มหกรรมกระบวนกร


ตีพิมพ์ในคอลัมน์ จิตวิวัฒน์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 17 มิถุนายน 2550


หากเปรียบเมืองใหญ่อย่างนิวยอร์ค ลอนดอน โตเกียว หรือ เซี่ยงไฮ้ ว่ามีความเป็น “มหานคร” คือ เป็นนานาชาติ เป็นสากล มีตัวอย่าง ตัวเอก หรือตัวแทนจากวัฒนธรรมต่างๆ อยู่ ไม่ว่าเรื่องเล่า ความเชื่อ ความฝัน แรงบันดาลใจที่มาพร้อมกับผู้คนที่อยู่อาศัย ขุดทอง หรือท่องเที่ยวอยู่ที่นั่น

จากมุมมองเดียวกัน ผมนึกเองขำๆ ว่างานใหญ่อย่าง “มหกรรมกระบวนกร” ที่สถาบันขวัญเมืองจัดมาเป็นครั้งที่ ๖ แล้วนั้น มีความเป็น “มหานคร” ไม่ต่างกัน เพราะมีคุณลักษณะของความเป็นนานาชาติ สากล แถมยังมีตัวแทนของหลายวัฒนธรรม ทั้งยังมีเรื่องเล่า วัฒนธรรม ความฝันและแรงบันดาลใจ อันหลากหลายอย่างยิ่งของคนที่มาร่วมงานเหมือนกัน

งานมหกรรมกระบวนกรที่กล่าวถึงนี้ เป็นการประชุมกระบวนกร (facilitator) จากทั่วทุกภาคในไทยและหลายครั้งก็มีมวลมิตรจากประเทศอื่นด้วย กระบวนกรในที่นี้คือผู้จัดกระบวนการเพื่อการพัฒนาชีวิตด้านใน การเรียนรู้เพื่อให้เกิดสำนึกใหม่ และการเปิดมุมมองใหม่ต่อโลกและชีวิต การมาประชุมร่วมกันนี้ได้รับการเอื้อเฟื้ออนุเคราะห์สถานที่ จัดกิจกรรมและกระบวนการโดยสถาบันขวัญเมืองในฐานะเจ้าภาพและเจ้าบ้าน

แรกเริ่มเดิมทีมหกรรมกระบวนกรนั้นเป็นเสมือนเวทีพบปะกันของผู้ที่เคยผ่านการฝึกอบรม หรือเคยได้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ในตัวกับเหล่ากระบวนกรของสถาบันขวัญเมืองมา ทั้งจากการฝึกอบรมหลักสูตรต่างๆ หรือจากการร่วมสนทนาในเวทีสุนทรียสนทนาต่างวาระโอกาส

แต่มหกรรมกระบวนกรได้พัฒนาขึ้นเป็นลำดับในระยะเวลาอันสั้น สู่เวทีเรียนรู้ร่วม นำเครื่องมือ วิธีการและพิธีกรรม ตลอดจนประสบการณ์ที่ได้ประสบพบเจอจากการทำงานและในชีวิตประจำวัน มาแลกเปลี่ยนสนทนาเล่าสู่กันฟัง ก่อให้เกิดการยกระดับความรู้ของทั้งกลุ่มแบบยกแผง มหกรรมกระบวนกรในครั้งหลังๆ จึงมีความไม่ธรรมดามากขึ้นเรื่อยๆ ใช่เป็นเพียงงานชุมนุมศิษย์เก่า หรือเป็นแค่พื้นที่การประชุมพบปะทั่วไปไม่

เหตุการณ์อันเป็นปรากฏการณ์แห่งวงการฝึกอบรมและพัฒนานี้พาให้ผมนึกถึงวรรณกรรมเลื่องชื่อเรื่องหนึ่งของกิมย้ง ภาพที่เกิดชัดในใจ คือ เวทีชุมนุมจอมยุทธจากทั่วพื้นพิภพ จากหลากหลายสำนักค่ายฝีมือ ไม่ว่าจะเป็น คงท้ง คุนลุ้น ง้อไบ๊ หรือแม้แต่หลวงจีนจากเส้าหลิน ต่างมารวมกัน ณ สถานที่เดียวกัน ณ สำนักบู๊ตึ๊ง เพื่ออวยพรวันเกิดครบรอบร้อยปีของปรมาจารย์เตียซำฮงเจ้าสำนักบู๊ตึ๊ง ขณะที่มหกรรมกระบวนกรนี้คลาคล่ำไปด้วยชาวยุทธกระบวนกรผู้นำการเปลี่ยนแปลงไปสู่กระบวนทัศน์ใหม่

ยิ่งมหกรรมกระบวนกรคราวล่าสุดนี้ให้เผอิญตรงกันกับวันคล้ายวันเกิดของอาจารย์วิศิษฐ์ วังวิญญู บรรยากาศเลยกระเดียดเฉียดไปทางงานแซยิดเตียซำฮงเข้าไปใหญ่

ตัวละครในเรื่องของกิมย้งยังมีสีสันน่าสนใจในเชิงอุปมา ไม่ว่าจะเป็น มังกรเสื้อม่วง อินทรีคิ้วขาว ราชสีห์ขนทอง และค้างคาวปีกเขียว ส่วนมหกรรมกระบวนกรที่จังหวัดเชียงรายนี้เล่าก็กอปรไปด้วยกระบวนกรมากหลายแบบ เมื่อใช้แนวคิดคุณลักษณะคนตามแบบสัตว์ ๔ ทิศของชนพื้นเมืองอเมริกาเหนือหรือชาวอินเดียนแดงมามองผู้เข้าร่วมแต่ละคนแล้ว ผมจึงได้เห็นทั้ง หนูผู้ compromise กระทิงนัก action หมีจอม detail และอินทรีเจ้า project

แต่เอาเข้าจริงๆ แทนที่จะเป็นมหากาพย์ของกิมย้ง มีการประลองยุทธระหว่างสำนัก เสาะหาดาบฆ่ามังกรเพื่อขึ้นครองเป็นเจ้ายุทธภพ กลับกลายเป็นสงครามข้ามกาแลคซี่ เป็น Star Wars ของลุงจอร์จ ลูคัส กวัดแกว่งไลท์เซเบอร์ สว่างวูบๆ วาบๆ แทน
เพราะตลอดงานมีแต่อ้างอิงถึงพล็อตและตัวละครในภาพยนตร์ซีรีส์ทั้ง ๖ ตอน โดยเฉพาะภาคท้ายๆ ของงานมหกรรมมีหัวเรื่องหลัก “วิถีแห่งโยดา” ที่ว่ากระบวนกรผู้นำการเปลี่ยนแปลงสู่กระบวนทัศน์ใหม่ หรือกระบวนกรในแนวทางจิตวิวัฒน์นั้น จะทำหน้าที่บ่มเพาะสร้างอัศวินเจไดรุ่นใหม่ ให้เป็นผู้ที่เข้าใจ เข้าถึง และเป็นหนึ่งเดียวกับ “พลัง” ได้อย่างไร

เล่นเอาคนที่ยังไม่เคยดูต้องขอตัวช่วย ขอคำอธิบายเป็นระยะๆ ว่า โยดา อนาคิน ดาร์ธเวเดอร์ และลุค สกายวอล์กเกอร์ คือใคร ร้อนถึงคอหนังทั้งหลายต้องเปิดวงเล็กอธิบายคร่าวๆ ว่า ในโลกของสตาร์วอร์สนั้น เหล่าอัศวินเจไดคือผู้ที่ฝึกฝนตนเอง เพื่อจะเข้าถึง “พลัง” (The Force) ซึ่งเป็นสนามพลังอันไม่สิ้นสุดสร้างโดยสิ่งมีชีวิตทุกชนิดในจักรวาฬ ที่เหล่าผู้ฝึกจิตมาดีแล้วสามารถนำมาใช้ได้

พลังนี้สามารถนำมาใช้ได้ในรูปแบบของเทเลพาธี (อ่านใจ) ไซโคไคเนซิส (เคลื่อนย้ายวัตถุ)พยากรณ์อนาคต รวมถึงเพิ่มศักยภาพทางกายของผู้ใช้ได้อีกด้วย ดังที่ลุคใช้ในการยิงถล่มเดธสตาร์ในภาคแรกสุด

แต่สิ่งที่เหล่าเจไดต้องระวังอย่างยิ่ง คือ ไม่ให้ตนเองตกไปสู่ด้านมืดของพลัง (Dark side of the Force) ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ หากเกิดความหลง บ้าอำนาจ ไม่นำความรู้ความสามารถนั้นมาใช้เพื่อประโยชน์ตนเอง หรือเกิดจากตนไม่สามารถจัดการกับความโกรธ ความเกลียด หรือความกลัวที่เกิดขึ้นในจิตใจได้

ช่างประจวบเหมาะบังเอิญเหลือเกินที่ผมได้คุยกับ ดร.ปีเตอร์ เฮิร์ทซ์ ถึงเรื่องพลังเบญจพุทธคุณทั้งห้า (The Five Wisdom Energies) ของพุทธสายวัชรยาน อันได้แก่ พลังวัชระ (Vajra) รัตนะ (Ratna) ปัทมะ (Padma) กรรมะ (Karma) และพุทธะ (Buddha) ที่สัมพันธ์กับคุณลักษณะอันประเสริฐ ๕ ประการของพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ คือ ปัญญาเฉียบคม (แทนด้วยสีน้ำเงิน) เอื้อเฟื้ออันอุเบกขา (สีเหลือง) การรับรู้อันลุ่มลึกละเอียดอ่อน (สีแดง) ความมุ่งมั่นในการกระทำอันเด็ดขาด (สีเขียว) และความสุขุมเปิดกว้างรับการเติบโต (สีขาว) ตามลำดับ

อันที่จริงผมก็ได้สนใจและเคยศึกษาเรื่อง ปัญญาห้าสี นี้มาก่อนหน้าอยู่พักหนึ่ง แต่ไม่เคยโยงมาเกี่ยวข้องกับสตาร์วอร์สแต่อย่างใด เมื่อครั้นได้ยินปีเตอร์ พูดออกเสียงพลังแห่งพระโพธิสัตว์อมิตาภะ (ปัทมะ) ว่า พัด-ม่า (Padma) แล้วทำให้ถึงบางอ้อทันทีว่า ท่าทางคุณลุงลูคัสคงมีเจตนาจงใจตั้งชื่อหญิงงามที่เต็มไปด้วยเสน่ห์ ดึงดูดให้ต้องตาต้องใจ น่าเข้าใกล้ (อันเป็นลักษณะของพลังปัทมะ) ว่า แพดเม่ (Padme) ขณะเดียวกัน เธอคือผู้เป็นต้นเหตุนำพามาซึ่งความโกรธ-เกลียด-กลัวการสูญเสียคนรักของอนาคิน ถึงขนาดที่ทำให้เขาตกไปอยู่ในด้านมืดของพลัง เห็นได้ชัดถึงการทำงานของสมองส่วนอมิดาลา (Amygdala) ที่ควบคุมอารมณ์ดังกล่าว จึงให้นามสกุลแก่ตัวละครนี้ว่า อมิดาลา (Amidala)

ท่านอาจารย์ประเวศเคยเรียกปรากฏการณ์ที่มนุษย์ขาดสติ ถูกชุดอารมณ์ลบเข้าครอบงำ สมองส่วนดังกล่าวทำงานหนัก ปิดกั้นการทำงานของสมองส่วนอื่น ทำเอาเห็นช้างตัวเท่าหมู ว่า “ตกบ่วงอมิกดาลา” พอโยงกับสตาร์วอร์สแล้วก็คงเรียกว่า “ตกบ่วงอมิดาลา” ได้เหมือนกัน

หลังจากที่อนาคินยินยอมพร้อมใจขายวิญญาณให้แก่ฝ่ายจักรวรรดิ กลายเป็นดาร์ธ เวเดอร์ จักรภพก็เดือดร้อนมากขึ้นไปอีกทุกหย่อมหญ้า ทำให้เหล่าอัศวินเจไดต้องฝึกฝนและเรียนรู้อย่างหนักเพื่อนำสมดุลกลับมาสู่พลัง (Bring balance to the Force) และสันติภาพมาสู่โลกและจักรวาฬ

อันเป็นโจทย์เดียวกันกับเหล่ากระบวนกรที่มาประชุมกันในงานมหกรรม

สิ่งที่น่าตื่นเต้น น่าทึ่ง และชวนติดตามของมหกรรมกระบวนกร ยิ่งกว่าสตาร์วอร์สทุกภาครวมกัน ก็คือ การได้เห็นอัศวินเจไดและโยดาโลดแล่นอยู่ในชีวิตจริง ลอง(จาก)ผิดลอง(จน)ถูก ฝึกฝนแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในบริบทที่หลากหลาย ทั้งภาคธุรกิจ องค์กรพัฒนาเอกชน สถานบริการสาธารณสุข สถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัย ไปถึงระดับครอบครัวและปัจเจกชนคนรักอิสระ

และที่สำคัญที่สุดคือ สตาร์วอร์สทำมา ๖ ภาคก็ยุติลง ส่วนงานมหกรรมกระบวนกรจัดมา ๖ ครั้งแล้ว มหากาพย์การเดินทางจากจิตตื่นรู้ สู่การยกระดับจิตร่วม (Collective Consciousness Stage) เพิ่งจะเริ่มต้นเท่านั้นเอง ...

(เชิญร่วมสร้างสรรค์โลกใบใหม่ได้ที่ “วงน้ำชา” www.wongnamcha.com)

0 comments: