แจกันจัดใจ (๒)


ตีพิมพ์ในคอลัมน์ มหาสมุทรแห่งปัญญา
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 12 สิงหาคม 2550


ในกระบวนการ "การจัดดอกไม้อิเคบานา ตามแนวท่านโมกิจิ โอกาดะ" ที่ผมนำมาเล่าสู่กันฟังเมื่อสัปดาห์ที่แล้วนั้น นอกเหนือจากเราจะรู้จักการดูดอกไม้ตามสภาพจริงแล้ว ยังทำให้เราได้ฝึกทักษะอื่นๆ อีกมากเลยครับ และในบรรดาทักษะต่างๆ นั้น ผมคิดว่าเรื่อง “การสื่อสาร” เป็นเรื่องที่สำคัญและเกิดประโยชน์สำหรับชีวิตประจำวันมากที่สุดเรื่องหนึ่ง

ผมเรียนรู้จากผู้เข้าร่วมท่านหนึ่งซึ่งไม่เคยเรียนหรือฝึกจัดดอกไม้มาก่อนเลย แต่เขากลับสามารถจัดอย่างสบายๆ ใช้ดอกไม้น้อยมากทั้งชนิดและปริมาณ แถมไม่ใช้เวลามากอีกด้วย ผลงานออกมาดีมากทุกแจกัน เรียบง่ายแต่ว่างดงามอย่างยิ่ง ทุกคนถึงกับเอ่ยปากชม ผมแอบกระซิบถามจนทราบเคล็ดลับว่า เขาใช้วิธี “คุยกับดอกไม้” ทั้งในการเลือก และในระหว่างที่พิจารณาดอกไม้ เขาพูดในใจกับดอกไม้นั้นว่า “ไหน ... หนูอยากหันด้านไหนออกมา?” หรือไม่ก็ “อยากให้จัดอย่างไรเหรอ?”

พวกเราชาวจิตตปัญญาชนที่ไปฝึกครั้งนี้ด้วยกันคงไม่ค่อยแปลกใจกับการสนทนาระหว่างคนกับดอกไม้สักเท่าไร เพราะเราคุ้นเคยดีกับคำพูดทำนองว่า “ให้เลือกดอกไม้ที่ ‘เรียก’ เรา” หรือถ้าเป็นกิจกรรมอื่น ดังเช่นการเขียนระบายภาพ กระบวนกรก็มักจะขอให้เราเลือกสีที่เรียกเรา คุณผู้อ่านอย่าเพิ่งด่วนหัวเราะขำกลิ้ง หรือคิดว่าคนเหล่านี้ไม่เต็มนะครับ ที่เขา “คุย” กับดอกไม้ได้ เรื่องทำนองนี้ ต้องท้าพิสูจน์ด้วยตนเองครับ

นี่ไม่ใช่เรื่องแปลกหรือต้องสงสัยเลยสำหรับคนจำนวนไม่น้อยในโลกอันกว้างใหญ่และ (ดูเหมือน) ลี้ลับใบนี้ อย่างเช่น เมื่อหลายสิบปีมาแล้ว คุณโดโรธี แมคเคลน (Dorothy Maclean) และเพื่อนๆ อีกหลายคนร่วมกันก่อตั้งชุมชนฟินด์ฮอร์น (Findhorn) อยู่ติดกับชายทะเลด้านตะวันออกเฉียงเหนือของสกอตแลนด์ เป็นชุมชนพึ่งตนเองและเกื้อกูลดูแลโลก มีสวนผักและผลไม้เติบโตบนที่ดินที่มีแร่ธาตุอาหารต่ำ แต่เธอและเพื่อนๆ กลับสามารถผลิตพืชผลที่มีขนาดใหญ่ทำลายสถิติได้มากมาย จนเป็นที่โด่งดังรู้จักกันทั้งในและนอกประเทศ เมื่อต้นปีเพิ่งมีรายงานออกมาว่าชุมชนนี้มีรอยเท้าทางนิเวศวิทยา (Ecological footprint) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดการใช้ทรัพยากรและผลิตของเสีย ที่น้อยที่สุดในหมู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว ปัจจุบันฟินด์ฮอร์นกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ดึงดูดผู้คนจากทั่วโลกปีละหลายพันคน พี่ประชา หุตานุวัตรก็ย้ายรกรากไปอยู่ (บางช่วงของปี) และสอนอยู่ที่นั่นด้วย

เมื่อสองปีก่อน คุณยายโดโรธี เธอได้เดินทางมาปาฐกถา เปิดการอบรมให้กับชาวบ้านและชาวเมืองคนไทยมีผู้ให้ความสนใจและสื่อต่างๆ ตีพิมพ์นำเสนอข่าวอยู่ไม่น้อย เธอสอนคนไทยที่นี่ทำสิ่งเดียวกับที่เธอทำที่นั่น ก็คือ “การสื่อสารกับธรรมชาติ” เธอบอกว่า หากเราสื่อสารกับธรรมชาติได้ เราก็สามารถทำอะไรๆ ได้มากมายโดยแทบจะไม่ต้องออกแรงอะไรมากเลย

การสื่อสารกับธรรมชาติ ดอกไม้ และแม้แต่สิ่งของนี้ ไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจเลยเช่นกัน ในสายตาของท่านโมกิจิ โอกาดะ ปรมาจารย์ผู้ให้แนวทางการจัดดอกไม้และเกษตรธรรมชาติ เพราะท่านเชื่อว่ามีสิ่งเชื่อมโยงเราเข้ากับคนอื่นๆ และทุกอย่างรอบตัวเราไว้ นั่นคือ “สายใยวิญญาณ” ท่านกล่าวไว้ว่า “สายใยวิญญาณนั้นไม่ได้เชื่อมโยงเฉพาะมนุษย์เท่านั้น แต่ยังเชื่อมโยงกับสรรพสิ่งอีกด้วย สายใยวิญญาณที่เชื่อมโยงกับบ้านที่อยู่อาศัยของมนุษย์ สิ่งของที่ใช้เป็นประจำและรักมาก โดยเฉพาะของที่รักมากสายใยวิญญาณจะหนาแน่นมาก ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้าอาภรณ์ เครื่องแต่งกาย ก็เช่นเดียวกัน”

ประสบการณ์การจัดดอกไม้ลงแจกันก็บอกพวกเราอย่างนั้นจริงๆ เราพบว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่เลือกดอกไม้เพราะคิดคำนวณวางแผนไว้ก่อน หรือเลือกแจกันตามหลักการใช้สีหรือองค์ประกอบศิลป์แล้ว เมื่อนั้นผลงานก็ยังออกมาไม่โดนใจ ดอกไม้หมุนแกว่งไปมาในแจกันไม่ยอมนิ่งอยู่ในจุดที่เรากะเก็ง แจกันก็ไม่เข้ากันกับสถานที่ ไม่กลมกลืนกับดอกไม้ แต่เมื่อได้วางความคิด ความเชื่อ และค่านิยมเดิมๆ เปิดใจติดต่อสื่อสารพูดคุยกับเขา ผลที่ตามมานั้นดูจะแตกต่างออกไป

ในชีวิตจริงของเรานอกเหนือจากการสื่อสารกับดอกไม้แล้ว เรายังต้องเรียนรู้เรื่องการสื่อสารกับคนข้างๆ ด้วย ในระหว่างกระบวนการฝึกอบรมจัดดอกไม้ ผมก็พบว่าบุคคลที่ช่วยเตือนใจในเรื่องดังกล่าวได้เป็นอย่างดี คือวิทยากรที่คอยดูแลให้คำแนะนำอยู่ข้างตัวเราตลอดเวลานี่เอง

หลายครั้งหลายคราวที่เราตั้งใจสูง และทุ่มเทให้กับผลงานแจกันนั้นมาก วิทยากรบางท่านเดินเข้ามาให้ความเห็นว่าการลิดใบ ตัดกิ่ง ปักดอกไม้ของเรานั้นไม่ถูกต้องยังไง บางคนบางหนก็เสนอไอเดียวิธีจัดวางดอกไม้ให้เสียด้วยซ้ำ จะว่าไปเขาก็มีเจตนาดีต้องการเข้ามาช่วยแนะนำเสนอความเห็น แต่การเข้ามาบางที่ บางเวลา หรือใช้บางถ้อยคำทำให้เรารู้สึกไม่รื่นหู ก็อาจทำให้เราอารมณ์ไม่แจ่มใสได้ ตอนนั้นก็ได้เห็นละครับว่าเราสื่อสารแต่เฉพาะดอกไม้กับแจกัน หลงลืมการสื่อสารกับคนรอบข้างไปบ้างหรือเปล่า

เป้าหมายสำคัญที่สุดของการจัดดอกไม้ตามแนวท่านโอกาดะ ที่มูลนิธิเอ็มโอเอจัด ไม่ใช่การสร้างผลงานศิลปะเป็นเลิศของเราหรอกนะครับ แต่ว่าเป็น “การนำไปใช้ในชีวิตประจำวันอย่างลึกซึ้ง พัฒนาคุณภาพชีวิต และยกระดับพลังชีวิตของตนเองให้สูงขึ้นด้วยการใช้ชีวิตอย่างมีความสุข” ถ้าอย่างนี้แล้ว จัดดอกไม้ลงแจกันไป แต่ใจเราหงุดหงิดรำคาญกับคนรอบข้าง จะเรียกว่าเราบรรลุเป้าหมายแท้จริงของการจัดดอกไม้อิเคบานาได้อย่างไรล่ะครับ

เปิดใจสื่อสารกับคนรอบข้างก็เหมือนสื่อสารกับดอกไม้ แค่ลดการ์ดที่ตั้งไว้ลง วางอัตตาตัวตนของเราลง เมื่อเราได้ฟังดอกไม้แล้ว เราก็ฟังคนอื่น สื่อสารกับเขาได้โดยไม่ทำร้ายทำลายอารมณ์และจิตใจดีๆ ของทุกคน ทั้งนี้ ส่วนสำคัญที่สุดที่จะทำให้เรานี้สำเร็จลุล่วงแฮปปี้เอ็นดิ้งทุกฝ่ายได้ นั่นคือ เรานี่แหละที่จำเป็นต้องฟังและสื่อสารกับตัวเราเอง

เวลาเราจัดดอกไม้เราจะเห็นใจของเราชัดเจนมากนะครับ ไม่ว่าจะเป็นตอนมองดูดอกไม้จากสภาพจริง ตอนเลือกดอกไม้ เลือกแจกัน แม้กระทั่งรินน้ำใส่แจกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสามกระบวนการที่ต่อเนื่องกัน คือ “กำหนดจุดหมาย-รีบตัด-รีบปัก” ซึ่งเป็นสามขั้นตอนที่สนุก เพลินเพลิน และก็ท้าทายที่สุดด้วย เพราะต้องกำหนดจุดหามุม เลือกด้านของดอกไม้ ใบไม้และกิ่งก้านที่เราและดอกไม้เขาต้องการจะนำเสนอ - ตัด - และปัก โดยไม่ชักช้า แต่ก็ไม่เร่งรีบ เร่งร้อน ต้องทำต่อเนื่องโดยอาศัยร่างกาย อาศัยใจ อาศัยสติ มากกว่าความคิดว่าจะออกมาดีไหม น่าเป็นอย่างนั้น อย่างนี้มากกว่าไหม อุปมาดั่งวิถีของซามูไรที่อยู่ในสนามจริง ไม่สามารถจะยักแย่ยักยัน ถอยเข้าถอยออกได้

ตอนจัดเสร็จแล้วเราอาจรู้สึกเสียใจเวลามีคนติ หรือดีใจเวลามีคนชม แต่เราอาจ “ไม่ทัน” อารมณ์ตรงนี้ครับ เพราะว่ามันฟุ้ง มันเร็ว แล้วเราก็อยู่ในร่องของการคิดเสียมาก ต่างกับระหว่างกระบวนการจัดที่โลกช้าลง บางทีก็ถึงกับหยุดเลย ทั้งจักรวาลมีแต่เรากับดอกไม้ สามารถเห็นตัวของเราชัดมากว่า ณ ขณะหนึ่งๆ เราเป็นอย่างไร ตอนไหนรู้เนื้อรู้ตัว ตอนไหนรู้สึกสนุก รู้สึกสบาย รู้สึกเครียดเหนื่อย หรือตั้งใจมากไป

การจัดดอกไม้คือการพาเราไปอยู่ในพื้นที่ที่เชิญชวนให้เรามีสติสูงมาก (แต่แค่สบายๆ ไม่ต้องออกแรงอะไร) เราจะเห็นสิ่งต่างๆ โดยเฉพาะสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในใจเราได้อย่างแหลมคม หากใจของเราสั่นไหว ไม่นิ่ง มีเรื่องรบกวนจิตใจ เราจะเห็นสิ่งนั้นชัดมาก ไม่ว่าจะเป็นความอยากจัดให้ได้สวยๆ ความอยากได้รับคำชม ความโกรธที่มีคนมาวิจารณ์ ความหงุดหงิดงุ่นง่านรำคาญใจ ความกังวลละล้าละลังกลัวทำได้ไม่ดี

การเห็นตัวเองชัดอย่างนี้ เป็นโอกาสอันดีมากๆ ที่เราจะได้ "จัดใจ" ของเรา ซึ่งก็อาจใช้หลักเดียวกันกับการ "จัดดอกไม้" ไม่ว่าจะเป็นการมองเขาตามสภาพจริง การสื่อสาร หรือการเห็นและเข้าใจธรรมชาติของเขา ไม่น่าแปลกใจเลยที่สถาบันการศึกษาหรือองค์การที่ส่งเสริมเรื่องกระบวนการเรียนรู้แบบจิตตปัญญาจำนวนมากจะมีวิชาการจัดดอกไม้อยู่ด้วย

เราจัดดอกไม้ ดอกไม้จัดเรา ... อืมม์ ก็น่าสนุกดีนะครับ :-)

0 comments: