ตีพิมพ์ในคอลัมน์จิตตปัญญา หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ
ฉบับประจำวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๔
นักศึกษารุ่นน้องคนหนึ่ง ทำไอโฟนรุ่นใหม่ล่าสุดหายไประหว่างจัดโครงการอบรมและเสริมสร้างทักษะการเรียนรู้ทางชีววิทยา สำหรับนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล ที่หาดเจ้าหลาว จ.จันทบุรี
ทีแรกเขาตัดใจแล้ว คิดว่าคงต้องแทงสาบสูญ หาไม่เจอแน่ ไปถามร้านอาหารที่คาดว่าลืมทิ้งไว้ พนักงานทุกคนก็บอกไม่มีใครเห็น เรียกว่าถอดใจแล้ว ถึงขนาดออกจากที่พัก เริ่มเดินทางกลับกันแล้ว
แต่พวกเราก็เพียรพยายามโทรศัพท์เข้าเครื่อง ตีรถกลับไปอีก แล้วช่วยกันหา และใช้แอพพลิเคชัน Find iPhone ในโทรศัพท์อีกเครื่องให้ระบุตำแหน่งโดยใช้ดาวเทียม จนกระทั่งหาเจอในที่สุด
หลังจากทีมค้นหาไอโฟนร่วมกันแสดงความยินดีแก่กันและกันไม่นาน รุ่นน้องคนนี้ก็เอ่ยถามว่า “อาจารย์ครับ ทำอย่างไรเราจึงจะมีสติตลอดเวลา ไม่หลงลืมล่ะครับ ผมพยายามนั่งสมาธิมานานแล้ว แต่ก็ไม่เห็นไปไหนเลยครับ?”
ผมนึกดีใจกับเขาว่านี่ดีจัง คงได้มากกว่าไอโฟนกลับมากระมัง
หลังจากนั้น คำถามพรั่งพรูมาจากรุ่นน้องคนนี้ เป็นบทสนทนาอย่างยาว
เราแลกเปลี่ยนความเข้าใจในเรื่องสติ สมาธิ และปัญญา
คุยกันว่าสติเป็นสิ่งที่เราสั่งให้เกิด บังคับให้มี ได้ไหม ถ้าไม่ได้ แล้วจะสร้างเงื่อนไขปัจจัยที่เอื้อให้เขาเกิดได้อย่างไร ที่ครูบาอาจารย์ว่าการจำอารมณ์ได้อย่างแม่นยำเป็นเหตุใกล้ให้เกิดสตินั้นหมายความว่าอย่างไร อารมณ์เหล่านี้นี่หมายถึงอารมณ์ความรู้สึกใช่ไหม มีอะไรบ้าง ทำอย่างไรจึงจะจำได้แม่น ทำไมจำได้ เห็นแล้วแต่ก็ยังไม่หายจากความรู้สึก เช่น โมโห โศกเศร้า เหงา เซ็งเป็ด (แต่ไม่ยักเห็นคนถามว่าจะหายจากความรู้สึกดีๆ เช่น มัน ขำ สนุก ตื่นเต้น ได้อย่างไร)
เราแตะประเด็นว่าความคาดหวังในผลจากการปฏิบัติเป็นเรื่องธรรมดาพบเห็นได้ทั่วไปในหมู่นักปฏิบัติอย่างไร แล้วเราจะดูแลสิ่งนี้ ใช้เขาเป็นเครื่องเรียนรู้ลงไปในปัจจุบันอย่างไร การรู้ลงไปตรงๆ ในปัจจุบันหมายถึงอะไร
เขาว่าตัวเขาก็อ่านหนังสือเกี่ยวกับการปฏิบัติมาบ้าง ทั้งของครูบาอาจารย์สายต่างๆ ก็พอเข้าหัวอยู่บ้าง แต่ทำไมดูเหมือนยังไม่ค่อยเข้าใจสักเท่าใดนัก เลยได้คุยเรื่องความรู้ผ่านการอ่านและความรู้ผ่านการลงมือทำ
รวมไปถึงว่ามีสถานที่แห่งไหนที่น่าจะได้ไปเรียนรู้ ฝึกหัดทักษะเบื้องต้น เพื่อจะนำมาฝึกฝนต่อด้วยตนเองในชีวิตประจำวัน
บทสนทนายังดำเนินผ่านเรื่องราวอื่นๆ อีกมาก
นี่ก็เป็นเหตุการณ์ที่พบได้ทั่วไป บ่งบอกออกมาชัดเจนว่าผู้คนมักไม่ค่อยได้สนใจ ตั้งใจจะเรียนรู้นัก จนกระทั่งเกิดปัญหาขึ้นมาในระบบ เกิดความทุกข์เข้ามาในชีวิต
ก็คงจะจริง คนมีทุกข์จึงอยากเรียนวิธีพ้นทุกข์
ทุกข์ที่มาเยือนในแง่นี้ก็เสมือนหน้าต่างของโอกาสที่แง้มเปิดออก
แต่ในโลกไซเบอร์อย่างปัจจุบัน หน้าต่างของโอกาส หน้าต่างของความสนใจนี้มักปิดลงอย่างรวดเร็ว เพราะโลกหมุนเร็วขึ้น ภารกิจทางโลก (ดูเหมือน) จะมากขึ้น แถมต้องทำให้เสร็จลุล่วงภายในระยะเวลาที่สั้นลง คนทุกข์มักพากันใส่ใจกับการแก้ไขสถานการณ์ทางโลก คิดว่าหากดูแลปัจจัยอื่นๆ ภายนอกให้ดีแล้ว ความทุกข์ภายในคงไม่เกิด
หรือไม่ก็พากันไปค้นหาความสุขเล็กๆ น้อยๆ ทางโลก หลบไปเที่ยวบ้าง หาอะไรอร่อยทานบ้าง พอให้ลืมจากความทุกข์เดิม
ดังนั้นจะว่าไปเจ้าเครื่องไอโฟนที่ (เกือบ) หายก็นับว่าเป็นประโยชน์ไม่น้อย หากมันได้นำมาซึ่งข้อเตือนใจถึงความพร้อมของตนเองในการที่จะดูแลไม่เพียงแต่ทรัพย์สินภายนอกไม่ให้ตกหล่นสูญหาย แต่รวมถึงความพร้อมที่จะสร้างและดูแลอริยทรัพย์ภายใน ที่ไม่มีผู้ใดแย่งชิง ไม่สูญหายไปด้วยภัยอันตรายต่างๆ อีกทั้งยังประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นให้สำเร็จได้อย่างกว้างขวางได้อีกด้วย
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
0 comments:
Post a Comment