ตีพิมพ์ในคอลัมน์ มหาสมุทรแห่งปัญญา
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 7 ตุลาคม 2550
เชื่อไหมครับว่าการฟังเป็นสิ่งมหัศจรรย์มากอย่างหนึ่งของคนเรา? ในที่นี้ผมไม่ได้หมายถึงการได้ยินนะครับ (แม้ว่าการได้ยินจะเป็นคุณสมบัติที่มหัศจรรย์มากเช่นกัน) เพราะว่าการฟังเป็นเครื่องมือในการสืบค้นและสร้างความรู้ที่มนุษย์เราคุ้นเคยมากที่สุดอย่างหนึ่ง เราสามารถรับรู้ เรียนรู้เกี่ยวกับโลกภายนอกและโลกภายในได้อย่างมหาศาลหากเรา “ฟังเป็น”
สิ่งที่เรา “ฟัง” ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นเสียงเสมอไปจริงไหมครับ? นอกจากเสียงแล้วเรายังสามารถฟังความคิดของเราเองและผู้อื่นได้ การฝึกภาวนาของสำนักต่างๆ ครูบาอาจารย์หลายท่านก็แสดงอรรถาธิบายว่าไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าการฝึกความสามารถในการ “ฟังเฉยๆ” โดยไม่ต้องไปทำอะไรกับมันอีกแล้ว
ศิลปินเอกของโลกหลายคนเล่าประสบการณ์ความรู้สึกของตนว่า ก่อนที่เขาจะสร้างสรรค์งานชิ้นเอก ไม่ว่าจะเป็นดนตรี จิตรกรรม หรือประติมากรรม ก็ต้องทำจิตให้นิ่งเพื่อให้สามารถ “ฟังอารมณ์” ของตนเองได้ ไม่เว้นแม้แต่คนที่ฝึกฝนมวยจีน ไท้เก๊ก ไท่ฉีฉวน ต่างก็ล้วนต้องฝึก “ฟังพลัง” เช่นกัน
ทั้งๆ ที่การฟังนั้นช่างมหัศจรรย์และมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด แต่ดูเหมือนว่าทุกวันนี้พวกเรากลับมีความสามารถนี้จำกัดจำเขี่ยเหลือเกิน หลายคนเป็นโรค “หูดับ” คือ ได้ยินแต่ไม่ได้ฟัง (Hearing but not listening) รู้สึกคุ้นๆ กันไหมครับ โรคนี้ บ้างก็มีอาการแบบรุนแรง บ้างก็เป็นแบบเรื้อรัง บ้างก็ทั้งรุนแรงและทั้งเรื้อรัง เล่นเอาคนรอบข้างปวดขมองไม่น้อย
โรคนี้ระบาดหนักในกลุ่มคนผู้คิดว่าตนเองเก่ง และมีความรู้มาก ยิ่งที่องค์กรไหนมีพนักงานประเภทดังว่ามากๆ ด้วยแล้วยิ่งน่าเห็นใจนะครับ เมื่อเร็วๆ นี้ มีพี่สาวผู้บริหารของบริษัทด้านสิ่งแวดล้อมท่านหนึ่งไต่ถามมาว่าจะมีกระบวนการดีๆ อะไรให้กับเหล่าทีมงานเจ้าหน้าที่บ้าง เพราะสำหรับที่บริษัทแล้วนั้น เรื่องความสามารถ เรื่องการผลิต ล้วนแล้วแต่ไม่ได้มีปัญหาอะไรนัก แต่ทว่ามีเรื่องการสื่อสารระหว่างกันนี่แหละครับ ที่ดูจะยากเอาการ แล้วปรากฏการณ์ดังว่าก็ไม่ใช่เกิดขึ้นแต่ในบริษัทเอกชนนะครับ ในกลุ่มผู้นำ ในกลุ่มครูอาจารย์นี่ก็ไม่ย่อยเช่นกัน
แหม ถ้าเราแก้โจทย์เรื่องการฟังได้ก็คงจะดีไม่น้อยนะครับ เพราะทำให้การทำการบ้านเรื่องการสื่อสารนั้นเสร็จไปแล้วเกินครึ่ง และลองคิดดูว่าชีวิตเราจะมีความสุขแค่ไหน หากตัวเราและคนใกล้ตัวของเราทั้งที่บ้าน ทั้งที่ทำงานให้ความสำคัญ และสามารถฟัง สามารถสื่อสารได้อย่างสร้างสรรค์
ไม่น่าแปลกใจเลยครับที่การฝึกอบรมหลายหลักสูตรถึงได้เน้นเรื่องการฟังเป็นอย่างมาก ดังเช่น สุนทรียสนทนา (Dialogue) ซึ่งในกระบวนการช่วงแรกไม่ได้ให้ความสำคัญกับวิธีการพูด มากเท่ากับการวางท่าทีของการฟัง ให้เป็นการฟังอย่างลึกซึ้ง ฟังเพื่อฟัง ฟังโดยไม่คอยต่อประโยคคนที่พูดกำลังพูด ไม่คาดเดาว่าจะได้ยินอะไรต่อ ฟังโดยห้อยแขวนการตัดสินเอาไว้ก่อน ไม่ประเมินว่ากำลังใช้เวลาในเรื่องที่คุ้มค่าต่อการฟังหรือไม่
กระบวนการหนึ่งซึ่งให้ความสำคัญกับการฟังเป็นอย่างมาก และผมเห็นว่าเป็นกิจกรรมง่ายๆ น่าสนใจ ผมให้ชื่อกิจกรรมนี้เองว่า “หันหลังฟังเพื่อน” ครับ ผมได้เรียนรู้มากมายจากกิจกรรมการฟังนี้ระหว่างที่เข้าร่วมงานจิตตศิลป์ (Arts as Dialogue) กับอาจารย์ ยาคอฟ นะออร์ (Yaacov Naor) ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา และการละครจากประเทศอิสราเอล คนที่แนะนำกิจกรรม “คุณคือใคร?” นั่นแหละครับ
รูปแบบวิธีการก็ดูง่ายๆ ไม่ซับซ้อนครับ เราแบ่งกันออกเป็นกลุ่มย่อย กลุ่มละประมาณห้าคน โดยเลือกจับกลุ่มเอาเองตามอัธยาศัย จากนั้นก็นั่งล้อมกันเป็นวงกลม แล้วเพื่อนๆ สมาชิกในวงก็จะเลือกใครคนหนึ่งในวงขึ้นมาเป็นหัวข้อสนทนา หรือเขาคนนั้นจะอาสาเลือกตัวเองขึ้นมาก่อนก็ได้ ทุกคนที่เหลือจะได้พูดถึงเพื่อนคนนี้อย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะด้านดี ด้านร้าย โดยตลอดช่วงเวลาแห่งการกล่าวถึงนี้ คนที่ถูกพูดถึงต้องนั่งหันหลังให้กับวง ไม่อนุญาตให้หันหน้ากลับเข้ามาในวง ห้ามส่งเสียงใดๆ ไม่ว่าจะโต้ตอบคัดค้านหรือยอมรับ แต่ละคนต้องหันหลังฟังเพื่อนอย่างนี้ไปตลอด ๑๕ นาที เวียนไปอย่างนี้จนทุกคนในวงถูกยกมาพูดถึงจนครบ
กระบวนกรบอกแต่ต้นก่อนแยกกลุ่มกันแล้วว่า เวลาที่คนอื่นๆ ในวงพูดถึงเพื่อนคนนั้น ขอให้พูดอย่างหมดเปลือก คิดเสียว่าเขาไม่อยู่ที่นั่น ไม่จำเป็นต้องพยายามมีมารยาท หรือพูดแต่เรื่องราวดีๆ “ทำเสมือนว่าเรากำลังพูดลับหลังเขา” ขณะที่เรากำลังจะเลือกว่าจะอยู่กลุ่มไหนกับใครนั้น เขาก็สำทับอีกว่า “ขอให้เลือกอยู่ในกลุ่มเดียวกับคนที่คุณอยากได้ยินความเห็นของเขา แทนที่จะเลือกอยู่ในกลุ่มเดียวกับคนที่คุณอยากพูดถึง”
วิธีการ “ดูเหมือน” จะง่ายๆ แต่ก็มีเงื่อนไขปัจจัยสำคัญที่จะทำให้กระบวนการออกมาดีอยู่นะครับ เช่นว่าองค์ประกอบของผู้คนที่เข้าร่วม สภาพบรรยากาศ หรือความสามารถของกระบวนกรในการแนะนำและสรุป
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฟังเพื่อนที่ถือได้ว่าเป็นกัลยาณมิตรก็ช่วยให้เราได้เห็นภาพสะท้อนของตัวเราในสายตาเขา บางเรื่องอาจเป็นสิ่งที่เราก็น่าจะรู้อยู่แล้วแต่ยากจะทำใจยอมรับมันได้ หลังจากจบกระบวนการนี้ บางคนอาจบอกว่าได้ใช้ความอดทนและปล่อยวางเวลาได้ฟังคนอื่นพูดถึงตนและรู้ว่ามันไม่จริงอย่างไร เพราะไม่อยู่ในสถานภาพที่จะโต้แย้งหรืออธิบายอะไรได้
แต่หัวใจสำคัญของการหันหลังฟังเพื่อนนี้ยังมีอะไรมากกว่านั้นครับ คงไม่ใช่ฟังเพื่อให้รู้ว่าคนอื่นคิดกับเราอย่างไร ไม่ได้เป็นไปเพื่อให้เราได้ปรับตัวตามความคาดหวังของเขาได้ แต่เป็นการฟังเพื่อการรับรู้ และเข้าใจโลก เข้าใจว่าโลกและตัวเรานั้นมีมากมายหลายแบบ ความเป็นเราไม่ได้มีเพียงคนเดียว แต่มีเราในสายตาเพื่อน มีเราในความคิดของเพื่อน มีเราอีกหลายต่อหลายคนในตัวคนอื่น และความเป็นเราแบบต่างๆ ก็ล้วนแล้วแต่ถูกต้องทั้งหมดตามเงื่อนไขของบริบท
เรื่องราวเกี่ยวกับตัวเราและสิ่งที่เพื่อนๆ ของเราได้สะท้อนออกมาไม่ว่าจะถูกหรือผิด มันไปกระทบใจทำให้ใจของเราฟูขึ้นหรือแฟบลง หัวใจสำคัญของกระบวนการอยู่ที่ว่าเราควรได้รู้สึกตัว ทำความรู้สึกตัวให้ชัด ถือเอาโอกาสที่ไม่อาจโต้แย้ง สื่อสารแสดงสีหน้าต่อผู้พูดได้นี้ เป็นโอกาสได้สังเกตการเปลี่ยนแปลงของร่างกายและการกระเพื่อมไหวของจิตใจ ได้รู้ว่าข้อคิดเห็นของเพื่อนๆ นั้น ทำให้เกิดผลอย่างไรในใจและในร่างกายของเรา
ระหว่างที่คำชมผ่านเข้ามา เรารู้สึกถึงเลือดที่สูบฉีดไปใบหน้าและหัวใจเต้นแรงไหม ขณะที่คำวิจารณ์วิพากษ์หลุดออกมา สังเกตเห็นไหมว่าเรากำลังตัดสินคำพูดนั้นด้วยความโกรธ ด้วยความกลัว ด้วยความเปราะบาง หรือหวั่นไหวไปด้วยความรัก เราอาจหัวเราะ มีน้ำตาซึม หรือแค่เฉยๆ แต่ทั้งหมดนี้เราได้รู้ตัวหรือเปล่า?
หลังจบกิจกรรมหันหลังฟังเพื่อนแล้ว สิ่งที่เราได้จากการหันหน้ามาคุยแลกเปลี่ยนกันต่อจากนั้น คือ การค้นหาตัวเอง มากกว่าการแก้ตัวว่าเราใช่หรือไม่ใช่อย่างที่เขาคิดเขาเข้าใจ เพราะความเป็นตัวเราจริงๆ แล้วก็ไม่มีหนึ่งเดียวที่ใช่ตัวเราจริงๆ เลย มีแต่ตัวเราตามความเข้าใจของเรา ตามความเข้าใจของเขา ตัวเราที่เราอยากจะเป็น ที่เขาอยากให้เราเป็น ที่เราไม่อยากจะเป็น หรือแม้แต่ตัวเราที่เขาไม่อยากให้เราเป็น
หันหลังฟังเพื่อนพูดถึงเราบ้าง เปิดทั้งหู เปิดทั้งใจให้กว้างเข้าไว้ รับฟังทั้งเสียงภายนอก ทั้งเสียงภายใน เราไม่เพียงได้ฟังเสียงของร่างกายและจิตใจซึ่งเกิดปฏิกิริยาต่อคำพูดความเห็นเท่านั้นแล้ว เรายังจะได้โอกาสสังเกต รู้จัก และยอมรับตัวเองในแง่มุมต่างๆ นานาด้วยนะครับ :-)
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
0 comments:
Post a Comment