ตีพิมพ์ในคอลัมน์ มหาสมุทรแห่งปัญญา
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 26 สิงหาคม 2550


เวลาพูดถึงการสอบขึ้นมา ใครต่อใครที่ได้ยินถ้าไม่ส่ายหน้า ก็ถอนหายใจ หรือไม่คงเบื่อหน่ายกะทันหัน นักเรียนก็เครียด อาจารย์ก็เบื่อ เมื่อตอนสัปดาห์ก่อนผมไปนำเสนอประเด็นเรื่อง “ทำการสอบให้เป็นคำตอบของความสุข” ในงาน “ความสุขในสังคมสมัยใหม่: จิตวิญญาณ สังคม และวิทยาศาสตร์” ของมูลนิธิพันดาราและคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แม้แต่พิธีกรดำเนินรายการยังแนะนำทำนองว่าให้รอติดตามฟังเรื่องที่ดูไม่เข้ากันอย่างนี้จะเป็นไปได้อย่างไร ด้วยวิธีการไหน?

หลังจากผมเล่าเรื่องที่เราๆ ท่านๆ รู้กันดีอยู่แล้ว ว่าด้วยความทุกข์ความเบื่ออันมากมายที่มีต่อการสอบไป ผมเสนอด้วยว่าพวกเราไม่ได้สิ้นหวังและอับจนหนทางไปเสียทั้งหมดหรอกครับ การสอบที่จ้องจะวัดความรู้เปรียบเทียบความสามารถการท่องจำของผู้เรียนจนสะสมความเครียดกันมาตั้งแต่ระดับอนุบาลนี้ ยังไม่ได้มาถึงปลายทางที่เลวร้ายจนทำให้เราต้องฝ่าด่านปัญหาออกไปด้วยการลืมมัน พยายามล้มล้างยกเลิกมัน หรือว่าหลับหูหลับตาให้มันผ่านๆ ไป

เพราะการสอบไม่ได้ผิดนะครับ กระบวนทัศน์ในการสอบในปัจจุบันนั่นแหละผิด (แก๊สโซฮอลล์ก็ไม่ผิดครับ)

อย่างที่คุยกันครับว่า กระบวนทัศน์แบบวิทยาศาสตร์กลไกนั้นไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับทุกเรื่อง อย่างการสอบก็เหมือนกัน วิทยาศาสตร์กลไกช่วยพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ มากมาย แต่ครอบงำการศึกษาของเรามากไป กลายเป็นว่าการสอบคือคำตอบทุกอย่างของชีวิต แทนที่การสอบจะเป็นตัวช่วยให้ครูและนักเรียนได้ปรับปรุงพัฒนากระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน กลับเอาไว้ชี้เป็นชี้ตายว่าเราจะได้เข้าเรียนคณะดังๆ มีงานดีๆ ทำหรือไม่

ปัจจุบันความรู้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ใหม่ ทฤษฎีระบบ เผยให้เราเห็นกระบวนทัศน์ใหม่ ทำให้เราได้ย้อนมองเห็นวิธีคิดของพวกเราที่มีต่อการวัด สอบ และประเมินมากขึ้น มาการ์เร็ต วีตเลย์ เธอเปรียบเทียบให้เราเข้าใจในความแตกต่างนี้ โดยเธอเรียกการประเมินแบบที่เราคุ้นเคยพบเห็นกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันนี้ว่า “การประเมินด้วยมาตรฐาน” ส่วนกระบวนทัศน์ใหม่มองว่าการประเมินเป็นเหมือนการปรับพัฒนาตัวเองของระบบชีวิต เธอจึงเรียกการประเมินแบบนี้ว่า "การประเมินที่มีชีวิตด้วยวงจรป้อนกลับ"

การประเมินด้วยมาตรฐานแบบเดิมนั้น กำหนดวิธีการและคำถามคำตอบมาตรฐานขึ้นมาให้ทุกคนตอบเหมือนๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นนักเรียนโรงเรียนไหน กรณีระบบข้อสอบเอ็นทรานซ์ และมาถึงสอบเอ็นที (National Test) คงทำให้เรานึกภาพออก

ขณะที่การประเมินอีกแบบ ซึ่งผมขอเรียกสั้นๆ ว่า “แบบวงจรป้อนกลับ” เป็นการประเมินที่ขึ้นอยู่กับบริบทของเรื่องราว แต่ละสถานการณ์ แต่ละคน ก็มีความเป็นมาและสิ่งแวดล้อมแตกต่างกันและต้องให้ความสำคัญ ไม่อาจใช้ข้อสอบหรือคำถามแบบเดิมใช้ในทุกโอกาสทุกสถานที่กับทุกคนได้

อย่างเช่นในวิชาหนึ่งที่เปิดเรียนกันอยู่ในปีนี้ นักศึกษาได้ฝึกเขียนข้อเสนอโครงการ (Proposal) เพื่อทำโครงการสิ่งแวดล้อมศึกษา ตอนแรกหลายคนเลือกทำโครงการที่คิดว่า “ง่าย” เพื่อจะได้ “คะแนนสูงๆ” หลังจากยืนยันนั่งยันและตกลงกันว่าจะไม่ใช้มาตรฐานเดียวในการวัด เป้าหมายการเรียนไม่ใช่เพื่อแข่งขันกันว่าใครเขียนเอกสารได้ดูดีกว่ากัน แต่ให้แต่ละคนได้ไปตามฝันของตนเอง ได้มีโอกาสเลือก โอกาสเรียน โอกาสทำโครงการที่รู้สึกเชื่อมโยงกับใจ รู้สึกมันว่าใช่ และมีความหมายกับตนเองจริงๆ เพราะเอกสารโครงการที่ข้อมูลครบถ้วน มีชื่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถูกต้อง แต่ไม่มีกึ๋น แข็งทื่อขาดชีวิตจิตวิญญาณ ไม่มีแรงบันดาลใจให้ผู้คนลุกขึ้นมาทำก็ไม่มีความหมายอะไรไปกว่ากระดาษปึกหนึ่ง

ลงท้ายเราจึงได้โครงการที่แต่ละคนเชื่อมั่นกับมันจริงๆ เขียนโครงการราวกับว่าจะได้ทำมันจริงๆ นักศึกษาสาวชาวพื้นเมืองสมุยฝันอยากจัดค่ายเพื่ออนุรักษ์ทะเลที่หมู่บ้านหัวถนนของตนเอง เธอเดินทางกลับไปบ้านสัมภาษณ์คุณพ่อคุณแม่และชาวบ้านถามถึงสถานการณ์ โอกาส และความต้องการจริงๆ ของชุมชน จนคุณแม่ถึงกับดีใจว่าเธอจะมาทำโครงการที่บ้านแล้ว ซึ่งผมว่าเธอจะทำแน่นอนหากมีโอกาส

นักศึกษาชายอีกคนสนใจการเกษตรและเศรษฐกิจพอเพียง ฝันอยากเป็นเกษตรกร ตอนแรกคิดจะทำเรื่องกล่องรับบริจาคขยะรีไซเคิล ก็เปลี่ยนมาเป็นเรื่องของเขาเองจริงๆ หยิบยื่นโอกาสให้ตนเองเดินทางไปค้างแรมกับเจ้าหน้าที่หน่วยงานส่งเสริมที่นครนายก และกำลังจะต่อด้วยการไปหาบุคคลตัวอย่าง ไปพบชาวเมืองที่ผันตัวไปเป็นชาวบ้าน

ส่วนอีกราย อยากลองทำโครงการผลิตหนังสือด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับแจกฟรี ซึ่งก็ไม่ย่อท้อ แม้จะรู้ว่าการทำหนังสือนั้นยากมากที่จะรอด บนแผงหนังสือแท้จริงคือสุสานของหัวนิตยสารต่างๆ มากมาย

เราจะปฏิเสธการเดินทางล่าฝันของเธอและเขาเหล่านั้นได้ละหรือ? คงเป็นการโหดร้ายและไม่ยุติธรรมกับนักเรียน นิสิต นักศึกษาอย่างยิ่ง ถ้าเราใช้กฎเกณฑ์มาตรฐานที่แห้งแล้ง ไร้จิตใจ มากึ่งบังคับกลายๆ ให้เลิกฝัน หยุดจินตนาการ แล้วยอมกายยอมใจให้กับอะไรที่พื้นๆ ที่ทำแล้ว “เสร็จ” แน่ๆ แต่ไร้จิตวิญญาณความเป็นตัวตนจริงๆ ของเธอและเขา

เป้าหมายของการเรียนของเราไม่ใช่เพื่อให้เขาผลิตกระดาษข้อเสนอโครงการที่มีครบถ้วนทุกหัวข้อ (ถ้าทำได้ก็ดี) แต่เขียนเสร็จแล้วก็ไม่ได้คิดจะไปทำจริงๆ ไม่ทำให้เขาเดินทางเข้าใกล้ความฝันของตนเอง ได้เตรียมความพร้อมและพัฒนาตนเองไปเป็นมนุษย์คนที่เขาอยากและภูมิใจที่จะเป็นจริงๆ

สิ่งที่มีความหมายที่สุด คือ ประสบการณ์และสิ่งที่เขาเก็บเกี่ยวได้ระหว่างการเดินทางไปสู่จุดหมายต่างหาก แม้ว่ามันจะล้มลุกคลุกคลานบ้าง ความสำเร็จของคนเราก็มิได้วัดอยู่ที่เกรดวิชาหนึ่งๆ ในระหว่างที่เรียน มากเท่ากับการที่เขาได้ใช้ชีวิตตามที่เขาเชื่อหลังจากจบ ดังนั้นการศึกษาที่มีความหมายคือการเตรียมความพร้อมในการเดินทางให้กับผู้เรียนแต่ละคน

คนที่ฝันอยากเห็นทะเลโทรมที่บ้านกลับมาสวย อุดมด้วยสัตว์น้ำหลากชนิด ปลิงทะเลนานาพันธุ์ก็ควรได้ทำตามฝัน เช่นเดียวกับคนที่อยากเห็นบางลำพูกลับมามีต้นลำพูขึ้นเต็มไปทั้งบางสมชื่อ ใครจะรู้ว่าเพชรในชีวิตที่นักศึกษาผู้มีทักษะการเจียรนัยฝันเหล่านี้เมื่อผลิตขึ้นมาให้โลกเชยชมนั้นจะสวยงามเพียงใด

ทั้งหมดนี้คงจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าเราไม่เปิดใจให้กว้าง ใช้การสอบที่มีแค่มาตรฐานเดียว ไม่เห็นถึงความเป็นมนุษย์ที่แตกต่างกันของแต่ละคน


ถ้าเรามองการสอบเป็นวงจรป้อนกลับ เป็นกระบวนการที่มีไว้เพื่อสะท้อนข้อมูลให้เราเรียนรู้กันได้ดีขึ้นเรื่อยๆ เปิดให้ผู้เรียนได้มีโอกาสที่จะสร้างและกำหนดความหมายด้วยตนเองด้วย กำหนดว่าอะไรที่เขาคิดว่าสำคัญ คิดว่าเป็นประโยชน์ คิดว่าท้าทายความรู้ความสามารถของตน มิใช่ว่าผู้สอนเป็นคนกำหนดมาทั้งหมด

แค่เอาหัวใจของผู้สอนและผู้เรียนใส่เข้าไปในการสอบ ก็เท่ากับได้สร้างโลกการเรียนใบใหม่ขึ้นมาแล้วล่ะครับ :-)

0 comments: