ตีพิมพ์ในคอลัมน์ มหาสมุทรแห่งปัญญา
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 24 มิถุนายน 2550


เมื่อหลายวันที่ผ่านมา ผมใช้เวลาช่วงต้นฤดูฝนอยู่ที่วัดป่าสุคะโต อำเภอแก้งคร้อ จังหวัดชัยภูมิ เพราะได้รับความไว้วางใจให้เป็นวิทยากรร่วมใน โครงการการเดินทางสำรวจโลก (Earth Expeditions) ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยมหาวิทยาลัยไมอามี่ สวนสัตว์ซินซิเนติ ร่วมกับมูลนิธิโลกสีเขียว ปีนี้ก็เป็นครั้งที่ ๓ แล้วครับ

โครงการฯ ได้รับสมัครและพากลุ่มครู ๒๐ กว่าชีวิตจากประเทศสหรัฐอเมริกาเดินทางเข้ามาเมืองไทย เพื่อศึกษาเรียนรู้จากประสบการณ์จริงตามหัวข้อเรื่อง “พุทธศาสนากับการอนุรักษ์ธรรมชาติ” (Buddhism and Conservation) แม้ทั้งหมดจะเป็นครูชาวอเมริกัน แต่ต่างก็เป็นผู้สนใจในพระพุทธศาสนา การอนุรักษ์ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมศึกษา รวมถึงการนำเรื่องจิตตปัญญาศึกษา (Contemplative Education) หรือการเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญเข้าไปใช้ในการเรียนการสอนในโรงเรียนของตน

ในสองครั้งก่อนหน้านี้ โครงการจัดกิจกรรมส่วนใหญ่ที่ดอยหลวงเชียงดาว ส่วนปีนี้หลังจากอยู่กับธรรมชาติที่เขาใหญ่แล้ว ทุกคนก็เดินทางเข้าสู่จังหวัดชัยภูมิ เพื่อศึกษาแนวคิดทางพุทธศาสนาจากหลวงพี่ไพศาล วิสาโล ครูแต่ละคนได้ผ่านกระบวนการต่างๆ ให้ได้เข้าใจสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติพร้อมไปกับได้เรียนรู้ที่จะติดตาม เข้าใจ และสะท้อนความคิดความรู้สึกระหว่างกัน โดยเฉพาะการได้เรียนรู้จากตัวเอง จากการเดินเท้าในป่า การปลูกป่า การอยู่คนเดียวในป่าท่ามกลางยุงและพายุฝนเป็นเวลานาน สุนทรียสนทนา และฟังธรรมบรรยาย

ผมได้จัดกิจกรรมขึ้นมาสองเกมให้กับคณะครูกลุ่มนี้ เพราะเชื่อว่าน่าจะถูกอกถูกใจชาวอเมริกันอยู่บ้าง ถึงแม้ว่าจะเป็นเกมว่าด้วยการเจริญสติ แต่ก็เข้าข่ายเชิงประยุกต์ปรับให้ง่ายและสนุก อีกทั้งครูเหล่านี้อาจจะเอาเกมที่ตนเล่นไปใช้กับเด็กนักเรียนได้ เมื่อต่างคนต่างเคยเล่นเกมกันแล้ว ย่อมเข้าใจดีว่าจะปรับหรือเพิ่มเติมดัดแปลงอย่างไรให้เข้ากับวัฒนธรรมหรือสไตล์ของตน

เกมแรกเชื่อว่าหลายคนอาจคุ้นเคยจากกิจกรรมรับน้องในรั้วมหาวิทยาลัย ผมให้ชื่อว่า “คำมั่นสัญญาณ” (ฝรั่งเรียก “Simon Says”) เริ่มต้นโดยครูทุกคนจะยืนล้อมรอบกันเป็นวงกลม เงี่ยหูตั้งใจฟังคำสั่งจากคนนำเกมที่ออกคำสั่งให้พวกเขาขยับเคลื่อนไหวร่างกาย หรือทำสิ่งต่างๆ นานา อาทิ นั่งลง แตะตัวคนข้างๆ หรือว่า ปรบมือ คนนำพูดช้าบ้าง เร็วบ้าง เว้นจังหวะทอดยาวก่อนเริ่มคำสั่งใหม่บ้าง หรือเริ่มคำสั่งใหม่มาติดๆ หลังจบคำสั่งก่อนหน้า แต่ครูเขาไม่ต้องทำตามทุกคำสั่งหรอกครับ

เพราะครูทุกๆ คน (ผู้ที่ตอนนี้กลายเป็นนักเรียนว่านอนสอนง่ายสั่งอะไรก็ทำตามไปหมดแล้ว) ต้องคอยสังเกตจับคำที่บอกไว้ว่าเป็น “สัญญาณ” อย่างที่เช่น กำหนดให้เป็นคำว่า “ทุกคน” พอเอ่ยประโยคคำสั่งว่า “ขอให้ทุกคนยืนขาเดียว” อเมริกันทุกคนก็ต้องรีบยืนกระต่ายขาเดียว แต่ถ้าบอกว่า “เอาสองมือไว้บนหัว” ไม่มีคำสัญญาณไม่ต้องทำตาม แต่ในขณะที่เล่นเกมก็มีคนเผลอ ทำตาม บ้างไม่ได้ทำตาม พาลไปทำอย่างอื่นนอกคำสั่งเลยก็มี

หลังเกมนี้เราต่างแลกเปลี่ยนสะท้อนให้เห็นกันและกันว่า พวกครูของเราส่วนมากมักจะทำผิดเพราะเหตุ ๒ อย่าง อย่างแรกคือ ถ้าไม่เพราะเหม่อ ใจลอย ก็เผลอไปคิด นึกถึงเรื่องโน้นเรื่องนี้ ตอนตัวอยู่ในวงใจกลับลอยไปที่อเมริกา หรือลอยไปหากาแฟของว่าง หูได้ยินเสียง แต่ไม่ได้ยินคำสั่งอะไร ไม่ก็คิดไปเรื่อย

อย่างที่สองซึ่งมักจะทำให้พลาดไม่ได้ทำตามคำมั่นสัญญาณกันก็คือ เพ่งจ้อง กรณีนี้ครูบางคนตั้งใจมาก เอาจริงเอาจังกับเกม ทำให้มีใจไปจดจ่อกับคำสั่งโดยเฉพาะสัญญาณมากเป็นพิเศษ ภาวะที่เกิดขึ้นจึงเป็นความรู้สึกหนัก กดดัน ไม่สบายผ่อนคลาย แทนที่จะดีที่คอยตะแคงหูจับเสียง ดันกลายเป็นว่าแม้ได้ยินคำสัญญาณแล้วก็ยังเพ่งจ้องคำนั้นอยู่ พอประโยคไปถึงคำสั่งว่าให้ทำอะไรกลับจำไม่ได้เสียแล้วว่าเขาให้ทำอะไร รู้แต่ว่าจะรอดักฟังคำสัญญาณ อย่างนี้ก็พลาดเอาง่ายๆ

ผ่านกิจกรรมแรกไปแล้ว ได้แลกเปลี่ยนจนรู้สึกอิน (in) เข้าใจและคุ้นเคยกับเรื่องการเหม่อ-เผลอคิด และการติดเพ่งจ้องกันแล้ว ผมก็ให้มาเล่นเกมต่อไป เกมนี้มีชื่อว่า “เมล็ดพันธุ์แห่งสติ” (Seed of Mindfulness) ซับซ้อนกว่าเกมแรกหน่อยตรงที่เรามีอุปกรณ์ประกอบการเล่น เป็นเมล็ดถั่วเขียวและถ้วยเล็กๆ จะเป็นพลาสติกหรือเซรามิกก็ได้ คนละสองใบ แต่หากใครสนใจจะนำไปใช้เล่นเองหรือนำกิจกรรมนี้บ้าง จะใช้เม็ดข้าว เม็ดมะขาม หรืออะไรก็ได้ที่ใกล้เคียงกันครับ เพราะเราจะใช้เมล็ดพืชเมล็ดพันธุ์ทั้งหลายนี้เอาไว้ให้หยอดลงถ้วยเล็กใบนั้น ของใครของมัน

หลังจากทุกคนเสาะหามุมที่ชอบในละแวกใกล้พอเห็นและได้ยินถึงกัน แยกย้ายหย่อนตัวลงนั่งและวางถ้วยไว้เบื้องหน้ากันแล้ว ผมแจกเมล็ดถั่วเขียวให้คนละกำมือใส่ในถ้วยใบแรก เปิดเพลงบรรเลงสบายๆ ให้ฟัง บอกว่าให้เอาจิตไปไว้กับการฟัง แล้วดูความเคลื่อนไหวของจิตตนเอง อันเป็นธรรมชาติของมันที่จะไม่อยู่นิ่ง

เมล็ดถั่วเขียวในมือกลายเป็นแต้มคะแนน ตัวเองเป็นทั้งกรรมการและผู้เล่นในสนาม เมื่อกรรมการจับได้ว่าผู้เล่นหรือตัวเองนั้นได้ขาดสติไปรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งใน ๒ ข้อ ก็สามารถได้คะแนนโดยหย่อนเมล็ดถั่วเขียวลงไป ๑ เมล็ดในถ้วยใบที่สอง

ขาดสติแบบแรกคือเหม่อ-เผลอคิด กำลังนั่งอยู่ดีๆ นึกได้อีกที เอ๊ะเมื่อครู่ฟุ้งซ่านไปนึกฝันถึงอะไรทำให้จิตใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัวในขณะที่นั่งอยู่ในวัดป่ากับสิ่งที่กำหนดให้จิตไปรู้ คือ เสียงเพลง ก็หย่อนไว้ ๑ เมล็ด หรือ จู่ๆ รู้สึกตัวขึ้นได้ว่าเมื่อกี๊นึกถึงงานภาระคั่งค้างที่โรงเรียน ใจไม่ได้อยู่เมืองไทย ก็หยอดไปอีก ๑ เมล็ด ให้คะแนนแก่การจำได้ (และจับได้) ถึงอารมณ์ความไม่รู้ตัวของเรา

ส่วนการขาดสติแบบที่สองคือเพ่งจ้อง สภาวะตอนที่เพ่งจ้องนั้นจะเป็นอาการเกร็งๆ รู้สึกหนักๆ ตื้อๆ ช้าๆ ไม่ว่องไว ขณะที่นั่งพลันรู้สึกได้ว่าจดจ่อดูใจว่าจะคิดจะใจลอยหรือไม่จนใจหนักอึ้ง ก็หย่อนเมล็ดถั่วเขียวลงไป สังเกตใจจนมือไม้ที่ถือกำถั่วเขียวเขม็งเกร็ง รู้ตัวแล้วก็เติมถั่วเขียวลงถ้วยอีกเมล็ด ให้คะแนนแก่ความจำอารมณ์จดจ่อเพ่งจ้องของเราได

หลังจากเพลงแรกผ่านไป ผมเปิดเพลงที่มีเนื้อร้องบ้าง บางคนบอกว่า “หลุด” บ่อยขึ้น เพราะว่ามีเนื้อทำให้ใจพยายามไปตามฟัง ตามคิด ติดไปกับเนื้อเพลง ไม่ค่อยได้อยู่กับตัวนัก ส่วนเพลงที่สาม ผมให้เอาใจมาไว้ที่ลมหายใจแทน ซึ่งบ้างก็ว่าง่ายกว่า เพราะดนตรีช่วยให้ผ่อนคลาย บ้างก็ว่ายากกว่า เพราะมัวแต่จะไปฟังเพลงเลยจิตไม่อยู่กับลมหายใจ สำหรับเพลงสุดท้าย ให้เอาจิตไว้ที่ลมหายใจเหมือนเดิม แต่คราวนี้เปิดเพลงแนวคันทรีมีเนื้อร้องสนุกสนาน พร้อมผมเองแกล้งเต้นออกท่าทางชวนให้เผลอด้วย ยากขึ้นไปอีกแบบ

ตลอดเวลาร่วมยี่สิบนาทีที่ต่างคนต่างหยอด บรรยากาศเสียงเพลงหลากหลายนั้นจะอบอวลไปด้วยเสียงกรุ๊งกริ๊งของเมล็ดถั่วเขียวกระทบถ้วย บางคนบ้างก็หย่อนเสียงรัว บ้างก็นานๆ จะดังกรุ๊งกริ๊งสักที เกิดเป็นสุ้มเสียงสำเนียงเสนาะที่น่าสนใจและไม่ซ้ำใครขึ้นมา

ตอนท้ายผมพาทุกคนมาล้อมวง ถอดบทเรียนร่วมกัน เกิดความรู้กันขึ้นมาว่าบางทีที่เราความชื่นชมเพื่อนที่ตลอดทั้งช่วงมีเสียงลงถ้วยไปไม่กี่เมล็ด แสดงว่าหลุดน้อยนั้น อาจไม่เป็นดังว่า เพราะเจ้าของถ้วยที่นานทีมีเสียงหน หาใช่มีสติรู้เนื้อรู้ตัวมาก แต่เพราะหลุดยาว ปล่อยเหม่อ-เผลอคิดนาน ใจลอยไปถึงไหนต่อไหนและเพลิดเพลินอยู่ในความคิดนั้น พอได้สติรู้ตัวสักทีจึงจะหย่อนลงไป ไม่ได้เป็นสติดีไปกว่าคนที่หย่อนถี่ๆ เลย

กิจกรรมนี้ผมพัฒนามาจากกิจกรรมในชื่อเดียวกันของคุณแม่อมรา สาขากร นะครับ ท่านได้ฝึกอบรมการเจริญสติมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ทั้งที่มูลนิธิสวนพุทธธรรมและหน่วยงานต่างๆ ที่เชิญไปบรรยายและนำกิจกรรม ต่างกันตรงที่กิจกรรมของท่านเน้นที่ “ความไม่ประมาท” ให้เรารู้จักการตกหลุมกรรมหลุมยถากรรม

ตอนท้ายของกิจกรรมในโครงการ เพื่อนครูฝรั่งอเมริกันสะท้อนว่าทั้ง ๒ กิจกรรมนี้เขานำไปทำได้ไม่ยากเลย และตั้งใจว่าจะเอาไปให้นักเรียนในชั้นของตนได้ฝึกได้เล่นบ้าง ให้เด็กๆ ที่นั่นได้รู้จักการเจริญสติในรูปแบบเกมที่สนุกสนานและทำได้ไม่ยากกัน

ขนาดครูฝรั่งยังบอกว่ากิจกรรมนี้ง่าย ผมว่าเราชาวไทยแต่ละคนก็นำไปฝึกฝนเอง หรือชักชวนเพื่อนพ้องน้องพี่มาเล่นด้วยกันได้ ... ไม่ยากครับ :-)

0 comments: