รับ = ให้



ตีพิมพ์ในคอลัมน์จิตตปัญญา หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ
ฉบับวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๕๔

พี่สาวที่รักของผมเธอเป็นจักษุแพทย์ บ่อยครั้งเธอจะมีของติดไม้ติดมือกลับมาบ้าน เป็นของฝากจากคนไข้ซึ่งเอามาให้เวลามาพบคุณหมอที่โรงพยาบาล ยิ่งถ้าเป็นหน้าเทศกาลด้วยแล้ว อย่างปีใหม่ ตรุษจีน สงกรานต์นี่ ของฝากยิ่งมาก ผมจึงมักได้อานิสงส์ของกินของใช้ดีๆ จากเธอเสมอๆ

ผู้ที่มาโรงพยาบาล บ้างก็ด้วยวัยที่สูงขึ้น บ้างก็ติดเชื้อ หรือประสบอุบัติเหตุ ส่วนมากดีใจไม่น้อยที่ได้กลับบ้าน อีกทั้งยังมีสุขภาพสายตาที่ดีขึ้น

เธอมักเล่าให้ฟังเสมอๆ ว่า มีหลายครั้งที่เธอช่วยเหลือด้วยวิธีการยิงเลเซอร์ ผ่าตัด หรือจ่ายยา แต่ก็อีกไม่น้อย ที่เขาเหล่านั้นต้องหมั่นดูแลสุขภาพด้วยตนเอง เธอว่าหมอก็ได้แค่ช่วยบอกเท่านั้น

ผมเข้าใจปรากฏการณ์ข้างต้นดีขึ้นมาก เมื่อผมได้รับกล้วยน้ำว้ามาหวีหนึ่ง ในการอบรม “จิตตปัญญาศึกษากับการพัฒนาบุคลากร เพื่อการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง” ซึ่งครั้งนี้เป็นรุ่นที่ ๒ ที่ผมจัดกระบวนการให้กับคณะผู้บริหาร อาจารย์ เจ้าหน้าที่สายสนับสนุน ที่รวมทั้งแม่บ้าน แม่ครัว ช่างเทคนิค พนักงานขับรถ ของวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี กรุงเทพ (วพบ. กรุงเทพ) ปรากฏว่า กล้วยน้ำว้าหวีนี้เป็นของเจ้าหน้าที่คนหนึ่ง ซึ่งเข้าร่วมอบรมในรุ่นก่อนหน้าเป็นคนฝากมาให้ เธอคงทราบมาว่าผมดูแลสุขภาพด้วยการทานกล้วยน้ำว้าที่มีฤทธิ์เย็น เพื่อปรับสมดุลของร่างกายทุกวัน

ของฝากเป็นกล้วยน้ำว้าที่ทั้งหน้าตาสวยทั้งมีขนาดใหญ่ เป็นเครื่องหมายของน้ำจิตน้ำใจที่เธอมอบให้ ผมประทับใจในไมตรีจิตนี้มาก

อีกทั้งกล้วยนี้ไม่ได้มาเปล่าๆ มีจดหมายน้อยแนบติดมาเสียด้วย มีใจความว่า

“พี่ส้มขอขอบคุณมากที่ได้ร่วมทำกิจกรรม ซึ่งเมื่อกลับมาแล้วได้ผลดีมาก เดี๋ยวนี้เวลาพี่ส้มกลับจากต่างจังหวัดจะรับของจากแม่ทุกครั้ง ซึ่งแม่ก็มีสีหน้าที่มีความสุขมาก จากทุกครั้งที่เคยปฏิเสธ ถ้าไม่ได้ร่วมกิจกรรมก็จะไม่รู้ถึงความรู้สึกของแม่ ขอขอบคุณในสิ่งดีๆ ที่อาจารย์เอเชียให้กับพี่ส้มค่ะ”

ผมอ่านแล้วขนลุก น้ำตาไหล รู้สึกดีใจที่ในโลกกลมๆ ใบนี้ อย่างน้อยก็ได้มีแม่ลูกคู่หนึ่งที่มีความสุขมากขึ้นอีกมาก

จากเดิมที่อาจจะทุกข์ เพราะไม่ทราบว่าจะดูแลกันอย่างไร แม้ทั้งคู่จะรักกันมากๆ ก็ตาม

ย้อนหลังกลับไปในการอบรมรุ่นที่ ๒ ผมแนะนำกระบวนการเพื่อการรู้จักเข้าใจตนเองไปหลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือการสื่อสารด้วยหัวใจ ซึ่งเผยให้เรารู้ว่าเบื้องหน้าของการพูดจาที่ไม่เข้าหู หรือดูเหมือนเขาจะไม่ยอมเปิดโอกาสให้เราพูดบ้างนั้น มีเบื้องหลังเป็นความต้องการซึ่งเรามนุษย์ทุกคนนั้นมีร่วมกัน เป็นความต้องการพื้นฐานของการดำรงชีวิต และเป็นความต้องการที่สร้างสรรค์เติมเต็มความหมายของการใช้ชีวิต

กรณีของเธอกับคุณแม่นั้น เธอเล่าว่าทุกครั้งที่กลับไปเยี่ยมบ้านและจะจากมา แม่มักจะถามแกมบังคับกลายๆ ว่าจะเอาอะไรกลับไปทานบ้างไหม ส่วนเธอนั้นแสนลำบากใจและรำคาญใจ ต้องปฏิเสธทันควันทุกที เพราะของที่แม่จะให้ มันช่างไม่ถูกปากไปเสียทุกอย่าง ผมชี้เธอให้เห็นว่า นี่ไง ไม่สำคัญหรอกว่าของนั้นอร่อยไหม แต่เบื้องหน้าที่แม่ถามว่าจะเอาอะไรบ้าง มีเบื้องหลังคือการต้องการแสดงความรักและปรารถนาจะได้รับความรักจากลูก เป็นความต้องการพื้นฐานที่เธอก็มี และต้องการจากแม่เช่นเดียวกัน

คนที่รับหิ้วกล้วยมาให้ ยังเล่าความตามที่เธอฝากมาว่า วันที่จะกลับจากบ้านมาครั้งนี้ แม่ก็เอ่ยถามอีกครั้ง แต่ฉับพลันที่เธอจะบอกปัด เธอกลับนึกถึงเรื่องสื่อสารด้วยหัวใจในการอบรม ทันใดเธอมองไปที่แม่และเอ่ยว่า “เอาสิแม่” วินาทีนั้นเธอได้เห็นสายตาของแม่ที่เปลี่ยนไป เป็นแววตาที่ที่ปลื้มปิติดีใจ แม่รีบกระวีกระวาดจัดขนมผลไม้ใส่ถาดพร้อมอธิบายไปทีละอย่างว่ามีอะไรเป็นอะไรบ้าง ทั้งฟักแฟงแตงมะเขือ เธอที่ขึ้นรถเมล์มาทำงานขนของเหล่านี้มาด้วยแม้ลำบากแต่ก็อิ่มเอมด้วยความภูมิใจในแม่ของตน

“รู้อย่างนี้นะ จะทำแบบนี้ไปซะตั้งนานแล้ว นี่ถ้าไม่ได้ไปอบรมก็คงไม่ได้มีความสุขอย่างนี้” เธอฝากบอกมา และผมเชื่อว่าเธอได้เปิดประตูให้ความรักของเธอและแม่พรั่งพรูถึงกันแล้ว

เธอมีศักยภาพใหม่ในการใส่ใจและเข้าใจคนในครอบครัว ไปพ้นขีดจำกัดเดิมๆ เรียนรู้ที่จะดูแลคนที่เธอรักและคนที่รักเธอมากที่สุดในชีวิต สามารถดูแลแม่ในวาระของแม่ ไม่ใช่วาระของตน

มีดวงตาคู่ใหม่ จากหัวใจที่เปิดกว้าง

ผมเองเข้าใจแล้วว่าทำไมพี่สาวของผมจึงมีของกลับมาบ้านบ่อยๆ :-)

0 comments: