ปฏิวัติด้วยความงาม


ตีพิมพ์ในคอลัมน์ จิตวิวัฒน์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 4 สิงหาคม 2550


หน้าที่ของศิลปะที่แท้จริงคือ การยกระดับสุนทรียภาพของมนุษย์ ส่งเสริมให้ชีวิตมีความพูนสุข และมีความเพลิดเพลิน เวลาที่ชมดอกไม้ในฤดูใบไม้ผลิ ต้นเมเปิลในฤดูใบไม้ร่วง ชมทัศนียภาพแห่งทะเล ภูเขา คนที่มีจิตแห่งศิลป์แล้ว เมื่อได้ชมจะเกิดความเพลิดเพลินอย่างสุดพรรณนา

โมกิจิ โอกาดะ (๕ ก.ย. ๒๔๙๑)


ท่านผู้อ่านเคยมีความรู้สึกว่าเรากลับมาที่เดิม ที่ไม่ใช่ที่เดิม ไหมครับ? เหมือนกับเราเข้าใจอะไรบางอย่างที่เคยได้ยิน รู้เรื่อง หรือเข้าใจมาแล้ว แต่ได้กลับมาเข้าใจมันมากยิ่งขึ้น ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ทั้งๆ ที่ดูๆ ไปเราก็เหมือนจะไม่ได้เรียนอะไรใหม่ เมื่อเร็วๆ นี้ผู้เขียนได้มีประสบการณ์เรียนรู้แบบเกลียวพลวัต (spiral dynamic) นี้อีกครั้ง โดยครั้งนี้เป็นประเด็นที่เป็นเรื่องหลักของกลุ่มจิตวิวัฒน์เลยก็ว่าได้

ว่ากันว่าในสมัย แอกเซียล เอจ (Axial Age) ราว ๒,๒๐๐-๒,๘๐๐ ปีที่แล้ว คุณค่าที่นำไปสู่การปฏิวัติเปลี่ยนแปลงโลก พามนุษย์ไปสู่ระดับจิต (Stage of Consciousness) ที่สูงขึ้น คือ เรื่องความดี ถือได้ว่าเป็นยุครุ่งเรืองของศาสนา ก่อเกิดเป็นชุดความเชื่อ ลัทธิ และศาสนาหลักๆ ของโลกจวบจนปัจจุบัน ไม่ว่าจะพุทธ คริสต์ อิสลาม ลัทธิขงจื๊อ และอื่นๆ

เมื่อเข้ามาสู่ช่วง ๓๐๐-๔๐๐ ปีที่ผ่านมา โลกอยู่ในยุคของเหตุผลนิยม ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทำให้มนุษย์เราเข้าใจโลกและธรรมชาติจากมิติทางกายภาพยิ่งขึ้นอีกมาก ก่อให้เกิดความเจริญทางวัตถุ ผู้คนสามารถเชื่อมต่อกันทางกายภาพและทางโลกเสมือนดิจิตอลอย่างง่ายดาย ดังที่ โธมัส ฟรีดแมน (Thomas Friedman) คอลัมนิสต์ของนิวยอร์กไทมส์ บอกไว้อย่างชัดเจนในหนังสือ ใครว่าโลกแบน (The World Is Flat)

แต่ดูราวกับว่า ณ เวลานี้ โลกกำลังต้องการพลังขับเคลื่อนทางอารยธรรมและวิวัฒนาการอย่างใหม่ เพราะถึงแม้เส้นทางการพัฒนาการทางจิตวิญญาณผ่านความดีและความจริง อาจจะเหมาะกับกาละและเทศะในอดีต และอาจพาผู้คนข้ามทะเลทุกข์ไปได้บ้าง แต่ในวิถีการดำเนินชีวิตและโครงสร้างสังคมเศรษฐกิจปัจจุบันอาจไม่ได้เป็นคำตอบที่เพียงพออีกต่อไป บ่อยครั้งที่เราพบว่าองค์กรจัดตั้งและโครงสร้างอำนาจที่ยึดโยงกับคุณค่าเหล่านี้กลับเป็นปัญหามากกว่าเป็นคำตอบ

หรือว่าโลกต้องการองค์ประกอบสำคัญอื่น องค์ประกอบสุดท้าย ซึ่งจะทำให้การก่อประกอบโลกทางจิตวิญญาณที่สมบูรณ์เป็นจริงขึ้นมาได้ แล้วองค์ประกอบที่ว่านั้นคืออะไร?

เป็นไปได้หรือไม่ว่า คำตอบบางส่วนอาจอยู่ในประเด็นที่เป็นสายใยความเชื่อมโยงบางๆ ซึ่งร้อยบทสนทนาของสมาชิกจิตวิวัฒน์ในหลายๆ ครั้ง (หรือทุกๆ ครั้ง?) เข้าด้วยกัน

หนึ่งในบรรดาผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญและนักปฏิบัติภาวนาคนแรกๆ ที่กลุ่มจิตวิวัฒน์ได้มีโอกาสร่วมฟังและเรียนรู้ด้วย คือ อาจารย์กรินทร์ กลิ่นขจร อาจารย์หนุ่มจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ซึ่งมาถ่ายทอดนำเสนอเรื่อง “วะบิ-ซะบิ” ว่าด้วยความงาม

ต่อเนื่องจากนั้นจนปัจจุบัน กลุ่มก็ยังได้รับเกียรติร่วมเรียนรู้เรื่องราวจากผู้รู้อีกหลายท่าน อาทิ
  • สุนทรียสนทนา โดย สถาบันขวัญเมือง ว่าด้วยความงดงามจากการสื่อสารและรับฟังการอย่างลึกซึ้ง

  • สามัญวิถีแห่งความเบิกบาน โดย กลุ่มภิกษุณีจากหมู่บ้านพลัม พบกับความง่ายงามในการเจริญสติ

  • การเดินทางสู่ความเป็นมนุษย์ที่แท้ โดย อาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ ความงามจากการเดินเท้าแสวงหาความหมายของชีวิต

  • ศิลปะแห่งจิตวิญญาณ โดย พระอำนาจ โอภาโส การถ่ายทอดธรรมะและธรรมชาติผ่านภาพวาด

  • ความเงียบกับความงาม โดย สมาคมหรี่เสียงกรุงเทพฯ ในความเงียบไม่ได้เป็นความว่างเปล่า แต่มีความงามเกิดขึ้น


ยิ่งทบทวนย้อนกลับไป ยิ่งเห็นว่าหัวเรื่องสนทนาหลายต่อหลายครั้ง มีประเด็นที่เรียงร้อยทุกครั้งนั้นไว้ คือ ความงาม

โดยความงามเหล่านี้มีลักษณะเฉพาะร่วมกันหลายอย่าง เช่น เป็นความงามจากการได้เห็นสรรพสิ่งหรือสถานการณ์ตามสภาพจริง โดยปราศจากการปรุงแต่ง ซึ่งเรื่องนี้ตรงกับแนวความคิดที่ท่านโมกิจิ โอกาดะ (๒๔๒๕-๒๔๙๘) ปรมาจารย์ผู้คิดค้นงานสำคัญ อาทิ การชำระล้างแบบโอกาดะ เกษตรธรรมชาติ อาหารธรรมชาติ และศิลปวัฒนธรรมซึ่งมีพลังแห่งต้นกำเนิดของธรรมชาติเป็นพื้นฐาน ท่านโอกาดะได้เคยกล่าวไว้ว่า

“ความนึกคิดเชิงรวม...จะทำให้รับข้อมูลตามสภาพจริงของเรื่องนั้นไม่ได้ ถ้าพูดให้ง่ายยิ่งขึ้นไปอีก ก็คือ เสาเหล็กดังกล่าวเปรียบเสมือนแว่นที่มีสี โดยนัยนี้ การที่จะรับสภาพจริงของเรื่องต่างๆ ได้อย่างไม่ผิดเพี้ยน ต้องตั้งมั่นอยู่ในตนเอง ไม่ให้ตกอยู่ในสภาพที่จะถูกเสาเหล็กอันเป็นความนึกคิดเชิงรวมมารบกวนแม้เพียงเล็กน้อย...สภาพดังกล่าวนั้น ไม่มีทั้งอดีตและอนาคต ไม่ใช่สิ เป็นตัวของตัวเราเองในปัจจุบันที่มีสติ เป็นจิตที่บริสุทธิ์ ในกรณีที่มองเรื่องต่างๆ ด้วยสติของเรา อันดับแรกจะต้องเป็นการมองตามสภาพจริงที่ไม่มีอะไรมาขวางกั้น ด้วยเหตุผลนี้ ก่อนอื่นในฐานะที่เป็นมนุษย์ การมองสิ่งต่างๆ อย่างถูกต้องนั้นไม่มีวิธีอื่นใดอีกแล้วนอกจากวิธีนี้” (๒๘ ก.ย. ๒๔๘๕)


อาจจะจริงว่า เราคงไม่สามารถออกจากพันธนาการของโครงสร้างบริโภคนิยมได้ ถ้าเราไม่สามารถชื่นชม และเข้าถึงความงามผ่านดอกไม้ธรรมดาเพียงไม่กี่ดอก

“ถ้าเป็นไปได้จะใช้ดอกไม้ให้น้อยที่สุด นี่เป็นแบบฉบับของข้าพเจ้า จริงๆ แล้ว ข้าพเจ้าจะใช้ดอกไม้น้อยมาก ปกติที่ใช้กัน ๑ ส่วน แต่ข้าพเจ้าจะแบ่งใช้ได้ ๓ ส่วน การที่ไม่ใช้ดอกไม้และกิ่งที่ไม่จำเป็นจะได้ผลดีมาก ดังนั้น จึงมีบางคนบอกว่าดอกไม้น้อยเกินไป แต่ก็ไม่เป็นไร การใช้ดอกไม้หลายชนิดผสมกันนั้น ไม่น่าสนใจ ควรที่จะจัดเหมือนกับวาดภาพด้วยดอกไม้” (๑๗ มี.ค. ๒๔๙๗)


อาจจะจริงว่า เราคงไม่สามารถออกจากพันธนาการของโครงสร้างทุนนิยมได้ ถ้าเราไม่สามารถชื่นชม และเข้าถึงความงามผ่านดอกไม้ราคาถูกๆ หาได้ตามฤดูกาลที่ปลูกได้เอง

“ดอกไม้จะแตกต่างกันไปตามฤดูกาลทั้ง ๔ ตามหลักการแล้วการจัดดอกไม้ที่มีมากในตอนนั้นดีที่สุด เป็นธรรมชาติ...ใช้ดอกไม้ในฤดูกาลนั้นดีที่สุด” (๑๖ มี.ค. ๒๔๙๖)


“การซื้อของนอกฤดูด้วยเงินราคาแพงนั้นเป็นเรื่องที่โง่เขลา” (๑๗ มี.ค. ๒๔๙๖)


และอาจจะจริงว่า กุญแจสำคัญอยู่ที่การทำให้ผู้คนที่กำลังวิ่งอย่างบ้าคลั่งในระบบที่หมุนเร็วและเร่งขึ้นทุกวันนั้น ได้เห็นคุณค่าของการได้ลองหยุดและลองช้าลงบ้าง ว่าถ้าเขาหัดและเรียนรู้ที่จะลดความเร่งรีบลง เขาก็อาจจะเข้าถึงความงาม ซึ่งนำไปสู่ความจริงและความดีในที่สุด

“สุดยอดแห่งศิลปะนั้นไม่ใช่การแสดงออกตามธรรมชาติ แต่เป็นการแสดงความจริง ความดีและความงามทางบุคลิกภาพ...ศิลปะเป็นสิ่งที่พึงแสดงออกซึ่งสุดยอดแห่งความงาม ซึ่งก็มีทั้งสูงและต่ำ ศิลปะชั้นสูงสุดนั้นกอปรด้วยทั้งความจริงและความดี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสูงส่งของวิญญาณมนุษย์” (๒๐ พ.ค. ๒๔๙๒)


ผู้เขียนและเครือข่ายจิตตปัญญาศึกษาได้มีโอกาสเข้าร่วมเรียนรู้การจัดดอกไม้ "อิเคบานาของโมกิจิ โอกาดะ" กับมูลนิธิเอ็มโอเอไทย (www.MOAthai.com) ที่มีวัตถุประสงค์การนำไปใช้ในชีวิตประจำวันอย่างลึกซึ้ง พัฒนาคุณภาพชีวิต และยกระดับพลังชีวิตของตนเองให้สูงขึ้นด้วยการใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ทำให้ได้พอเข้าใจในสิ่งที่อาจารย์กรินทร์ และผู้รู้อีกหลายท่านนำเสนอมากขึ้นบ้าง

อีกทั้งยังได้สัมผัสกับความจริงอย่างยิ่งอีกประการ คือ เส้นทางการปฏิวัติด้วยความงามนั้น ก็เหมือนกับการปฏิวัติทางจิตวิญญาณอื่นๆ คือ ต้องผ่านการเดินทาง ผ่านการมีประสบการณ์ตรงกับความงาม และยินยอมให้ความงามนั้น หรือความจริงอันเปลือยเปล่านั้น เข้ามาเปลี่ยนแปลงเรา ณ จุดที่เป็นรากฐานที่สุดด้วยตัวเราเอง :-)

0 comments: