ตีพิมพ์ในคอลัมน์จิตตปัญญา หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ
ฉบับวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕
จู่ๆ แสงไฟฟลูออเรสเซนต์ในห้องบรรยายขนาดใหญ่ของมหาวิทยาลัยชื่อดังย่านศาลายาก็พลันดับลง อาจารย์ผู้สอนหันไปมองเลิ่กลั่ก สีหน้าดูแปลกใจนิดๆ ที่ไฟฟ้าดับทั้งที่ฝนก็ไม่ได้ตก สักพักไฟดาวน์ไลท์สีเหลืองนวลหลายดวงค่อยสว่างขึ้นทีละน้อย พร้อมกับเสียงร้องเพลงของนักศึกษาคนหนึ่งดังขึ้นเป็นต้นเสียง ตามมาด้วยนักศึกษากว่าสามร้อยคนต่างร่วมกันร้องเพลง "คนไม่เอาถ่าน" และ "ขอบคุณที่รักกัน"
เมื่อเพลงจบลง ตัวแทนนักศึกษาบอกว่าในวันวาเลนไทน์นี้นอกเหนือจากความรักระหว่างคู่รัก ยังมีความรักความผูกพันระหว่างคณะลูกศิษย์กับอาจารย์อีกด้วย นอกจากของขวัญแล้ว พวกเขาจึงขอมอบเพลงนี้และความมุ่งมั่นว่าจะทำให้ดีที่สุด ให้แด่อาจารย์ผู้สอน ตอบแทนความรัก ความเอาใจใส่ และการดูแลตลอดเกือบหนึ่งปีที่ผ่านมา เสียงคนพูดสั่นเครือ ด้วยกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ เหนี่ยวนำให้เพื่อนๆ อีกหลายคนร้องไห้ไปด้วย พวกเขาอาจไม่รู้ว่าอาจารย์ผู้อยู่ด้านหน้าห้องก็กำลังเสียน้ำตาด้วยเหมือนกัน
อาจจะไม่เป็นเรื่องแปลกอะไรที่นักศึกษามอบของขวัญเนื่องในวันพิเศษให้แก่ครู แต่ห้องเรียนนี้เป็นห้องเรียนธรรมดาๆ ที่ไม่ธรรมดา
ในบรรยากาศที่เร่งรีบและบางทีก็สับสนของมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ พวกเขาร่วมกันสร้างสิ่งมหัศจรรย์ขึ้น ห้องเรียนนี้ที่มีอาจารย์สองท่านร่วมกันสอน คนหนึ่งถือไมค์เดินไปรอบๆ บรรยายและยกตัวอย่างให้เข้าใจ อีกคนหนึ่งนั่งเขียนอยู่ที่เครื่อง visualizer คอยบันทึกความรู้ จับประเด็นสำคัญ ให้นักศึกษาได้มีอะไรจด
ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่อาจารย์สองท่านจำชื่อเล่นนักศึกษาร่วมสามร้อยคนได้เกือบหมด พวกเขาทำการบ้านมาอย่างดี นั่งท่องชื่อนักศึกษา ตามไปรู้จักแต่ละคนในห้องปฏิบัติการที่นักศึกษาแยกเป็นกลุ่มย่อยๆ พยายามตามถ่ายรูปนักศึกษาที่รูปติดบัตรที่มีอยู่ในระบบกับตัวจริงไม่ค่อยเหมือนกัน พวกเขารู้เอง โดยไม่ต้องอ่านทฤษฎีใดๆ ว่านักศึกษาจะตั้งใจเรียน จะเข้าใจและมีความสัมพันธ์ที่ดีกับวิชา หากว่าผู้เรียนกับผู้สอนมีใจที่เชื่อมโยงกัน
พวกเขาเลือกให้ความสำคัญกับการปลูกฝังความรักและความเข้าใจในวิชาฟิสิกส์ ที่นักศึกษาส่วนใหญ่จะได้เรียนเป็นปีสุดท้ายแล้ว (เพราะส่วนใหญ่แยกย้ายไปเรียนต่อในภาควิชาอื่น) มากกว่าจะพยายามอัดเนื้อหาให้ได้มากที่สุดในเวลาที่จำกัด (ตามนโยบายของรัฐ)
ผมได้ลองเก็บข้อมูลง่ายๆ อย่างไม่เป็นระบบนัก ผ่านการคุยกับนักศึกษาทุกชั้นปีจำนวนหนึ่ง เกือบทุกคนบอกว่าประทับใจอาจารย์สองท่านนี้มากที่สุดในคณะ สาเหตุที่พวกเขารักและเข้าใจวิชาฟิสิกส์มากขึ้นมาก ก็เพราะอาจารย์สองท่านนี้ แถมยังบอกว่า อาจารย์ทั้งสองเป็นคนที่มีความหมายต่อชีวิตอย่างยิ่ง ช่วยทำให้ชีวิตในปีแรกในรั้วมหาวิทยาลัย ที่นักศึกษาส่วนใหญ่ต้องออกจากบ้านมาอยู่หอ ทั้งเรียนหนักและกิจกรรมเยอะ เป็นชีวิตที่มีทั้งความสุข ความสนุก และความหวัง
เด็กๆ ทุกคนของเรา ไม่ว่าจะเรียนในชั้นประถม มัธยม หรืออุดมศึกษา พวกเขาน่าจะได้พบโอกาสพัฒนาจิตวิญญาณอิสระ ความคิดสร้างสรรค์ และความสนใจใฝ่รู้ มากกว่าที่เป็นอยู่นี้ หากว่าอาจารย์ผู้สอนไม่ได้แค่บรรยายและทำตามๆ กันไป ... ใช่ไหม? :-)
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
0 comments:
Post a Comment