ตีพิมพ์ในคอลัมน์จิตตปัญญา หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ
ฉบับวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕

หญิงสูงอายุวัยหลังเกษียณคนหนึ่งที่ผมรู้จักดี เธอทำงานโดยไม่ได้สนใจเรื่องความลำบากหรือความสบาย คำชมหรือคำขอบคุณ แต่ประการใด เธอทำกิจวัตรประจำวันด้วยความใส่ใจอย่างให้คุณค่าและความหมาย ไม่ว่าจะเป็นการทำกับข้าว ซักผ้า ถูบ้าน ไหว้พระสวดมนต์ ออกกำลังกายว่ายน้ำ แม้กระทั่งการได้กินอาหารธรรมดาๆ หรือการอยู่บ้านเฉยๆ ความสัมพันธ์ของเธอกับคนอื่นๆ รอบข้างก็นำมาซึ่งความผ่อนคลายสบายใจ บ่อยครั้งผมชวนเธอไปเที่ยวหรือทานอาหารข้างนอก เธอก็ไม่ได้ตื่นเต้นอะไร

อะไรนะที่ทำให้เธอช่างแตกต่างจากคนอื่นๆ คนเมืองจำนวนไม่น้อยบางวันขับรถมาถึงที่ทำงานตอนเช้าโดยจำไม่ได้เลยว่าวันนี้รถคันข้างหน้าเป็นรถยี่ห้ออะไรสีอะไรบ้าง ขณะที่เพิ่งทานอาหารเบื้องหน้าเสร็จ พลันสงสัยว่า เอ๊ะมื้อนี้กินอะไรลงไป รสชาติเป็นอย่างไรบ้างนะ ลืมตั้งใจดูตอนกิน ตอนเย็นกลับถึงบ้าน พอจำได้ลางๆ ว่าวันนี้เกิดอะไรขึ้นบ้าง เหลือบดูปฏิทิน อ้าว นี่เดือนกุมภาแล้วหรือ เหมือนเพิ่งสิ้นปีไปหยกๆ โลกทั้งโลกเหมือนผ่านไปไวๆ แว้บๆ ที่ให้ได้รอลุ้นว่าจะมาเมื่อไหร่ ก็คือโบนัส วันหยุดยาว และเทศกาลลดกระหน่ำของห้างต่างๆ

ชีวิตแบบหลังนี้เปรียบเป็นรถก็เหมือนขับด้วยเกียร์ออโต้ แถมด้วยระบบครูซคอนโทรล ตั้งความเร็วปุ๊บ รถเคลื่อนด้วยความเร็วคงที่เสร็จสรรพไม่ต้องแม้ขยับเหยียบคันเร่ง แค่คอยหักหลบซ้ายหลบขวานิดๆ หน่อยๆ ก็พอไปได้ ด้านหนึ่งก็ดูเหมือนง่ายดี ไปเรื่อยๆ ไม่ต้องคิดมากมาย แต่อีกด้านหนึ่ง ดูเหมือนอะไรๆ มันผ่านไปแบบเบลอๆ ดูไม่ค่อยมีความหมายเท่าไหร่ แถมติดๆ ขัดๆ งงๆ ว่าจะเอาอย่างไรกับชีวิตที่เหมือนจะดูดี แต่ก็บ่อยครั้งที่ดูโหวงๆ เราเรียกชีวิตแบบนี้ว่าอยู่ในโหมด Automatic หรือ "อัตโนมัติที่หลับไหล" (แปลโดย วิศิษฐ์ วังวิญญู) คือไปเรื่อยๆ แบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว

ในขณะที่ตัวอย่างต้นเรื่อง เป็นชีวิตที่อยู่ในโหมด Autotelic หรือ "อัตโนมัติที่ตื่นรู้"

ความแตกต่างระหว่างสองกลุ่มนี้คือ กลุ่มอัตโนมัติที่ตื่นรู้เป็นกลุ่มที่มีเป้าหมายของชีวิตอยู่ภายในที่ไม่ได้แยกออกจากตนเอง (รากศัพท์ภาษากรีก Autotelic คือ ตนเอง + เป้าหมาย) แม้ว่าเขาอาจจะพูดออกมาเป็นภาษาสวยหรูไม่ได้ก็ตาม

มีไฮ ชีคเซนทมิไฮอี ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา ชาวฮังกาเรียน ผู้เชี่ยวชาญด้านความสุขและความคิดสร้างสรรค์ ระบุว่ากลุ่มอัตโนมัติเป็นคนที่ตื่นรู้มีแรงขับเคลื่อนจากภายในจะแสดงออกถึงการมีเป้าหมายและความสนใจใคร่รู้ในตนเอง ตรงกันข้ามกับกลุ่มที่ใช้แรงขับเคลื่อนจากภายนอก จะอาศัยความสะดวกสบาย ทรัพย์สมบัติ อำนาจ และชื่อเสียงเป็นแรงจูงใจ

ที่กลุ่มอัตโนมัติที่ตื่นรู้จะไม่ค่อยต้องการทรัพย์สมบัติสิ่งของ ความบันเทิง ความสะดวกสบาย ชื่อเสียงอำนาจ ก็เพราะชีวิตที่พวกเขาได้ใช้ สิ่งที่พวกเขาได้ทำมันเหมือนให้รางวัลในแต่ละวันอยู่แล้ว พวกเขาจะเข้าถึงสภาวะ "ความลื่นไหล" (Flow) คือสภาวะทางจิตในคนที่เข้าไปเกี่ยวข้องในกิจกรรมหนึ่งๆ ด้วยความตั้งใจ โฟกัสอย่างมีพลัง และประสบความสำเร็จในกระบวนการของกิจกรรมนั้น และนี่คือแนวคิดสำคัญของจิตวิทยาเชิงบวกนั่นเอง

สภาวะ "ความลื่นไหล" และ "ความพ้องจองซึ่งกันและกัน" (synchronicity) มีความใกล้ชิดเชื่อมโยงกันอย่างยิ่ง มีผู้ศึกษาวิจัยและเสนอเทคนิคมากมายที่จะดึงเอาศักยภาพของสภาวะทั้งสองมาใช้ประโยชน์ ในการทำงานและการใช้ชีวิต

เรื่องขำๆ ก็คือ หากผมไปแนะนำหญิงสูงอายุต้นเรื่อง เธออาจบอกว่า "พูดอะไรไม่รู้เรื่อง เดี๋ยวไปทำกับข้าวก่อนนะ"

0 comments: