ตีพิมพ์ในคอลัมน์ มหาสมุทรแห่งปัญญา
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 30 กันยายน 2550


ว่ากันว่ามนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวที่มีความรู้ตัวว่า “ฉันคือใคร” รู้ว่าฉันเป็นฉัน และฉันนั้นต่างจากคนอื่นๆ อย่างไร

และว่ากันว่าเจ้าความรู้เนื้อรู้ตัวนี้เอง ที่ก่อให้เกิดเรื่องเกิดราวต่างๆ มากมายขึ้นในโลกนี้

ความสามารถในการรู้ตัวคือองค์ประกอบอันเป็นบาทฐานสำคัญของความสามารถก้าวข้ามการมีชีวิตอยู่แค่ตามสัญชาตญาณและเวียนว่ายตายเกิดไปได้ แต่ในอีกด้านหนึ่ง เจ้าความคิดว่าตนเองเป็นใครบางคน หรือเป็นอะไรบางอย่างนี่เอง ก็เป็นที่มาของความทุกข์ เพราะเรามักจะไป “ยึด” ติดว่าเราเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เป็นคนนั้นคนนี้อย่างเป็นจริงเป็นจังเกินเหตุ

อยากจะรู้จักความคิดว่าเราเป็นนู่นเป็นนี่มากขึ้นไหมครับ เราลองมาทำกิจกรรมง่ายๆ กันดูครับ

กิจกรรมการเรียนรู้นี้ทำได้ไม่ยาก เพราะไม่ต้องมีเครื่องมืออุปกรณ์อะไรเป็นพิเศษ เพียงแค่จับคู่กัน หาเพื่อนหรือคนรู้จักที่เราไว้วางใจมากๆ สักคนหนึ่ง นั่งลงหันหน้าเข้าหากัน สบตาเอาไว้ แล้วให้เขาคนนั้นถามเราว่า “คุณคือใคร?” ส่วนเราก็ตอบคำถาม เขาจะต้องถามคำถามเดียวกันนี้ไปเรื่อยๆ และเราก็ตอบไปเรื่อยๆ แค่นี้เอง ทว่าคำตอบต้องไม่ซ้ำเดิม จะบอกว่าเป็นผู้ชาย เป็นคนขยัน เป็นต้นไม้ เป็นความเศร้า เปรียบเทียบหรืออุปมาอย่างไรก็ได้ทั้งนั้นครับ

เพียงแต่ว่าเวลาเราจะตอบคำถามว่าฉันเป็นอะไรออกไป ก็ขอให้เราได้ตอบอย่างจริงๆ จังๆ ใช้ช่วงเวลาที่ถูกถามอย่างต่อเนื่องนั้นได้สืบค้นเข้าไปข้างในตัวในหัวเราก่อน หาเจอแล้วค่อยตอบว่าฉันคือใคร ไม่ต้องรีบร้อนตอบให้ผ่านๆ ไปนัก ตอบด้วยความซื่อสัตย์กับความรู้สึกของตนเอง ด้วยความจริงใจ เปิดเผยและจริงจัง

ส่วนเพื่อนคนถามก็ต้องไม่พูดตอบโต้ หรือให้ความเห็นอะไรเลยครับ แค่ฟังไว้เฉยๆ และสบสายตาไว้ไม่ละสายตาไปจากกัน ถามต่อไปอีกว่า “คุณคือใคร?” โดยไม่ทำเล่นๆ นะครับ ให้เกียรติกับคำตอบของเพื่อน ถามตอบกันอยู่อย่างนี้ประมาณ ๑๐ นาทีครับ

เมื่อครบเวลาแล้วลองผลัดกันกับเพื่อนในการทำหน้าที่ถามกลับดูบ้างครับ ทางเราเป็นฝ่ายถามบ้างแล้วให้เขาตอบ ไม่ต้องเร่งคำถามให้กระชั้นนักครับ แต่ก็ไม่ทอดยาวจนเยิ่นเย้อ

เสร็จกระบวนการถามคำถามแล้วขอให้เราทบทวนบันทึกบางคำตอบของเราที่รู้สึกว่ามันใช่หรือว่า “โดน” สักจำนวนหนึ่ง ไม่ว่าเราจะรู้สึกว่าเป็นคำตอบที่ดี เป็นคำตอบที่เราเองก็ประหลาดใจ หรือคำตอบอะไรก็ตามที่ติดอยู่ในใจ แล้วลองดูถ้อยคำเหล่านั้นว่าเราเห็นอะไรจากกระบวนการบ้างไหม

ไม่น่าเชื่อว่าคำถามง่ายๆ เพียงคำถามเดียว กับกระบวนการพื้นๆ ทำให้เกือบทุกคน (หรือทุกคนเลยก็ว่าได้) พูดกับตนเองว่า “โห ... นี่ฉันหรือเนี่ยะ!” คำถามเดียวนี่แหละครับ สามารถพาเราไปยังดินแดนที่เรารู้จักแต่ไม่คุ้นเคย ดินแดนที่เราอาจไม่รู้ว่ามีอยู่ หรือไม่ก็ดินแดนที่ไม่อยากจะรู้ว่ามีอยู่ (ฮา)

ผมได้เคยลองทำกระบวนการนี้มาสองสามครั้งแล้วครับ ซึ่งแต่ละครั้งก็แตกต่างกันออกไปไม่น้อยครับ โดยครั้งล่าสุดนี้อยู่ในประชุมเชิงปฏิบัติการ Arts as Dialogue กับอาจารย์ ยาคอฟ นะออร์ (Yaacov Naor) ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตตศิลป์ จิตวิทยา และการละครจากประเทศอิสราเอล

ตอนแรกคิดว่าเคยทำแล้วก็คงรู้สึกคล้ายๆ กับที่ผ่านๆ มากระมัง แต่ความเป็นจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลยครับ คงเป็นเพราะองค์ประกอบของคนที่เข้าร่วม โดยเฉพาะคู่ของเรา ความพร้อมของเราทั้งสองคน จังหวะย่างก้าวในการเดินทางในชีวิตของเรา ประเด็นหรือเรื่องราวหลักที่ติดอยู่ในใจเรา ณ ช่วงเวลานั้นๆ และอื่นๆ อีกมากมายครับ

คำถามกว้างๆ ที่ทำให้เราตอบเกือบจะอะไรก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นชื่อ เป็นนามสกุล เป็นอายุ เป็นอาชีพ เป็นลำดับครอบครัววงศาคณาญาติต่างๆ หลังจากค่อยๆ ละเลียดตอบคำตอบแบบพื้นๆ ไปจนเกือบหมด ก็ชักเริ่มรู้สึกถึงความยากของคำถาม

ยิ่งการที่คู่ของเราถามอย่างต่อเนื่อง ทำให้บางครั้งเราอาจคิดไม่ทัน บางคำตอบออกมาจากความรู้สึกชั่วแล่น หรือบ้างก็หลุดออกมาจากอารมณ์ในเวลานั้น สิ่งที่เผยออกมาจากปากของเราไม่ใช่เพียงแค่คำตอบ แต่เหมือนตัวตนของเราถูกลอกออกไปทีละชั้นๆ อย่างที่เราอาจไม่ต้องตั้งใจ ไม่ต้องพยายามมากเกินไป

จากช่วงแรกๆ ของกิจกรรม เราอาจพบว่าคำตอบที่เราบอกไปยังอยู่ในระดับความคิดที่ผ่านการคำนวณร้อยแปดแล้วว่าสิ่งนี้ดี พูดแล้วดูดี เป็นสิ่งที่ใครๆ ก็ยอมรับได้ เป็นสิ่งที่ฉันอยากเป็น (ส่วนจะเป็นจริงหรือไม่นั้นอีกเรื่องหนึ่ง) จนต่อมาก็เริ่มมีคำตอบที่เป็นความรู้สึก เป็นอารมณ์ เป็นสิ่งที่อยู่ในจิตใต้สำนึกของเราถูกเปิดเผยหลุดออกมา

การพยายามตอบเป็นการทำให้เราได้กลับมาตั้งคำถามกับตัวเองอีกครั้งว่าเราเองนั้นคือใคร คืออะไร โดยในแต่ละชั่วขณะของการพูดคุยเป็นประตูบานวิเศษที่เราอาจผ่านเข้าไปรู้จักตนเองมากขึ้น ว่าเรานั้นนิยามตัวเองว่าอะไร ในความรู้ตัว และในความไม่รู้ตัว หรือไม่ทันตั้งตัวก็ว่าได้

ทุกๆ ขณะที่เราตอบ เชิญชวนกึ่งท้าทายให้เราสงสัยว่าเรายังเป็นสิ่งเดิมที่ตอบไปเมื่อชั่วครู่หรือไม่ ยังเป็นคนเดิมที่เหมือนเดิมทุกประการ หรือเป็นคนเดิมที่ไม่เหมือนเดิมแล้ว อาจมีบางขณะที่เรารู้สึกว่าเราทั้งเป็นและไม่เป็นสิ่งที่เราเพิ่งจะตอบไปในเวลาเดียวกัน

เพราะในชั่วเวลาไม่กี่วินาทีที่เราเพิ่งกำหนดความเป็นตัวตนของเราลงไป ว่าเราคือใคร เราเป็นอะไร คำถามว่า “คุณคือใคร?” ก็กลับมาใหม่ ให้เราได้ค้นหาอีกครั้ง เหมือนว่าเป็นการพยายามทิ้งตัวตนที่เพิ่งสร้างไป แล้วขุดค้นหาความเป็นตัวตนใหม่ไปเรื่อยๆ ไม่รู้จบ

กระบวนการมันชวนให้เราฉุกคิดและใคร่ครวญว่า เราเป็นสิ่งที่เราให้คำตอบไปจริงหรือไม่? (แม้ว่าเราจะจริงใจมากๆ ก็ตาม) แล้วอะไรที่ทำให้เราเป็นหรือไม่เป็นดังว่า หากเราคิดว่าเราเป็นบางคนหรือบางอย่าง แล้ว คนอื่นไม่เห็นด้วยล่ะ ความคิดของใครถูกกันแน่ เป็นไปได้ไหมที่ถูกต้องทั้งสองคนหรือหลายคนก็ตาม

หรือว่าแท้จริงแล้วเราเป็นเพียงแค่ทะเลแห่งความเป็นไปได้จำนวนอเนกอนันต์ รอคอยการสังเกต การสัมผัส การเรียกขาน การทำให้ตัวตนของเราอุบัติขึ้น? :-)

0 comments: