ตีพิมพ์ในคอลัมน์ มหาสมุทรแห่งปัญญา
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 14 ตุลาคม 2550


“สิ่งที่กำลังจะได้เรียนรู้ร่วมกันในไม่กี่สัปดาห์ต่อไปนี้ อาจจะไม่เกิดประโยชน์ใดๆ กับพวกเธอเลยก็ได้”

หลังจากผมเอ่ยทักนักศึกษาครั้งแรกที่เราเจอกันเช่นนี้ ห้องที่เด็กๆ คุยกันแซ่ดเป็นนกกระจอกแถวตลาดสดแตกรังก็เงียบลง นักศึกษาดูงงๆ เล็กน้อย โดยมากคงคิดในใจว่า “อืมม์ ... ก็คงใช่แหละ เพราะที่ฉันเรียนมาตั้งสิบกว่าปีก็ไม่เห็นจะได้ใช้ประโยชน์อะไรเลย” (ฮา)

ผมอธิบายเพิ่มเติมว่า ที่ว่าไม่เกิดประโยชน์นั้นไม่ใช่ในแง่ที่เขามักคิดว่า “เรียนอะไรก็ไม่รู้ ไม่เห็นได้เอาไปใช้” อย่างที่มักบ่นให้ได้ยินกัน แต่เป็นเพราะมนุษย์จำนวนมาก มากอาจจะเกือบหมดโลกนี้ รวมถึงพวกเขา หรือรวมถึงผมด้วย อาจต้องตายไปเร็วๆ นี้

ยิ่งเมื่อผมเล่าตัวอย่าง และนำข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ให้ดูสนับสนุนคำพูดของผม ทั้งห้องก็ดูตกใจและเงียบงันลงไปอีกครั้ง โดยเรื่องและภาพที่ผมแบ่งปันให้พวกเขาดูก็เป็นหลักฐาน เป็นประจักษ์พยานโดยตัวมันเอง ไม่ต้องการให้ผมไปปกป้องไปเถียงแทนแต่ประการใด

ภาพของธารน้ำแข็งที่หดหายไปทุกปีๆ ไม่ว่าจะธารน้ำแข็งเซาท์แคสเคด รัฐอลาสก้า สหรัฐอเมริกา กรีส์ในสวิตเซอร์แลนด์ หรือ พาตาโกเนีย ในอาร์เจนตินา-ชิลี หรือหิ้งน้ำแข็งที่ละลายและถล่มอย่างต่อเนื่อง ทำเอานักศึกษาที่โลกปรกติหมุนวนหมุนเวียนแค่ระหว่างหอพักกับอาคารบรรยายได้เปิดกว้างขึ้น และทำให้เขารู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของผู้ที่กำลังได้รับผลกระทบในเวลาไม่ช้า

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ผมมักเริ่มวิชาชีววิทยาเบื้องต้น สำหรับนักศึกษาชั้นปีที่ ๑ ด้วยการบอกเล่าเรื่องราวสุขภาพของโลกในปัจจุบันเช่นข้างต้น ว่าโลกเรานั้นป่วยแค่ไหน สาเหตุคืออะไร และเราจะทำอะไรกับมันได้อย่างไรบ้าง

ผมว่าเรื่องนี้ไม่ใช่แค่ความรับผิดชอบทางวิชาการ แต่เป็นความรับผิดชอบทางจริยธรรมด้วย ที่นักวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะนักชีววิทยาต้องเตือนมนุษย์ว่า “กรรมติดจรวด” ในแง่สิ่งแวดล้อมนั้นมีจริง ไม่ว่าคุณจะเชื่อหรือไม่เชื่อ ลบหลู่หรือไม่ลบหลู่ก็ตาม

ในวิชาชีววิทยาเบื้องต้น เราเริ่มเรียนรู้กันจากเรื่องวิวัฒนาการ ตามด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ พฤติกรรม นิเวศวิทยา สิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์ แต่ละหัวเรื่องถูกออกแบบให้สอดคล้องไหลเลื่อนเคลื่อนที่เชื่อมโยงกันเป็นดั่งคลื่นในมหาสมุทร ขณะเดียวกันก็เหมือนมาลัยที่บรรจงจัดวางแต่ละดอกไว้อย่างมีความหมาย อย่างสมเหตุสมผล

เริ่มด้วยเรื่องวิวัฒนาการ เรารู้จักโลกว่ามีอายุยืนยาวกว่าสี่พันหกร้อยล้านปี สี่พันหกร้อยล้านปีนะครับ ว่ากันว่าระยะเวลายาวขนาดนี้เรานึกกันไม่ออกหรอกครับ แต่ถ้าจะเทียบกันกับมนุษย์ที่เพิ่งจะโผล่มาบนโลกได้แค่สี่ถึงห้าล้านปีนี้ (นับเอาจีนัส Homo ที่เริ่มสร้างเครื่องมือได้) ให้อุปมาว่าหากความยาวตั้งแต่หัวไหล่ถึงปลายนิ้วของเราเป็นอายุของโลกแล้ว หากเราเอาตะไบเล็บปาดเข้าที่ปลายเล็บของเราครั้งหนึ่ง เศษขี้เล็บที่หลุดออกไปนั่นน่ะครับ ... มนุษย์เรา เราเพิ่งจะปรากฏกายบนโลกกลมๆ ใบนี้ได้เสี้ยวหนึ่งของโลกและจักรวาลนี้เท่านั้น แต่มักจะคิดว่าฉันนี่แหละเจ้าของโลกใบนี้ โลกนี้มีอยู่ก็เพื่อให้ฉันใช้ ถึงขนาดนั้นก็มี

จากนั้นเราพูดคุยกันต่อถึงการกำเนิดชีวิต โดยทฤษฎีหลักตอนนี้ที่นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อกันว่าสิ่งมีชีวิตบนโลกกำเนิดจากสิ่งไม่มีชีวิต จากแต่ก๊าซโมเลกุลเล็กๆ อยู่กับน้ำร้อนกับรังสีอุลตราไวโอเล็ต ต่อมาเกิดเป็นสารอินทรีย์ โมเลกุลใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งเป็นสิ่งมีชีวิตเซลเดียว กว่าจะเกิดขึ้นก็อาศัยเวลาพันกว่าล้านปีนะครับ เมื่อสามพันกว่าล้านปีที่แล้ว จากเซลเดียวก็กลายมาเป็นหลายเซล ซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งโลกเรามีความหลากหลายทางชีวภาพมากมายอยู่อย่างในปัจจุบัน

ที่ว่าหลากหลายนั้นมากมายสักแค่ไหนหรือครับ ว่ากันว่าโลกเรามีสิ่งมีชีวิตประมาณ ๕-๓๐ กว่าล้านชนิดหรือสปีชีส์ นักวิทยาศาสตร์บางคนว่ามากกว่านั้นอีกมาก แม้ว่าจำนวนชนิดทั้งหมดจะยังไม่รู้เป็นที่แน่ชัด แต่ที่รู้กันค่อนข้างแน่คือจำนวนที่เรารู้จักแล้ว มีการจำแนกและให้ชื่อทางวิทยาศาสตร์ (เช่น มนุษย์ คือ Homo sapiens) นั้น มีอยู่แค่หนึ่งล้านห้าแสนเท่านั้น โดยเป็นแมลงเสียครึ่งหนึ่ง ผมมักจะถามว่าใครอยากมีสิ่งมีชีวิตที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ตั้งตามชื่อตนเองบ้าง นักศึกษาเกือบทั้งหมดจะตอบว่าใช่ ผมก็จะยืนยันว่าโลกมีสิ่งมีชีวิตให้ทุกคนในชั้นเรียนอย่างแน่นอน คนละหลายๆ ตัวเสียด้วย

ต่อด้วยนิเวศวิทยาที่ทำให้เรารู้จักว่าสิ่งมีชีวิตทุกชนิด ไม่เว้นแม้แต่สิ่งเดียว มีความน่าทึ่งอย่างเหลือหลาย เช่น หอยบางชนิดเกิดในปล่องน้ำพุร้อนใต้ทะเลลึก อุณหภูมิหลายร้อยองศาเซลเซียส ไม่เคยเห็นแสงมาก่อนเลย แมลงบางชนิดจำศีลอยู่ใต้ดินแล้วโผล่ขึ้นมาผสมพันธุ์แล้วตายทุกๆ ๑๗ ปี แล้วก็นับปีไม่เคยพลาดเสียด้วย กบที่ออสเตรเลียก็จำศีลใต้ทะเลทรายได้ถึงเจ็ดปีทีเดียว สิ่งที่น่าประทับใจเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ คือ ความสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมและสิ่งมีชีวิตรอบๆ ตัวมันด้วย เช่น หมัดที่อาศัยรูจมูกนกฮัมมิ่งเบิร์ดในการเดินทางระหว่างดอกไม้

มาถึงขั้นนี้ เราได้รู้ความเป็นมาอันยาวนานของทุกชีวิตบนโลก ความหลากหลายงดงาม และความสมดุลของการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน พร้อมๆ กับได้รู้ว่า ชีวิตจำนวนมากนี้กำลังสูญพันธุ์อย่างรวดเร็ว ด้วยอัตราเร็วถึง ๑๐๐-๑,๐๐๐ เท่าของปกติ หรือประมาณชั่วโมงละอย่างน้อย ๓ ชนิดที่สิ้นจากโลก

สิ่งที่เรากำลังเรียนกันอยู่ในวิชานี้จึงไม่มีความหมายอะไรเลย ถ้าเกือบทุกชีวิตบนโลกกำลังจะหายไป น้ำแข็งขั้วโลกกำลังละลาย และหายนะจากภาวะโลกร้อนกำลังมา ซึ่งความเป็นจริงก็คือไม่ใช่แค่ “กำลังจะมา” แต่เรากำลังอยู่ในวิกฤตแล้ว เพียงแต่ช่วงนี้เป็นโหมโรงให้เราได้ตายใจเท่านั้น ทิม แฟลนเนอรี ผู้เชี่ยวชาญด้านการสูญพันธุ์และการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของโลกชาวออสเตรเลีย เพิ่งออกมาให้ข่าวว่า ระดับของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกที่นักวิทยาศาสตร์เคยประมาณการกันในโมเดลที่เป็นกรณีที่เลวร้ายที่สุด (worst case scenario) สำหรับอีกสิบกว่าปีข้างหน้าว่าคือ ๔๕๕ ส่วนในล้านส่วนนั้น ค่านั้นได้เลยไปแล้วตั้งแต่กลางปี ๒๕๔๘ “ไม่ใช่ปีหน้าหรือทศวรรษหน้า แต่มันเป็นตอนนี้แล้ว” เขากล่าว

ยามเมื่อน้ำท่วมอย่างถาวร ไม่เพียงแต่กรุงเทพ แต่ภาคกลางทั้งหมด ยามเมื่อเปลือกโลกเคลื่อนตัวอย่างรุนแรงมหาศาล ทุกคนจะเข้าใจดี แม้ว่ามันจะสายเกินไป

ความรู้ทางเทคนิคเหล่านี้แทบจะไม่ได้เกิดประโยชน์อะไรกับนักศึกษาและเราทุกคนเลยครับ ถ้ายังไม่เห็นว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของโลกที่กำลังป่วยหนัก และตระหนักว่ามนุษย์เรานี่เองที่เป็นต้นเหตุของภัยพิบัติ

เนื้อหาและเรื่องราวชีววิทยาที่เรียนกันมา จึงไม่ใช่เพียงแค่ความรู้ติดตัวไว้ใช้ประกอบอาชีพต่อไปหลังจบการศึกษาเท่านั้น แต่ต้องได้ซึมซับเข้าไปในหัวใจ ได้ชื่นชมความงามของโลกและชีวิต และรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งบนโลกที่สิ่งมีชีวิตใหญ่น้อยอยู่ร่วมกัน ถ้าเพียงแค่ท่องจำแล้วนำไปสอบให้ผ่าน เราก็กำลังพลาดเป้าหมายสำคัญของวิชานี้ไปเสียแล้ว

สิ่งที่ผมอยากจะบอกกับพวกเขาเหล่านั้นที่กำลังเรียนก็คือ ... ก็เป็นไปได้ที่ว่าสิ่งที่เธอจะได้เรียนแล้วไม่เกิดประโยชน์ แต่ถ้าหากมนุษยชาติและโลกจะร่วมกันผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้ ก็ต้องเป็นเพราะมีคนที่เข้าใจ เห็นความเชื่อมโยงของตนเองและทุกๆ สรรพสิ่งรอบตัว ในระดับที่วิทยาศาสตร์กลไกไม่ได้สอนพวกเขา ... บางทีสิ่งที่พวกเขาเรียนวันนี้อาจเป็นสิ่งที่โลกอนาคตต้องการและเป็นเงื่อนไขของการอยู่รอดของพวกเราทั้งหมดก็ได้ :-)

0 comments: