ตีพิมพ์ในคอลัมน์ มหาสมุทรแห่งปัญญา
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 22 กรกฎาคม 2550


ผมมีคนรอบข้างเป็นนักวิทยาศาสตร์หลายคนไม่ว่าจะเป็นอาจารย์ เพื่อน รุ่นพี่รุ่นน้อง รวมทั้งนักศึกษาที่อยู่ในกระบวนการฝึกฝน เรียนรู้ ผมพบว่าบุคคลเหล่านี้ส่วนใหญ่ นอกจากมีความสนใจในกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ความสามารถในการทำเรื่องยากๆ ให้เราเข้าใจ หรือบางทีพูดเรื่องง่ายๆ ให้เรางงไปเลยก็มี (ฮา) พวกเขายังมีสิ่งที่เป็นตัวร่วม หรือ หรม.--หารร่วมมาก-- อีกเรื่อง ก็คือ มุมมองต่อความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน

เป็นเรื่องปกติมากที่ผมได้ยินบรรดานักวิทยาศาสตร์ บ่นว่า การทำงานกับคนด้วยกันนี่ยากจัง ไม่เหมือนทำกับสัตว์ทดลอง หรือเชื้อจุลินทรีย์ หรือสารเคมีในหลอดทดลองเลย “อั๊วะเบื่อทำงานกับคนจริงๆ ว่ะ” อาจารย์ผมเคยบ่นให้ฟังเมื่อหลายปีก่อน

ทำงานกับคนก็ท้าทายจริงๆ แหละครับ มันมักพาเราไปเจอกับสิ่งที่ไม่คาดหมาย เจอโจทย์ยากๆ ที่ต้องการความสามารถหรือศักยภาพที่เรายังไม่ได้ค้นพบ ที่เราต้องเอามันออกมาใช้ เหมือนในเกมออนไลน์ที่ต้องเก็บ item ใหม่ๆ ให้ได้ก่อนผ่าน level ถัดไป ที่สำคัญ บางสถานการณ์โจทย์ยากๆ เหล่านี้ มันบังคับให้เราต้องเปลี่ยนแปลงตนเองก่อน จึงจะแก้ปัญหาได้ แล้วการเปลี่ยนแปลงมันง่ายเหมือนปอกกล้วยเข้าปากซะที่ไหนล่ะครับ?

ตัวอย่างกรณี “ผักติดฟัน” เรื่อง “ดูเหมือน” พื้นๆ อย่างนี้ เราก็ไม่ได้มีสูตรสำเร็จในการจัดการเสมอไป จริงไหมครับ? มันขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง ว่าเหตุเกิดขึ้นที่ไหน? มีคนเห็นเยอะไม๊? หากอยู่ที่บ้านกินกันเองสองคนนี่ก็ง่ายหน่อย คงบอกเลยทันทีเสียมาก หากกินในหมู่เพื่อนสนิท ก็อาจบอกตรงๆ หรือพูดติดตลก กันเพื่อนเขิน แต่ถ้าอยู่บนโต๊ะอาหารมื้อทางการ แถมนั่งอยู่ไกล นี่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ตรงไปตรงมา

สิ่งที่สำคัญมากสองสิ่งคือ ผักติดฟันใคร? และ ผักที่ติดส่งผลอะไรบ้าง!

ถ้าเป็นเพื่อนเรา เราก็คงดั้นด้นหาวิธีบอก แน่นอนว่าวิธีที่เราบอกเพื่อนนั้น ควรเป็นวิธีที่นุ่มนวลที่สุด บอกด้วยความรักและปรารถนาดี ไม่ได้หวังให้ได้เขินได้อาย แต่หากผักติดฟันคนที่เราไม่ชอบหน้า แล้วถ้าเราขาดสติ หรือเรามีความเมตตากรุณาไม่พอ เราก็อาจเผลอไผลปล่อยตัวปล่อยใจไม่ใยดีในความเดือดร้อนของคนอื่น

แต่อย่างที่ว่าตอนต้น ความสัมพันธ์กับคนนี่ยากนะครับ บางทีเพื่อนของเราอาจจะโกรธขึ้นมา ไม่พอใจที่เราไปบอก เจอตอบกลับมาแรงๆ สักทีสองทีนี่ก็อาจจะเหนื่อยใจไปเหมือนกัน เรียกว่ามึนกันทั้งผู้ฟังและผู้บอก

ยิ่งถ้าผักที่ติดฟัน ไม่ใช่ “ผัก” ธรรมดาที่เราเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่เป็น Shadow (เงา) หรือส่วนของตัวตนที่เราทิ้งไป นี่ยิ่งยากไปใหญ่

อาจารย์สมพล ชัยสิริโรจน์ กระบวนกรแห่งกลุ่มขวัญเมืองกรุง ผู้เชี่ยวชาญเรื่องนี้ที่สุดคนหนึ่งของเมืองไทย เคยบอกว่า ดอกเตอร์ ฮาล และ ซิดรา สโตน เปรียบ Shadow เหมือนกับไพ่ที่เราทิ้งไป ทำให้เราต้องคอยปฏิเสธความเป็นตัวตนที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของเราที่สมบูรณ์ จากเดิมที่เราเกิดมาเป็นเหมือนไพ่เต็มสำรับ ระหว่างการเติบโต เรากลับค่อยๆ ทิ้งไพ่ใบต่างๆ ไป และปฏิเสธว่าไพ่เหล่านั้น คุณลักษณะเหล่านั้น มันไม่ใช่ตัวเรา

ในกระบวนการเติบโตจนกระทั่งกลายมาเป็นคนอย่างเรา ไม่ว่าเราจะเลือกเป็นโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม ล้วนเป็นกระบวนการของการเลือกจะไม่เป็นบางอย่าง หรือบางสิ่งที่ขั้วตรงข้ามกัน อย่างเช่น หากเราเป็นคนเชื่อประสิทธิภาพการทำงานแบบที่สามารถวัดเป็น “ชิ้น” งาน ได้ เราก็มักปฏิเสธการให้เวลาและความสำคัญต่อความสัมพันธ์ และสิ่งนี้นี่เองอาจเป็นไพ่ที่เราทิ้งไป

ถ้าเรามีเพื่อนประเภททำงานแบบข้ามาคนเดียว ประมาณว่าเชื่อผู้นำชาติพ้นภัย ยากที่จะเกิดสภาพการทำงานอย่างมีส่วนร่วมได้ จริงอยู่แม้งานหลายชิ้นจะลุล่วงไปได้ แต่ข้อเท็จจริงคือเพื่อนเรามันเหนื่อยมาก ทุ่มเทเวลาให้กับงานมากจนทำให้คนอื่นถอยห่าง กรณีอย่างนี้เราจะบอกเขาอย่างไร และควรจะต้องบอกเขาให้เขี่ยผักที่ติดฟันอยู่นั้นออกไปหรือเปล่า

ว่ากันว่า Shadow นี้ ไม่ใช่เรื่องที่เจ้าตัว หรือเจ้าของ Shadow จะหาพบกันง่ายๆ อุปมาดั่งคนถือเทียนไขพยายามมองหาเงาของตน ด้วยการวิ่งไปข้างหน้าเรื่อยๆ ตัวเขาย่อมมองไม่เห็นเงาที่กำเนิดจากตนเอง ทาบยาวไปกับพื้นด้านหลัง ทั้งที่ผู้คนรายรอบต่างมองเห็นกันชัดเจน วิ่งหาจนงง จนหลง นึกไม่ออกเสียทีว่าสิ่งที่ฉันคิดว่ามันดีที่สุดในตัวฉัน มันเป็นสิ่งที่คนอื่นเห็นว่าไม่ดีได้อย่างไร?

ผักจำพวก Shadow นี้ ไม่เพียงแต่จะหาด้วยตัวเองให้พบยาก และต้องอาศัยเพื่อนรักที่หวังดีแล้ว มันยังเป็นเรื่องที่บอกกล่าวกันลำบากนะครับ ถ้าเราไม่เปิดใจ เราก็จะไม่สามารถรับฟังคำตักเตือนได้ เพราะว่าสิ่งนี้มันรับยาก ในกระบวนการเติบโตของเรา เราอาจต้องทำการบ้านทั้งภายในและภายนอกมากเหลือเกินที่จะกำจัดตัวตนส่วนนั้นของเราออกไป อยู่ๆ จะให้เราบอกว่าไอ้สิ่งที่เราใช้เวลาเกือบทั้งชีวิตเพื่อทิ้งมันไป มันนั่นแหละเป็นส่วนหนึ่งของเรา อย่างนี้จะรับได้อย่างไร?

กระบวนการให้เรายอมรับส่วนนั้นกลับเข้ามา ต้องอาศัยความกล้าหาญโดยส่วนตัว และการสนับสนุนจากชุมชนกัลยาณมิตรรอบตัวมากเหลือเกิน ดังเช่นที่ อาจารย์ณัฐฬส วังวิญญู จากกลุ่มจิตวิวัฒน์และขวัญเมืองกรุง เรียกว่าต้อง “ปลอดภัย เปราะบาง เปลี่ยนแปลง”

เจ้าของ Shadow ที่ไม่ฟังหรือไม่มีกัลยาณมิตร ก็ยากที่จะได้รู้จักและกลับไปรวมกับเสี้ยวส่วนตัวตนที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นของเขาได้ ถ้าเพื่อนเราไม่มีทีท่าว่าจะเห็นผักนี้เลย และดูเขาก็ยังไม่พร้อม ยังไม่อยากฟัง ซ้ำเพื่อนยังเป็นคนที่แรง หากเราดันทะเล่อทะล่าบอกไปไม่ดูตาม้าตาเรือ จะโดนหางเลขแถมมาด้วยหรือไม่ บางทีเราก็ควรจะอดใจ รอจนเขาคลี่คลายตนเอง เปิดใจยอมรับขึ้น ... ดีไหม?

ถ้า “ผัก” นั้น มันติดอยู่ที่ใจของเพื่อน แล้วมันส่งผลกระทบในแง่ลบต่อคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นที่บ้านหรือที่ทำงานล่ะ? หากเราเลี่ยงที่จะไม่บอกไม่ได้ เทคนิคการสื่อสารเจรจาทั้งหลาย ทั้งการประเมินสถานการณ์ รอจังหวะหาโอกาสบอก รวมทั้งคิดสรรหาคำพูดดีๆ ที่เหมาะสม ไม่ทำให้เพื่อนรู้สึกเสียหน้า หรือว่าถูกตำหนิโจมตี ทั้งหมดนี้อาจจะยังไม่พอ

ผมคิดว่าเราต้องทำความเข้าใจตรงนี้ให้ดี เพราะการบอกเพื่อนว่าผักติดฟันนี้สำคัญที่เจตนา เราต้องบอกเขาเพราะเรากำลังทำหน้าที่กัลยาณมิตร เป็นเงาสะท้อนให้เพื่อนได้เห็นตัวเองโดยไม่บิดเบือน ปัจจัยจึงไม่ได้อยู่เพียงเทคนิคร้อยแปดในการหาจังหวะเวลาหรือการเลือกใช้คำพูดเท่านั้น แต่อยู่ที่ความเปิดเผย จริงใจ และไม่คาดหวังผลอีกด้วย

หากเราไม่บอก เพื่อนเราคนนั้นคงยังทำงานต่อไปได้ และเราก็ยังสุขสบายดี แต่เราได้พลาดโอกาสในการทำหน้าที่ดูแลช่วยเหลือเขาอย่างจริงใจ ไม่มีผลประโยชน์เคลือบแฝง และเขาจะพลาดโอกาสในการได้กลับมาทบทวนตัวเอง กลับมาดูตัวเองในแง่มุมของคนอื่น เป็นโอกาสการพัฒนาตนที่เกิดขึ้นได้ง่ายๆ ทุกเมื่อ เหมือนโอกาสที่ผักจะติดฟันเราหลังทานอาหาร

ตัวเราก็ไม่ควรเกร็งหรือสรรหาเทคนิควิธีการมากจนไม่ได้เริ่มทำหน้าที่ การได้ลงมือบอกเท่ากับเราได้ฝึกฝนการสื่อสารด้วยความกรุณาไปแล้ว มีความจริงใจในฐานะกัลยาณมิตรเป็นเบื้องต้น ไม่คาดหวังว่าเพื่อนจะต้องเขี่ยผักออกทันทีที่เราบอก ไม่เสียใจผิดหวังถ้าเพื่อนจะมองไม่เห็นผัก แล้วแปรเจตนาเราไปเป็นอื่น

เพียงแต่ได้เอื้อเอ่ยบอกเพื่อนรักว่า “ผักติดฟัน” เราก็ได้ฝึกฝนตัวเอง ได้ทำหน้าที่เพื่อนที่ดี เพื่อนเราก็ได้ทบทวนตัวเอง ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นภายใต้สภาวะที่เป็นมิตร จริงใจ และไม่คาดหวัง :-)

0 comments: