ตีพิมพ์ในคอลัมน์ มหาสมุทรแห่งปัญญา
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 19 สิงหาคม 2550


๑๙ สิงหาคมนี้เป็นวันที่สองและวันสุดท้ายที่กลุ่มสนทนาพระพุทธศาสนาและวิทยาศาสตร์ มูลนิธิพันดารา และศูนย์จริยธรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมกันจัดงานประชุมวิชาการเรื่อง “ความสุขในสังคมสมัยใหม่: จิตวิญญาณ สังคม และวิทยาศาสตร์” ที่อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ วิทยากรมีทั้งบรรพชิตและฆราวาส ทั้งนักคิด นักเขียน นักวิชาการ และนักปฏิบัติชั้นแนวหน้ามากมาย อาทิ พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (ว. วชิรเมธี) อาจารย์ ส. ศิวลักษณ์ ศ. นพ. ประสาน ต่างใจ อาจารย์กำพล ทองบุญนุ่ม อาจารย์วุฒิพงษ์ เพรียบจริยวัฒน์ อาจารย์เทียนชัย วงศ์ชัยสุวรรณ (ยุค ศรีอารยะ) คุณงามพรรณ เวชชาชีวะ การพูดคุยกันคราวนี้มี รศ.ดร. กฤษดาวรรณ และ รศ.ดร. โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์ เป็นผู้จัด

ในงานมีการนำเสนอและพูดคุยกันเรื่อง “ความสุขในสังคมสมัยใหม่” จากมุมมองต่างๆ ทั้งจากทางจิตวิญญาณ พุทธศาสนา วิทยาศาสตร์ ปรัชญาจีน ปรัชญาอินเดีย งานเขียน การทำงานเพื่อสังคม รวมไปถึงเรื่องความตายและการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย อีกทั้งยังมีการฉายภาพยนตร์อีกด้วย

ผมเองได้รับการชักชวนให้ไปร่วมแบ่งปัน เรียนรู้กันเรื่องความสุข จึงเสนอผู้จัดไปว่าจะพูดในหัวข้อ “ทำการสอบให้เป็นคำตอบของความสุข” ฟังแค่ชื่อก็ดูท้าทายแล้วใช่ไหมครับ เพราะผมว่าเรื่องการวัดผล การสอบ การประเมินนั้น ขึ้นชื่อลือชาว่าเป็นเรื่องสร้างทุกข์ได้อย่างยอดทีเดียว จะทำให้มันกลายเป็นเรื่องสุขๆ ที่ไม่ใช่สุกๆ ได้อย่างไร

นอกเหนือจากที่ผมต้องเตรียมตัวไปพูดในการประชุมแล้ว ช่วงที่ผ่านมาทางคณะวิจัยจิตตปัญญาศึกษาซึ่งผมเป็นสมาชิกในทีมได้ร่วมกันศึกษาทบทวนอ่านผลงานต่างๆ เพื่อสำรวจพรมแดนความรู้ด้านจิตตปัญญาศึกษา โดยมีหัวข้อเรื่องการประเมินผลด้วย ทำให้ผมได้อ่านงานวิจัยและบทความดีๆ รวมถึงมีโอกาสพูดคุยปรึกษาผู้เชี่ยวชาญหรือผู้มีประสบการณ์ในเรื่องบ้างพอประมาณ เห็นว่าน่าสนใจเลยนำเรื่องนี้มาเล่าสู่กันฟังนะครับ

เรื่องความหนักหนาสาหัสของการสอบหรือจะว่าไปก็การศึกษาในปัจจุบันของพวกเรานั้น ไม่ได้เป็นประเด็นใหม่ที่เพิ่งค้นพบเลย อาจารย์หมอประเวศ วะสี ท่านก็เคยเขียนไว้ใน สานปฏิรูป ว่า “การศึกษาเป็นความทุกข์ของแผ่นดิน” ถึงขนาดว่าต้องหลบหนีกันข้ามประเทศเลย เพราะ “แทบทุก ครอบครัวที่เดือดร้อนเมื่อถึงคราวที่ต้องเอาลูกเข้าโรงเรียน บางคนที่พอมีเงิน ... ก็จะส่งลูกไปเรียนต่างประเทศ ซึ่งผมถือว่าคนเหล่านี้ เป็นผู้ลี้ภัยทางการศึกษา”

ในวงสัมมนาพ่อแม่ผู้ปกครองเมื่อเกือบสิบปีที่แล้ว อาจารย์ท่านได้สรุปทุกข์จากการศึกษาหลักๆ คือ “หนึ่ง ขาดแคลนโรงเรียนดีๆ สอง กระบวนการเรียนรู้ของเรา กระบวนการเรียนรู้ที่เราใช้ ยาก เครียด น่าเบื่อ มีความทุกข์ สุขภาพจิตเสียกันหมดทั้งประเทศ ทั้งตัวนักเรียน ทั้งผู้ปกครอง ครู และ สาม เราผลิตคนที่ด้อยคุณภาพ เพราะเราเน้นการท่องจำ ทำไม่เป็น คิดไม่เป็น ไม่มีทักษะชีวิตต่างๆ ร้อยแปด”

ผมเห็นว่าเรื่องทุกข์ทั้งสามจากการศึกษาดังว่ามานี้ ช่างเกี่ยวโยงกับการวัดการประเมินอย่างแนบแน่น

การวัดผลและการประเมินในแนวที่เราใช้อยู่ปัจจุบันเป็นมรดกตกทอดมาพร้อมกับแนวคิดแบบวิทยาศาสตร์กระแสหลัก มีลักษณะวิธีคิดเชิงกลไก และแยกส่วนในการวิเคราะห์ เชื่อว่าเราสามารถสร้างแบบวัดประเมินที่มีค่า “มาตรฐาน” สามารถนำไป “เทียบเคียง” ระหว่างนักเรียนนักศึกษารายคน ระหว่างห้อง ระหว่างชั้นเรียน หรือแม้แต่ข้ามโรงเรียนก็ทำได้

กระบวนวิธีคิดแบบนี้ได้พัฒนาขึ้นมาพร้อมกับความรุ่งเรืองของวิทยาศาสตร์ครับ เรื่องที่ถือว่าเป็นความรู้ตามทัศนะแนวคิดนี้คือ สิ่งที่มนุษย์สามารถรับรู้ได้ทางประสาทสัมผัสเท่านั้นที่เป็นความจริง และการเข้าใจเรื่องราวย่อยหรือส่วนประกอบ จะนำไปสู่การเห็นภาพรวมของปรากฏการณ์ เพราะส่วนย่อยต่างส่งต่อกันเป็นเหตุให้เกิดผลที่เราสังเกตเห็น

การสร้างเครื่องมือ มาตรวัดและวิธีการต่างๆ จึงต้องเป็นสิ่งที่มนุษย์เรารับรู้ได้เหมือนๆ กัน นั่นทำให้เราพยายามตีค่าวัดผลออกมาเป็นตัวเลขหรือหน่วยที่เทียบเคียงกันได้ เมื่อแนวคิดนี้ถูกนำไปใช้กับเรื่องเชิงกายภาพ อย่างระยะทาง น้ำหนัก หรือขนาด จึงมีประโยชน์และช่วยพัฒนาเทคโนโลยีของมนุษย์ไปได้ไกลและไวมาก

แต่กับเรื่องที่สลับซับซ้อนอย่าง “ความสุข” และ “การเรียนรู้” ของมนุษย์อาจจะไม่ตรงไปตรงมาอย่างนั้นหรอกครับ เรื่องง่ายๆ ที่ทุกคนรู้ๆ กันอยู่อย่างเช่นการวัดผลการเรียนออกมาเป็นคะแนนหรือเกรดก็เป็นตัวอย่างหนึ่ง ทุกวันนี้ทุกคนเข้าใจและยอมรับมาตรฐานเรื่องเกรดกันว่า A คือดีเยี่ยมที่สุดแล้ว ส่วน F คือไม่ผ่าน แต่ถามจริงๆ เถอะครับว่าระหว่าง A ของโรงเรียนสองแห่งนั้นเท่ากันจริงหรือ นี่ยังไม่นับว่ามีเกรด B C และ D อีกนะครับ

ในยุคนี้ที่เราชินชากับสภาวะเงินเฟ้อไปแล้ว เราก็กำลังเผชิญกับสถานการณ์ “เกรดเฟ้อ” อยู่เช่นกัน ไม่ใช่แค่เมืองไทยแต่ต่างประเทศก็ด้วย เพราะความที่เราต้องนำเอาเกรดเฉลี่ยสะสมของนักเรียนเข้านับเป็นส่วนหนึ่งของคะแนนเอนทรานซ์ ทำให้โรงเรียนต้อง “ปล่อยเกรด” มากขึ้น แถมภาวะเกรดเฟ้อนี้ไม่ได้เป็นเฉพาะระดับโรงเรียนนะครับ ระบาดต่อเนื่องมาถึงระดับมหาวิทยาลัยแล้ว เพราะมีการแจ้งอาจารย์ว่านักศึกษาต้องใช้เกรดในการสมัครเรียนต่อปริญญาโทและเอก ถ้าไม่ปล่อยเกรด นักศึกษาจะไปเรียนต่อยาก และก็ไม่ใช่แค่ในประเทศด้วย แต่เป็นทั้งโลก ดังที่ ดร. โลเวลล์ แบร์ริงตัน บอกว่ามีมหาวิทยาลัยหลายแห่งในสหรัฐอเมริกา ที่นักศึกษาระดับปริญญาตรีสามในสี่คน จบด้วยเกรดเฉลี่ยสะสม ๔.๐๐ เลยทีเดียว

แต่การปล่อยเกรดก็ยังไม่ใช่ผลในเชิงลบที่รุนแรงที่สุดที่การวัดการประเมินมีต่อเรื่องการศึกษา ดร. โลเวลล์ บอกกว่าการเน้นเรื่องการวัดประเมินแบบนี้ยังทำให้อาจารย์มหาวิทยาลัยต้องเผชิญกับสถานการณ์และตัวเลือกที่ไม่อยากเลือก คือ (ก) นั่งเทียนเขียนข้อมูลการเรียนรู้ของนักศึกษา หรือ (ข) สอนเน้นหรือเฉพาะเนื้อหาหลักสูตรที่สามารถวัดประเมินได้ง่าย

ตัวอย่างในมหาวิทยาลัยไทย ถ้าในรายวิชาหนึ่งๆ อาจารย์ต้องสอนนักศึกษาหลายกลุ่ม หรือวิชารหัสเดียวกันแต่มีอาจารย์หลายคนสอน เวลาออกข้อสอบก็ต้องออกเป็นปรนัยหรือหลายตัวเลือก เพราะตรวจง่าย เทียบเคียงง่าย ปัจจุบันใช้เสียบกระดาษคำตอบเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์กันหมดแล้ว บางคณะก็มี “คำสั่ง” หรือ “ขอความร่วมมือ” ให้ออกข้อสอบแบบนี้เท่านั้น

การที่สถาบันการศึกษาต้องปรับการเรียนการสอนถึงระดับรากฐานเพื่อให้มีการวัดประเมินได้ “สะดวกง่ายดาย” อาจจะเป็นทิศทางที่ต้องตั้งคำถามกันอย่างจริงจัง ใช่หรือไม่?

แถมเมื่ออาจารย์มาออกข้อสอบด้วยกันก็มักจะเลือกเฉพาะข้อที่ทุกคนสอน เพราะเกรงว่าหากไม่ได้พูดไปในชั้นเรียน นักศึกษากลุ่มที่ตนเองสอนจะไม่สามารถหาความรู้ได้ด้วยตนเอง ทำข้อสอบไม่ได้ หาว่าอาจารย์ออกข้อสอบในส่วนที่ไม่ได้สอนในชั้น และได้คะแนนน้อยกว่ากลุ่มอื่นๆ ซึ่งก็มักจะถูกตีความ เหมาเอาว่าอาจารย์ท่านนั้นสอนไม่ดี สอนไม่เก่ง นักศึกษาที่เรียนด้วยจึงได้คะแนนสู้กลุ่มอื่นไม่ได้ สรุปสุดท้ายเราจึงได้ข้อสอบ ก. ข. ค. ง. ที่ง่ายดายที่สุด เป็นข้อสอบและคำตอบที่บอกอะไรๆ ได้จำกัดมาก

ในระบบที่ต้องการหาประสิทธิภาพและประสิทธิผลนี้ ผู้คนหลงใหลคลั่งไคล้ไปกับการวัดการประเมิน นักศึกษาก็มีโอกาสประเมินอาจารย์ด้วย ยิ่งหากนักศึกษาได้คะแนนน้อยกว่ากลุ่มอื่น เวลาเขียนใบประเมินก็อาจนึกแค้นใจอาจารย์ เขียนประเมินเสียๆ หายๆ ซึ่งก็อาจมีผลต่อ “ผลงานและความดีความชอบ” ของอาจารย์ผู้สอน ทำให้อาจารย์เองก็ได้คะแนนประเมินต่ำเหมือนกัน

ระบบเช่นนี้จึงไม่ให้แรงจูงใจให้อาจารย์สอนเรื่องที่สำคัญจำเป็นต่อกระบวนการเรียนรู้อย่างแท้จริงแก่นักศึกษา เพราะทั้งสอนยากและวัดยาก บางคนบอกเนื้อไม่ได้กิน หนังไม่ได้รองนั่ง เอากระดูกมาแขวนคอ เลยกลับกลายไปเป็นเอาชั่วโมงเรียนมาติวข้อสอบไปบ้างเสียเลยก็มีให้ได้ยิน ได้เห็น

อ่านแล้วอย่าเพิ่งรู้สึกหมดหวังนะครับ เพราะว่าปัจจุบันความรู้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ใหม่ ชีวิต และทฤษฎีระบบ ได้ก้าวหน้าไปพอสมควร และอาจช่วยให้เราเห็นแนวทางในการพาการวัดการประเมินออกจากอุโมงค์เสียทีครับ แนวคิดของระบบการประเมินที่ได้รับการ “ใส่หัวใจของความเป็นมนุษย์” ระบบที่มีชีวิต ที่ให้ความสำคัญกับการปรับตัว การเรียนรู้ และการเจริญเติบโตไปตามวิวัฒนาการ มากไปกว่าเรื่องความคงที่ มาตรฐาน เสถียรภาพ และการควบคุม อาจจะช่วยเราฝ่ามายาการของการวัดประเมินแบบปัจจุบันสำเร็จก็เป็นได้ ไว้ลองมาดูกันสัปดาห์หน้านะครับ :-)

0 comments: