แค่บังเอิญ?














ตีพิมพ์ในคอลัมน์จิตตปัญญา หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ
ฉบับวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕

ผมเป็นคนที่ไม่ค่อยฝัน หรือฝันก็จำไม่ค่อยได้ แต่มีคืนหนึ่งเมื่อ 13 ปีที่แล้ว ฝันชัดเจนมาก ว่าตกอยู่ในอันตรายกับพี่สาวคนโต เราวิ่งหนีคนร้ายอยู่ในสวนมืดๆ คล้ายในยุโรปยุคกลาง ขณะที่เธอกำลังจะถูกรุมทำร้าย ผมก็ตกใจตื่นขึ้นมา หายใจหอบแฮ่กๆ เหงื่อโทรมกาย นึกสงสัยว่าอะไรหนอ ทำไมฝันมันเด่นชัดแบบนี้ ยังจำรายละเอียดของประตู แนวพุ่มไม้ คูเมือง และอื่นๆ ได้อยู่เลย

เมื่อเปิดคอมพิวเตอร์ เช็คอีเมล พบว่ามีรุ่นน้องที่ทำปริญญาเอกอยู่ต่างประเทศด้วยกัน บอกว่ามีเครื่องบินการบินไทยตกที่ภาคใต้ เขาเห็นในรายชื่อผู้โดยสารมีนามสกุลผมอยู่ด้วย ผมขนลุกเสียวสันหลังวาบ รีบโทรกลับมาเช็คข่าวที่เมืองไทย ... ปรากฏว่าใช่เลย พี่สาวคนดีของผมเสียชีวิตแล้ว

ปรากฏการณ์นี้คืออะไร? จริงหรือว่าแค่ความบังเอิญ?

เราเคยนึกถึงใครบางคนที่ร้อยวันพันปีไม่เคยคิดถึงไหม แต่แล้วจู่ๆ เขาคนนั้นก็โทรศัพท์มาหา มันอาจเรียกง่ายๆ ว่าเป็น “เรื่องบังเอิญ” แต่ลึกๆ เราก็รู้ว่าไม่ใช่แค่ความบังเอิญแน่ๆ

ปรากฏการณ์เช่นนี้มีอยู่และได้รับการรับรองในโลกของชนเผ่าพื้นเมือง ภูมิปัญญาชาวบ้าน หรือศาสนาความเชื่ออันหลากหลายมานานแล้ว หลายวัฒนธรรมก็มีพิธีกรรมอันสืบเนื่องเกี่ยวโยงกัน กระทั่งได้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลเหล่านี้

สำหรับวิทยาศาสตร์แล้ว นี่มันเป็นแค่เรื่องบังเอิญหรือเหลวไหล ถึงแม้ในอดีตจะมี คาร์ล ยุง (Carl Jung) แพทย์และนักจิตวิทยา เคยพยายามอธิบายมันอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ บอกว่าโลกและจักรวาลนี้มีกฎอื่นๆ นอกเหนือจากที่มนุษย์เข้าใจกันทั่วไป

แต่เมื่อปีกลายนี้เอง วงการวิทยาศาสตร์อาจต้องทบทวนใหม่ เพราะมีการค้นพบทางฟิสิกส์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในรอบห้าสิบปี นั่นคือ พบว่ามีอนุภาคที่มีความเร็วมากกว่าแสง!

เจ้าอนุภาคนิวตริโน (neutrino) นี้มีการค้นพบมานานแล้ว มีขนาดเล็กมาก เบาหวิวจนแทบไม่มีมวลอยู่เลย มีความเป็นกลางทางกระแสไฟฟ้าจึงเดินทางโดยไม่ได้รับผลกระทบจากสนามแม่เหล็กไฟฟ้า นักวิทยาศาสตร์ในยุโรปเพิ่งจะวัดความเร็วได้ พบว่าเร็วกว่าแสงที่เดินทางด้วยความเร็ว 299,792,458 เมตรต่อวินาที ใช่ครับ สามพันล้านเมตรต่อวินาที แต่นิวตริโนนี้เร็วกว่าแสงอีก เร็วขนาดที่ “มันไปถึงที่หมายก่อนที่จะออกจากจุดตั้งต้น” เสียอีก

ฟังแล้วงงๆ ใช่ไหมครับ ไปถึงที่หมายก่อนออกจากจุดตั้งต้น?

นั่นเพราะนิวตริโน อาจไม่ได้เดินทางเป็นเส้นตรงในโลกสี่มิติของเรา (กว้าง ยาว ลึก เวลา) แต่ผ่านมิติที่มากกว่านั้น (จะติดเบอร์ว่ามิติที่ห้า หรือเลขอะไรก็แล้วแต่) จึงไม่ต้องเดินทางจากวินาทีที่หนึ่ง ไปยังวินาทีที่สองและสามตามลำดับ

การที่อนุภาคหนึ่งหายแว้บจากปัจจุบันไปโผล่ในอีกเวลาหนึ่งที่ไม่ได้ต่อเนื่องกัน มันเปิดความเป็นไปได้สู่การเดินทางท่องเวลา จากปัจจุบันไปอดีต หรือไปอนาคต (แต่ยังไม่ต้องรีบซื้อตั๋วจองที่นั่งไทม์แมชชีนนะครับ คงอีกนานมาก)

นักฟิสิกส์ทฤษฎีบอกว่าการค้นพบนี้เป็นเสมือนประตูไปสู่บางสิ่งที่พื้นฐานและลึกซึ้งที่เรายังไม่เข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติ

และนี่อาจเป็นหนึ่งในรูปธรรม หลักฐาน หรือคำอธิบายของปรากฏการณ์ “ความพ้องจองซึ่งกันและกัน” (synchronicity) ดังตัวอย่างเหตุการณ์ที่ยกมาข้างต้น ที่อนุภาค (ซึ่งก็คือคลื่นและ/หรือข้อมูลนั่นเอง) สามารถเดินทางในมิติอื่นนอกเหนือจากสี่มิติที่เรารับรู้ตามปรกติ

ถึงเวลาแล้วที่เราต้องเปิดใจ ไม่ยึดติดแค่ในระบบคิดแบบเดิม และเปิดศักยภาพของการเรียนรู้ให้พ้นจากกรอบเก่าๆ นี้เสียที

2 comments:

Janhom Thai Herb said...

ขอบคุณ สำหรับข้อมูล และมุมมองใหม่ที่น่าสนใจครับ

นท.ธนกร

Ares said...

เรื่องนี้ ทำให้ย้อนนึกไปถึง ความรู้สึกเมื่อสมัย ยังเป็นเด็ก ที่หัวใจยังละเอียดอ่อนอยู่มากนัก

สมัยนั้น มีโอกาสได้อ่านนิตยสารฉบับหนึ่งมีชื่อว่า สวนเด็ก จะมีคอลัมน์ นิยายวิทยาศาสตร์ที่เขียนเรืองราวในทำนองคล้ายๆ กันนี้ไว้เป็นจำนวนมาก เป็นเรื่องที่ชวนให้ พิศวง และน่าติดตามค่ะ