ตีพิมพ์ในคอลัมน์ มหาสมุทรแห่งปัญญา
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 29 กรกฎาคม 2550
บางคนอาจประทับใจกับบทสนทนาระหว่างเจ้าชายน้อยกับพ่อค้า จากบทประพันธ์ก้องโลกของอองตวน เดอ เซงเตกซูเปรี ตอนที่พ่อค้าพยายามปิดการขายยาเม็ดแก้กระหายน้ำ ด้วยการสาธยายสรรพคุณของยาวิเศษนี้ว่า เมื่อกินเพียงเม็ดเดียวแล้วไม่ต้องดื่มน้ำอะไรเลยเป็นเวลาถึงหนึ่งสัปดาห์
แต่มีคนจำนวนไม่น้อยบนโลกกลมๆ ใบนี้ที่กำลังคิดในสิ่งที่ดูเหมือนจะตรงกันข้ามกับความคิดนี้ของเจ้าชายน้อยไปเลย
เมื่อสามปีที่แล้ว แดนนี่ โอไบรอัน นักคอมพิวเตอร์ชาวอังกฤษ ได้เสนอแนวคิดของ ไลฟ์แฮก (Life Hack) ขึ้นมา จากการศึกษาว่าบรรดาโปรแกรมเมอร์คอมพิวเตอร์มักจะมีวิธี “แฮก” หรือหาทางลัดในการทำงาน อ่านอีเมล แก้ปัญหา หรือโดยรวมๆ ก็คือเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น ประหยัดเวลา ลดความยุ่งยากจากการทำตามขั้นตอนปกติ โดยตัวเขาพูดติดตลกว่าแนวทางของเขาคล้ายๆ กับ “เจ็ดอุปนิสัยแห่งความสำเร็จสำหรับ Geeks (เซียนคอมพิวเตอร์)” ราวว่าเป็นสตีเวน โควีแห่งโลกไซเบอร์อะไรทำนองนั้น
เขาบอกว่าวิธีดังกล่าวคือ ไม่ยึดติดกับปัญหาทั้งหมด แต่ใช้อะไรก็ได้ ที่ใกล้มือ ที่แก้ปัญหาเฉพาะจุดได้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาอะไรก็ตาม ตั้งแต่ไม้จิ้มฟันยันเรือรบ เช่น เรื่องการจำใบหน้าคน การจัดกระเป๋าเดินทาง รวมไปถึงการแก้ปัญหาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ต่างๆ
นับตั้งแต่เขาไปบรรยายในงานประชุมเทคโนโลยีที่อุบัติขึ้นใหม่ในปี 2547 ก็เกิดความสนใจในแนวคิดนี้ขึ้นเป็นอย่างมาก ก่อให้เกิดเว็บไซต์และบล็อก (blog) อื่นๆ จำนวนมาก ถึงขนาดว่าในปีถัดมา สมาคมภาษาท้องถิ่นแห่งอเมริกา (American Dialect Society) พากันลงคะแนนให้ ไลฟ์แฮก (Life Hack) เป็นคำใหม่ที่มีประโยชน์มากที่สุดเป็นอันดับสอง (รองจากคำว่า Podcast)
บรรดาบล็อกทั้งหลายในแนวทางนี้ ดูเหมือน 43Folders.com จะได้รับความนิยมมากที่สุด บล็อกนี้รวบรวมบรรดาเคล็ดลับ เทคนิค หรือ “แฮก” ในการทำงานต่างๆ ให้ได้ง่ายขึ้น เร็วขึ้น สะดวกขึ้น เช่นว่า 9 วิธีในการดำเนินการประชุมให้ได้ผลมากขึ้น วิธีการจัดการและโต้ตอบอีเมลโดยใช้เวลาน้อยลง หรือการกลับไปหาเครื่องบันทึกนัดหมายหรือรายการที่ต้องทำในแต่ละวันแบบโบราณ คือ ใช้กระดาษและตัวหนีบ แทนเครื่องพีดีเอที่กำลังฮิตกันอยู่ทุกวันนี้
เขาเสนอวิธีแก้การผัดวันประกันพรุ่งด้วยสูตร (10 + 2) x 5 ครับ นั่นคือ ขณะที่เราทำงานอยู่บนคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ต ให้ใช้เวลา 10 นาทีเต็ม มุ่งความสนใจให้แก่งานอย่างเต็มที่ อีก 2 นาทีถัดมาค่อยอนุญาตให้ตัวเองไปท่องเวบ คุยแชท หรือทำอะไรต่อมิอะไรเรื่อยเปื่อยที่ไม่ใช่งาน แต่ภายใน 2 นาทีนี้เท่านั้น ทำเป็นเซ็ทอย่างนี้ (อย่างกับออกกำลังเพาะกายนั่นละ) ทั้งหมด 5 ครั้ง เราก็จะใช้เวลา 1 ชั่วโมงได้อย่างมีประสิทธิภาพถึง 50 นาที ใช้เวลาเล่นเพียง 10 นาที แทนที่จะปล่อยให้ตัวเองเผลอเล่นไปเรื่อย รู้ตัวอีกทีก็ผ่านไปอีกชั่วโมงแล้ว วิธีคิดของวิธีการนี้จะว่าไปก็ละม้ายคล้ายพ่อค้าขายยาเม็ดวิเศษแก้กระหายน้ำเลยละครับ
ยังมีอีกครับ คุณจีน่า ทราปานี บอกว่า เว็บไซต์ LifeHacker.com ของเธอนั้น เน้นเรื่องการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น “เพื่อที่จะได้เล่นมากขึ้น ไม่ใช่แค่ทำงานได้มากขึ้นเฉยๆ” เธอยกตัวอย่างว่า หากเราๆ ท่านๆ สามารถลดเวลาในการทำงานลงสองวินาทีในกิจกรรมสี่อย่างที่ต้องทำวันละยี่สิบครั้ง แล้วละก็ เราจะมีเวลาเหลือสำหรับ "เล่น" ได้ถึงสิบเอ็ดชั่วโมงต่อปีเชียว (ฟังดูคุ้นๆ อีกแล้วไหมครับ? มีเวลาห้าสิบสามนาทีต่อสัปดาห์ไปทำอะไรก็ได้)
ในบล็อกของเธอยังรวบรวมเทคนิคสารพัน ไม่ว่าจะเป็นวิธีกำจัดรอยด่างจากน้ำในเนื้อไม้ให้หายไป การแก้ปัญหาน่ารำคาญกับโปรแกรมไมโครซอฟท์เวิร์ด (แหม ... แก้ได้หมดจะเป็นพระคุณเชียว แต่ลงท้ายเธอว่า ถ้าน่ารำคาญจริงๆ ก็เปลี่ยนโปรแกรมมันเสีย เพราะมีของฟรีแบบโอเพนซอร์ซให้ใช้มากมาย) รวมไปถึงวิธีก๊อปปี้แผ่นดีวีดีลงเครื่องไอพ็อด
อันที่จริงไลฟ์แฮกก็เป็นปรากฏการณ์ที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงไปของรูปแบบการทำงาน การดำเนินชีวิตของชนชั้นกลางในเมือง ที่ต้องตื่นแต่เช้า เดินทางไปที่ทำงาน เปิดคอมพิวเตอร์ เช็คอีเมล เอ็มหรืออิม เข้าประชุม เลิกงานฝ่าฝนตกรถติดกลับบ้าน หากมีเวลาก็เช่าหนังแผ่นมาดู หรือไม่สุดสัปดาห์ก็ต้องเดินทางไปเวิร์กชอปหรือโอดีต่างจังหวัด นี่ยังไม่นับเรื่องแฟน เรื่องครอบครัวเลยนะ
คงจะตื้นเขินเกินไปหากเราจะตัดสินว่าไลฟ์แฮกถูกหรือผิด ดีหรือไม่ดี มีประโยชน์หรือไม่มี แบบตรงไปตรงมาทื่อๆ เพราะข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้เลยคือ การที่วิถีชีวิตของเราโดยเฉพาะในสังคมเมืองได้เปลี่ยนไปแล้ว เราต้องเร่งรีบมากขึ้น มีงานบางอย่างที่เราต้องทำซ้ำๆ บ่อยๆ หากมีวิธีช่วยให้ประหยัดเวลาในการทำเหล่านี้ได้ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายแต่ประการใด
เพียงแต่ว่ามุมมองของการใช้ชีวิตไม่ว่าเราจะเป็นเซียนคอมพิวเตอร์โปรแกรมเมอร์ เป็นพนักงานออฟฟิศ เป็นครูอาจารย์ หรือเป็นแม่บ้านทำงานบ้านก็ตาม เราต่างไม่ได้ต้องการเพียงแค่กลเม็ดนานามาช่วยสำหรับการทำงานรายชิ้น หรือเป็นตัวช่วยในแต่ละสถานการณ์ให้ผ่านพ้นไปได้ แต่หัวใจสำคัญน่าจะอยู่ที่การมีความสุขกับการทำงานในทุกขณะมากกว่า เหตุที่เราต้องการเจาะฝ่างานทั้งหลายเพราะเราทุกข์ทรมานกับงานนั้น และดูเหมือนว่าวิธีการของไลฟ์แฮกจะมุ่งไปที่ "รีบทำให้เสร็จ" มากกว่าการมี "ประสบการณ์ที่ดีระหว่างทาง" ฉะนี้แล้วเราอาจจะไม่พบกับความสุขในงานตรงหน้าก็เป็นได้ ถ้าเรามุ่งหาทางลัดประหยัดเวลาโดยหวังไว้ว่าจะได้เวลาใช้หาความสุขเอาข้างหน้า
อันที่จริงเจ้าของ 43Folders.com ก็บอกว่าตนเองเพิ่งค้นพบวิธีการเจริญสติ และรู้สึกทึ่งมากๆ ทำให้เขานำแนวคิด "ที่นี่และเดี๋ยวนี้" (This and Here) มาทั้งประยุกต์ใช้ และอธิบายกระบวนการของไลฟ์แฮกต่างๆ เช่นว่า ทำไมต้องที่นี่ (หรืองานนี้) และทำไมต้องเดี๋ยวนี้
เราชาวพุทธที่ปฏิบัติอยู่สม่ำเสมอคงไม่แปลกใจเท่าไหร่ เพราะการอยู่กับปัจจุบันขณะ มีสติรู้เนื้อรู้ตัวย่อมนำพาความสุขมาแน่นอน ไม่ว่าจะใช้ประกอบอาชีพทำงานทำการอะไร และความสุขนี้เองเป็นคำตอบสุดท้ายของการทำงานที่เราทุกคนต้องการ
ทั้งนี้ เทคนิคที่ว่ามาไม่ว่าจะวิธีไหน หรือแนวทางอะไร เพียงเรานำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับตัวเราเองก็น่าจะเกิดประโยชน์ที่สุดแล้วครับ แค่ไม่ลืมหัวใจสำคัญของการทำงานว่า เราจะมีความสุขในทุกๆ ขณะทำงาน จะเป็นงานประจำซ้ำซาก หรือเป็นงานลัดสั้นแบบไลฟ์แฮกก็ตามที :-)
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
0 comments:
Post a Comment