ตีพิมพ์ในคอลัมน์ มหาสมุทรแห่งปัญญา
หนังสือพิมพ์ กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๐


คงยังจำกันได้นะครับว่าสัปดาห์ที่แล้วผมนำเรื่องพลังเบญจพุทธคุณมาเล่าสู่กัน พลังเบญจคุณนี้เป็นการประยุกต์จากแนวคิดของพุทธศาสนาสายวัชรยาน ประเทศทิเบต โดยท่านเชอเกียม ตรุงปะ รินโปเช ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยนาโรปะ และมหาวิทยาลัยเองก็ได้เปิดโอกาสให้อาจารย์ นักศึกษาและบุคลากรได้ฝึกฝนปฏิบัติตามแนวทางพลังเบญจพุทธคุณอยู่เสมอ

ทบทวนกันอีกทีครับ พลังเบญจพุทธคุณนี้ว่าด้วยคุณลักษณะในตัวของเราแต่ละคนทั้ง ๕ ประการ ต่างมีคุณลักษณะหนึ่งใดเด่นชัดในช่วงเวลาสถานการณ์ต่างกันออกไป แต่ไม่ใช่การจำแนกคนออกเป็น ๕ ประเภท พลังเบญจพุทธคุณยังแทนด้วยสัญลักษณ์สี และมีความเป็นธาตุ ได้แก่ วัชระ (Vajra) รัตนะ (Ratna) ปัทมะ (Padma) กรรมะ (Karma) และพุทธะ (Buddha) แทนด้วยสี ธาตุ มีลักษณะที่ปรากฏในภาวะปกติและภาวะสับสน ดังนี้

พลัง สี ธาตุ สัญลักษณ์ ภาวะปกติ ภาวะสับสน
วัชระ น้ำเงิน น้ำ คทา/วัชระ การคิดวิเคราะห์ ยึดมั่นความคิด โทสะ
รัตนะ เหลือง ดิน อัญมณี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เย่อหยิ่ง โลภ
ปัทมะ แดง ไฟ ดอกบัว ความรู้สึก ญาณทัศนะ ราคะ ไม่มั่นคง
กรรมะ เขียว ลม กระบี่ มุ่งมั่นปฏิบัติ เอาแต่ใจ อิจฉา
พุทธะ ขาว ที่ว่าง ธรรมจักร สุขุม เปิดกว้าง เฉื่อยชา ปิดตัวเอง


วิธีการที่มหาวิทยาลัยนาโรปะใช้นั้นคือการทำห้องไมตรี (Maitri room) ขึ้นตามพลังทั้ง ๕ เป็นห้องสีต่างๆ ๕ สี ตั้งแต่ห้องสีน้ำเงิน ห้องสีเหลือง ห้องสีแดง ห้องสีเขียว ไปจนห้องสีขาว นักศึกษาที่ปฏิบัติภาวนาในห้องไมตรีนี้ก็จะต้องได้เข้าไปปฏิบัติให้ครบทั้ง ๕ ห้อง

ดังเช่นหลักสูตรปริญญาโทสาขาจิตวิทยาของมหาวิทยาลัยนาโรปะ ซึ่งเป็นการเรียนการสอนจิตบำบัดในแบบจิตตปัญญาศึกษา(Contemplative Psychotherapy) ที่ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้เข้าใจจิตใจและพัฒนาตัวเองไปพร้อมกับเนื้อหาวิชา ดังนั้น นักศึกษาของหลักสูตรนี้ทุกคนจะต้องได้เข้าร่วมกิจรรมที่ชื่อ Maitri Retreat ทุกปี ถือเป็นส่วนสำคัญของการฝึกปฏิบัติตามหลักสูตร กิจกรรมนี้ประกอบด้วยการฝึกสมาธิอย่างเข้มข้น การสอนสมาธิ การเดินจงกรม การนิ่งสงัดเงียบ และการทำงานกับชุมชน

แน่นอนว่ากิจกรรมการปฏิบัติภาวนา Maitri Retreat นี้ ต้องได้ใช้ห้องไมตรี (Maitri room) เป็นส่วนประกอบสำคัญ โดยห้องไมตรีทั้งห้าถูกออกแบบมาเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการฝึกนักจิตบำบัด โดยถือว่าเป็นการฝึกทางโลก ไม่ได้เป็นการฝึกตนทางศาสนาแต่อย่างใด

การปฏิบัติภาวนาในห้องไมตรีโดยทั่วไปจะปล่อยให้นักศึกษาผู้เรียนเป็นผู้เลือกห้องตามความรู้สึกตามความเหมาะสมของตนเอง ตามที่รู้สึกว่าตนเชื่อมโยงกับพลังหนึ่งใดในเบญจพุทธคุณ ไม่จำเป็นต้องเริ่มตามลำดับที่ห้องวัชระ หรือจากห้องพุทธะก่อน เมื่อเข้าไปในห้องแล้ว นักศึกษาจะนั่งทำสมาธิเป็นระยะเวลาหนึ่ง เพื่อให้ใจสงบและจิตมีกำลัง

หลังจากนั้นต้องจัดวางท่าทางร่างกายตามแบบของพลัง ซึ่งแตกต่างกันไปแล้วแต่ว่าจะเป็นพลังอะไร การอยู่ในท่าของพลังนั้นจะต้องทำต่อเนื่องไปอีกจนกระทั่งครบเวลา ๔๕ นาที

แต่ละพลังเบญจพุทธคุณกำหนดท่าทางจัดวางร่างกายไว้อย่างนี้ครับ สำหรับพลังวัชระ ให้ลงนอนคว่ำ ยื่นแขนซ้ายไปข้างหน้า งอศอกเข้า และวางศีรษะลงบนท่อนแขนซ้าย ตามองไปทางแขนขวาที่ยืดตรงออกไป ทำมุมตั้งฉากกับลำตัว

พลังรัตนะเป็นท่านอนหงาย เหยียดแขนและขาตรง แยกขา กางแขนทั้งสองข้างยื่นตรงทำมุมฉากกับลำตัว ส่วนพลังกรรมะนั้นคล้ายกัน นั่นคือนอนหงาย เหยียดแขนและขาตรง เพียงแต่แขนที่ยื่นออกไปนอกลำตัวนั้นทำมุมประมาณ ๔๕ องศา และนิ้วมือทั้งสิบต้องเหยียดเป็นเส้นตรง เสมือนลำแขนจรดปลายนิ้วเป็นกระบี่

สำหรับท่าทางของพลังปัทมะนั้นต่างออกไป แทนที่จะนอนคว่ำหรือหงาย ก็เป็นการนอนตะแคงขวา แขนซ้ายวางอยู่บนลำตัว ศีรษะวางหนุนอยู่บนแขนขวา แต่ถ้าคิดว่าการทำท่าตามพลังวัชระหรือปัทมะนั้นค่อนข้างแปลกและอาจจะเมื่อยล้าได้แล้วละก็ การวางท่าทางของพลังพุทธะจะพิสดารกว่าท่าอื่นๆ มากที่สุดครับ โดยเริ่มจากนั่งคุกเข่า โก้งโค้งก้มตัวลง ตั้งศอกบนพื้น หงายฝ่ามือทั้งสองออกเป็นลักษณะคล้ายดอกบัวบาน และวางคางลงตรงกลางฝ่ามือทั้งสองข้าง

ในระหว่าง ๔๕ นาทีที่จัดวางร่างกายตามท่าทางของพลังเบญจพุทธคุณ นักศึกษาไม่ต้องคิดหรือต้องทำอะไร รวมทั้งไม่ต้องทำสมาธิด้วย แต่ยินยอมให้เปราะบาง (vulnerable) ปลดปล่อยให้ตนเองได้รับผลจากพื้นที่ ห้อง สี พลัง เป็นการฝึกให้เราลองสัมผัสกับสภาวะทางจิตที่มีเสน่ห์ น่าค้นหา เพื่อจะพัฒนาความกล้าเผชิญ โดยไม่เกรงกลัวต่อสภาวะทางจิตที่เกิดขึ้นสดๆ ดิบๆ ในชั่วขณะนั้น ไม่ว่าจะเป็น โกรธ เกลียด เศร้าซึม สับสน หวาดกลัว เฉื่อยชา หรือ โอบอุ้ม มุ่งมั่น แจ่มชัด เป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติและจักรวาฬ

เมื่อครบกำหนดเวลาแล้ว นักศึกษาก็จะค่อยๆ ลุกขึ้น เดินออกไปจากห้องไมตรี และเดินไปอย่างสะเปะสะปะไม่มีที่หมายด้วย เขาใช้คำว่า Endless wandering เราอาจเรียกได้ว่าเป็นการเดินแบบใหม่ เจริญปุระ คือ เดินเรื่อยเปื่อย ไม่มีจุดหมาย (ฮา) เน้นให้เปิดรับความรู้สึก ไม่เกร็งและไม่ปิดกั้นไม่หน่วงเหนี่ยวความคิด ปล่อยให้รู้สึกถึงพลัง สัมผัสถึงเสียงข้างในตัว ภาษามวยก็ว่าลดการ์ดลง คงความเปราะบาง สร้างโอกาสให้เรามีปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอกอย่างไม่คาดหวัง

หลักสูตรปริญญาโทจิตวิทยาของมหาวิทยาลัยนาโรปะนั้น เขาจัดให้นักศึกษาชั้นปีที่ ๑ และชั้นปีที่ ๒ เข้า Maitri Retreat เป็นระยะเวลาติดต่อกันประมาณ ๑ เดือน โดยให้นักศึกษาปฏิบัติภาวนาในห้องไมตรีแต่ละห้องเป็นเวลา ๕ วัน แต่ละวันจะได้เข้าไปในห้อง ๒ ครั้ง สิริรวมยาวนานถึง ๒๕ วัน ส่วนนักศึกษาในชั้นปีที่ ๓ ซึ่งเพิ่งผ่านการฝึกงานภาคสนามจิตบำบัดมาแล้ว จะทำ Maitri Retreat ร่วมกันเป็นเวลา ๑ สัปดาห์ ทำให้ตลอดสัปดาห์นั้นต่างคนต่างมักมีเรื่องราวมากมายมาแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ร่วมกัน ทั้งสัปดาห์นั้นทุกคนจะนั่งสมาธิทุกวัน วันละอย่างน้อย ๒ ชั่วโมง และเข้าไปใช้เวลาฝึกปฏิบัติพลังเบญจพุทธคุณในห้องทั้ง ๕ นั้น ห้องละ ๑ วัน วันละ ๒ ครั้ง

ในหลายครั้ง ผู้เข้าร่วม Maitri Retreat ด้วยกันอาจสามารถบอกได้เลยว่าใครไปฝึกในห้องไหนมา เพราะแต่ละคน และแต่ละห้อง จะแสดงออกหรือเผยพลังออกมาในลักษณะอาการที่มีแบบแผน (แต่ก็อาจไม่มีแบบแผนก็ได้) แม้ว่าอาจจะมากน้อยต่างกันไป

ยิ่งถ้าการฝึกนี้เป็นการฝึกร่วมกันเป็นชุมชน เป็นสังฆะ แวดล้อมด้วยกัลยาณมิตร ก็จะทำให้ต่างเป็นสะท้อนซึ่งกันและกัน ยกระดับการเรียนรู้ร่วมกันได้

การฝึกพลังและปฏิบัติในห้องไมตรีนี้เอง ทำให้นักศึกษาหรือผู้ฝึกได้รู้จัก ได้เข้าใจตัวเอง เปิดใจและวางใจให้รับเอาผลหรืออิทธิพลของห้องเข้ามาสู่ตัว สามารถสร้างความเชื่อมโยงพลังในแง่ใดแง่หนึ่งกับตัวเอง

และเมื่อเขาเหล่านั้นรู้จักและเข้าใจความซับซ้อน ไร้ระเบียบในตัวเองมากพอ เขาก็อาจจะเรียนรู้ที่จะใช้พลังนั้นอย่างชาญฉลาดและเหมาะสม เพื่อพัฒนาตนเองและช่วยเหลือผู้อื่น

0 comments: