ตีพิมพ์ในคอลัมน์ มหาสมุทรแห่งปัญญา
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 10 มิถุนายน 2550


สิ่งหนึ่งที่เป็นลักษณะเด่นของมหาวิทยาลัยนาโรปะ ที่เป็นมหาวิทยาลัยแนวพุทธทางตอนกลางของประเทศสหรัฐอเมริกา คือ ความรุ่มรวยไปด้วยสิ่งที่เราอาจเรียกว่า ของเล่น เครื่องมือ กระบวนการ หรือ หากจะเรียกให้ทันยุคก็คือ นวัตกรรมทางการเรียนรู้ ซึ่งก็คือช่องทางการพัฒนาการเรียนรู้อย่างรอบด้าน หรือเป็นบูรณาการของนักศึกษา ช่องทางเหล่านี้นำมาซึ่งคำอธิบายวิธีและวิถีการพัฒนาที่มีได้หลากหลายจริต รูปแบบและจังหวะ

เปรียบเทียบมหาวิทยาลัยแห่งนี้ในบางมุมก็อาจบอกว่าคล้ายกับประเทศไทยสมัยโบราณที่การเดินทางไปยังที่ต่างๆ ในโลกยังอาศัยเทคโนโลยีพื้นฐาน เช่น เรือ หรือยานพาหนะลากด้วยสัตว์ สมัยนั้นคาบสมุทรอินโดจีนเป็นเหมือนพื้นที่อันอุดมอันเป็นทางผ่านของสองอารยธรรมที่ยิ่งใหญ่ของเอเชีย คือ จีนและอินเดีย เราสามารถมองเห็นร่องรอยของชุดความเชื่อ ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี รวมไปถึงแนวคิดความเชื่อเรื่องศาสนาและการเรียนรู้จากดินแดนทั้งสอง

มหาวิทยาลัยนาโรปะในปัจจุบันก็เหมือนอยู่ตรงกลางรอยเชื่อม หรือสะพานระหว่างหลายอารยธรรมเช่นกัน ทั้งจากวิทยาศาสตร์แนวใหม่ที่เกิดขึ้นด้วยความเข้าใจที่เพิ่มขึ้นจากวิทยาศาสตร์ยุคนิวตัน-เดส์การ์ตส์ จากวัฒนธรรมชนพื้นเมืองอินเดียนแดง และจากพุทธศาสนาโดยเฉพาะอย่างยิ่งสายวัชรยาน ผ่านทางท่านเชอเกียม ตรุงปะ รินโปเช ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัย

ตัวอย่างของเครื่องมือหรือกระบวนการเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ที่เกิดจากการผสมผสานทางวัฒนธรรม อย่างเช่น การจัดนิเวศภาวนา (Eco Quest) พัฒนาขึ้นมาจากฐานพิธีกรรม Vision Quest ซึ่งเป็นพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ เป็นพิธีกรรมเปลี่ยนผ่านวัยจากวัยรุ่นสู่วัยผู้ใหญ่ของชนพื้นเมืองอินเดียนแดงในทวีปอเมริกาดั้งเดิม ก่อนที่ชาวยุโรปจะอพยพเข้ามา

ด้วยตำแหน่งที่ตั้งมหาวิทยาลัยอยู่ใกล้สถานที่ทางธรรมชาติที่มีพลัง ทำให้การจัดนิเวศภาวนาเกิดขึ้นและเป็นไปได้ง่าย นักศึกษามีโอกาสได้ทดลอง ได้ผ่านประสบการณ์จากกระบวนการนี้ในที่หลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็น อุทยานแห่งชาติแคนยอนแลนด์ ในรัฐยูท่าห์ หรือเมืองเครสโตน โคโลราโด

มีนวัตกรรมทางการเรียนรู้หนึ่งอันมาจากความเชื่อสายทิเบต และค่อนข้างมีเอกลักษณ์มากจนอยากจะนำมาเล่าสู่กันฟัง ก็คือ ไมตรีรูม (Maitri Room) หรือห้องไมตรี อาจจะเรียกว่าเป็นห้องแห่งความเป็นมิตรก็ได้ ห้องไมตรีนี้เป็นส่วนหนึ่งของโปรแกรมการฝึกพลังเบญจพุทธคุณทั้ง ๕ (Five Wisdom Energies Practice) (บางท่านได้แปลว่าพลังปัญจพุทธกุล หรือเบญจคุณ)

ห้องไมตรีนี้เกิดจากความสนใจของท่านเชอเกียม ตรุงปะ ที่ต้องการจะผสมผสานการบำบัดเยียวยาแนวร่วมสมัยให้เข้ากับคำสอนทางพุทธศาสนาสายวัชรยาน โดยออกแบบการฝึกด้วยการใช้ท่าทางเฉพาะ ภายในห้อง ๕ ห้อง ซึ่งแต่ละห้องออกแบบใช้สีต่างๆ กันทั้งหมด ๕ สี

พื้นฐานความคิดเรื่องนี้มาจากคำสอนเกี่ยวกับพลังเบญจพุทธคุณทั้ง ๕ อันเป็นคำอธิบายถึงแบบแผนพลังชีวิตต่างๆ ๕ ประการที่มีอยู่ทั้งในและนอกตัวเรา และแสดงออกมาในการดำเนินชีวิตของเราตลอดเวลา โดยพลังทั้ง ๕ นี้ เป็นพลังของพระพุทธเจ้าทั้ง ๕ พระองค์ทางวัชรยาน ใช้สัญลักษณ์แทนแต่ละพลังด้วยสีต่างๆ กัน ๕ สี บ้างจึงเรียกว่า ปัญญาห้าสี

พลังเบญจพุทธคุณทั้ง ๕ ในห้องไมตรีแต่ละห้องนี้ได้แก่ วัชระ (Vajra) รัตนะ (Ratna) ปัทมะ (Padma) กรรมะ (Karma) และพุทธะ (Buddha) ทว่า เมื่อพลังทั้ง ๕ มีด้านที่ให้คุณก็ย่อมจะมีแง่มุมที่ให้โทษเช่นกันเมื่อพลังนั้นอยู่ในภาวะที่กดดันสับสน เราลองมาสำรวจห้องไมตรีที่มีพลังเบญจพุทธคุณแต่ละอย่างไปทีละห้องด้วยกันครับ

พลังแรกคือ พลังวัชระ แทนด้วยสีน้ำเงิน พลังวัชระนั้นเปรียบดังอาวุธที่คมและแข็งแกร่งยิ่งกว่าเพชร เต็มไปด้วยความสามารถในการคิดวิเคราะห์และใคร่ครวญ มีพลังของการวิพากษ์วิจารณ์และสะท้อนความเห็น เป็นลักษณะของความกระจ่างชัดเหมือนน้ำที่สะท้อนฉายภาพสิ่งต่างๆ ในสภาวะที่ปกติ พลังวัชระคือการมีความคิดการตัดสินใจว่องไว ผ่องใส ปราศจากอคติ แต่ในภาวะที่สับสน กลับเป็นการยึดมั่นกับความคิดของตัวเองสูง ถือความคิดของตัวเป็นใหญ่ และมีโทสะ

พลังต่อมาคือ พลังรัตนะ แทนด้วยสีเหลือง เป็นพลังที่โอบอุ้มและหล่อเลี้ยง มีความอ่อนโยนและการให้โดยไม่มีข้อแม้ การเผื่อแผ่แบ่งปัน เปรียบได้ดั่งธาตุดินที่เป็นแหล่งบ่มเพาะให้พืชพันธุ์งอกเงยเติบโต ในสภาวะปกติพลังรัตนะจะเป็นความใจกว้าง เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แต่เมื่ออยู่ในสภาวะที่สับสนจะตามใจตัวเอง ต้องการครอบครอง เป็นความเกินพอดี เย่อหยิ่งโอ้อวด และโลภ

พลังในลำดับต่อมาคือ พลังปัทมะ แทนด้วยสีแดง เป็นพลังของเสน่ห์และมีแรงดึงดูด มีความสามารถในการใช้ญาณทัศนะ พลังปัทมะจึงเสมือนกับธาตุไฟที่มีความเคลื่อนไหววูบวาบ ดึงดูดสายตาและน่าสนใจ แต่ในขณะเดียวกันก็อาจเผาไหม้ทำลายสิ่งต่างๆ ได้ ในสภาวะปกตินั้น พลังปัทมะจะมีคุณลักษณะการรับฟัง การเห็นความสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างผู้คน สามารถสังเกตและรู้สึกได้ถึงสิ่งเล็กๆ น้อยๆ แต่เมื่ออยู่ในสภาวะที่สับสน พลังปัทมะจะเป็นความรู้สึกที่ไม่มั่นคง เจ้าราคะ ยึดติดกับการจมดิ่งในอารมณ์เข้มข้นแบบใดแบบหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นตื่นเต้น สุขหรือโศกเศร้าก็ตาม

สำหรับพลังต่อมาแทนด้วยสีเขียว คือ พลังกรรมะ เป็นพลังของความกระตือรือร้น ไม่หยุดอยู่นิ่ง ชอบประดิษฐ์และสร้างสรรค์ เป็นการได้ลงมือกระทำ พลังกรรมะจึงสัมพันธ์กับธาตุลม ลมที่พัดพาความชุ่มชื้นมาให้ หรือกลายเป็นลมพายุรุนแรงได้ เพราะในสภาวะปกตินั้น พลังกรรมะเป็นนักปฏิบัติ มีความมั่นใจในความสามารถ เห็นสถานการณ์ในรอบด้านจึงแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้อย่างเหมาะสม แต่เมื่ออยู่ในสภาวะที่สับสนจะกลายเป็นเอาแต่ใจตนเป็นใหญ่ มีอารมณ์หงุดหงิดฉุนเฉียว และอิจฉาริษยา

พลังสุดท้ายในเบญจพุทธคุณคือ พลังพุทธะ ถูกแทนด้วยสีขาว เพราะมีคุณลักษณะดั่งเป็นพื้นที่ว่าง ช่วยทำให้เกิดการไหลเลื่อน และทำหน้าที่รองรับพลังอื่นๆ ทั้ง ๔ พลังพุทธะมีลักษณะเปิดรับ สามารถรองรับและยอมรับความเป็นไปได้ต่างๆ ในสภาวะปกติ พลังพุทธะจะมีความสุขุมรอบคอบ เป็นมิตร พึงพอใจในการเป็นอยู่อย่างธรรมดา แต่ในสภาวะที่สับสนจะซบเซาเฉื่อยชาและน่าเบื่อ ขี้อายและไม่กล้าลองอะไรใหม่ๆ

พลังเบญจพุทธคุณนี้ไม่ได้เป็นการจำแนกคนออกเป็น ๕ ประเภทนะครับ (แม้ว่าบางคนจะมีลักษณะเข้ากั๊นเข้ากันกับบางพลังก็ตาม) เพราะว่าเราหาได้มีเพียงคุณลักษณะของพลังใดอย่างเดียว แต่ประกอบกันขึ้นจากพลังทั้ง ๕ เพียงแต่ว่าจะมีลักษณะใด มีคุณสมบัติไหนปรากฏเด่นชัดมากกว่าในแต่ละช่วง แต่ละเวลา แต่ละขณะของชีวิตเราเท่านั้น

สีทั้ง ๕ นี้ นอกจากเป็นสัญลักษณ์แทนพลังเบญจคุณ อันเปรียบเสมือนพระพุทธเจ้าทั้ง ๕ พระองค์ของวัชรยานแล้ว มหาวิทยาลัยนาโรปะยังมีธงสีทั้ง ๕ โบกสะบัดอยู่หน้ามหาวิทยาลัยอีกด้วย เสมือนว่าธงเป็นตัวแทนสื่อถึงปรัชญาการศึกษาที่ส่งเสริมการเรียนรู้มุ่งสู่ปัญญาอันสมดุลทั้งกายและใจ สมดุลที่กลมกลืนผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมตะวันตกและพุทธศาสนาจากตะวันออก

สำหรับการฝึกปฏิบัติในห้องไมตรีแต่ละสี เพื่อพัฒนาพลังเบญจพุทธคุณแต่ละด้านเป็นอย่างไรนั้น โปรดอดใจรอติดตามต่อในสัปดาห์หน้าครับ :-)

0 comments: