอของดีครับ บ่อยครั้งเหลือเกินในขณะที่ผมนั่งอ่านหนังสือที่โต๊ะไม้เก่าๆ ในห้องนอน ผมมารู้สึกว่าแม้สองตาจะจ้องอยู่กับหนังสือที่อยู่ตรงหน้า แต่ใจกลับลอยไปไหนต่อไหน หลายครั้งหายไปกับอดีต คิดวนไปวนมาหาสาเหตุไปเรื่อยว่ามันเกิดข้อผิดพลาดตรงไหนนะ ทำไมจึงได้เป็นเช่นนี้นะ ทำอย่างไรดีกับคะแนนสอบอันแย่ๆ ของเรา


แต่แล้วความรู้สึกที่มันชัดเจนมากคือ ตอนที่รู้ตัวว่ากำลังเผลอ นี่ล่ะครับ โดยเฉพาะตอนที่เผลอกังวลไปคิดโน่นคิดนี่น่ะครับ มันเป็นอย่างไรหรือครับ มัน “ซ่า” ครับ ซ่าจริงๆ นะครับ ไม่ใช่บอกเชิงเปรียบเทียบแต่รู้สึกเย็นวาบไปทั้งร่างเลยครับ มาระลึกได้ทีไรก็ตกใจครับ รำพึงกับตัวเองว่า อ่านอยู่ดีๆ หนีไปอดีตเสียฉิบ


พยายามตั้งใจอ่าน สักเดี๋ยวก็หายไปอีกแล้วครับ บางทีก็ไปโผล่โลกอนาคตน่ะครับ ห่วงว่าคะแนนตอนช่วงแรกไม่ดีนี่เกรดออกมาจะเป็นอย่างไรบ้างนะ คงเสียประวัติน่าดู จินตนาการเรื่องร้ายๆ ไปต่างๆ นานา และก็อีกละครับ อยู่ๆ มันก็มารู้ตัวครับ ว่าอ้าว ... นี่เผลอไปคิดเรื่องอนาคตอีกแล้วนี่นา ไหนตั้งใจว่าจะไม่หวังแล้วไงว่าจะได้คะแนนเท่าไหร่ เอาเท่าที่ทำได้นี่แหละ คือตอนนั้นมันเซ็งและเลิกหวังไปแล้วน่ะครับ เลยชักไม่ต้องคอยเครียดกับมันเท่าเดิม


ผลกลับกลายเป็นว่าช่วงนั้นผมเริ่มกลับมาอ่านหนังสือเตรียมสอบฟิสิกส์ได้ดีขึ้น ใจจดจ่ออยู่กับงานตรงหน้าได้มากขึ้นเช่นกัน ไม่ค่อยวอกแวกเหมือนก่อน เริ่มเข้าใจมากขึ้นทีละนิดทีละหน่อย จนในที่สุดวิชาฟิสิกส์ก็กลับมาสนุกเหมือนกับวิชาอื่นๆ พอเริ่มสนุกคะแนนก็กระเตื้องขึ้นอย่างรวดเร็วครับ จนอาจารย์สมชัยถึงกับเอ่ยปากทักและเป็นกำลังใจช่วยเชียร์ ปลายภาคคะแนนออกมาคาดเส้นพอดีครับ รอดตัวไป นับเป็นประสบการณ์ที่บอกได้ว่าลืมไม่ลงจริงๆ


เมื่อได้ศึกษาพุทธศาสนามากขึ้นและได้ย้อนกลับไปพิจารณาสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต ก็พบว่าสิ่งที่อาจารย์แนะแนวผู้เป็นกัลยาณมิตรของผมแนะนำนั้นก็มีอยู่ในพุทธศาสนานี่เอง เพียงแต่ผมไม่เข้าใจ ไม่เข้าถึงเท่านั้น ราวกับกลิ่นผงกะหรี่บาลีแขกๆ ฟังแล้วไม่ค่อยขลัง ต้องนมๆ เนยๆ เลี่ยนๆ นิดๆ ถึงจะดูเป็นวิชาการปานนั้น


หลังจากนั้นหลายปีมานึกศึกษาเพิ่มเติมจึงได้พบว่า อันที่จริงสิ่งที่ผมฟังชื่อไม่รู้เรื่องเกสตัลต์ๆ (Gestalt) ที่ฟังดูเป็นเยอรมัน นี่ก็เป็นสำนักคิดของเยอรมันจริงๆ จิตวิทยาแนวเกสตัลต์ (โดย Perls, Perls และ Goodman) เชื่อว่าธรรมชาติของสมองมนุษย์นั้นเป็นองค์รวมและมีลักษณะเป็นระบบจัดการตนเอง (self-organizing system) และองค์รวมนั้นมีค่ามากกว่าผลรวมของส่วนประกอบ จิตบำบัดแนวเกสตัลต์นั้นให้ความสำคัญกับประสบการณ์ปัจจุบันขณะในปัจจุบันขณะ เน้นความรับผิดชอบส่วนบุคคล และเห็นว่ากระบวนการนั้นมีความสำคัญมากกว่าเนื้อหา


โอ ... ช่างงดงามอะไรปานนั้น ใช่ไหมครับ?

0 comments: