แจกันจัดใจ (๑)


ตีพิมพ์ในคอลัมน์ มหาสมุทรแห่งปัญญา
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 5 สิงหาคม 2550


แปลกดีครับ ผมเพิ่งจะเขียนบทความกล่าวขวัญถึงผู้คนรู้จักรอบข้างจำนวนมาก ว่าล้วนเป็นนักวิทยาศาสตร์หรือมีความเป็นนักวิทยาศาสตร์อยู่มาก และดูเหมือนหลายคนในจำนวนนี้ร่วมมุมมองเดียวกัน เห็นว่าสารเคมี พืชและสัตว์ทดลองนั้นจัดการได้ง่ายกว่ากับมนุษย์ด้วยกันเอง บ้างก็ชอบทำงานหรือใช้เวลา ใช้ชีวิตกับสิ่งเหล่านี้ที่ไม่ใช่มนุษย์มากกว่า

ครั้นมาถึงสัปดาห์นี้ ผมรู้สึกว่ามีอะไรบางอย่างที่โดนกับตนเองครับ แต่ไม่ถึงขนาดจะไปเป็นเรื่องงานจัดการหรือทำการทดลองกับหนู ปู ปลา ไก่ (ที่มหาวิทยาลัยมีทดลองทั้งหมด) นะครับ แค่รู้สึกว่าบางทีคนก็จัดการยากไม่น้อยเหมือนกัน

คนที่ว่ายากนั้นก็มิใช่ใครที่ไหนหรอกครับ รู้จักกันมาหลายสิบปีแล้ว แต่ถึงจะนานแค่ไหน บางทีเราก็ไม่เข้าใจ ไม่รู้เอาใจอย่างไรกันดี

เหตุการณ์ที่ชักพาไปให้ผมได้รู้สึกโดนนี้ เกิดขึ้นเมื่อช่วงหยุดยาวเข้าพรรษา-อาสาฬหะ ในการอบรมเชิงปฏิบัติการ “การจัดดอกไม้อิเคบานา ตามแนวคิดของท่านโมกิจิ โอกาดะ” ที่มูลนิธิเอ็มโอเอไทย จังหวัดลพบุรี โน่นแน่ะครับ ที่นั่นบรรยากาศน่าประทับใจมาก สะอาดเรียบร้อยกว้างขวาง เป็นระเบียบ รอบตัวอาคารเป็นสวนผักและสวนดอกไม้งดงามตามธรรมชาติ

เพื่อนร่วมเรียนครั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นอาจารย์และนักวิชาการในเครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา เกือบทุกคนบอกว่าไม่เคยรู้มาก่อนว่าการจัดดอกไม้มีขั้นตอนวิธีการและแนวคิดเบื้องหลังน่าสนใจขนาดนี้ จากเดิมที่บางคนอยู่ที่บ้านจัดดอกไม้ด้วยวิธีตัดๆ ปักๆ พอให้เสร็จๆ เราพบว่ากระบวนการจัดดอกไม้อิเคบานา มีถึง 14 ขั้นตอน เป็นการเตรียมการจัดดอกไม้ 2 ขั้น และเป็นการจัดดอกไม้อีก 12 ขั้นตอน ดูเหมือนเยอะ ดูเหมือนยาก แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว ง่ายมากครับ อธิบายกันเพียงชั่วครู่เดียว ก็ได้เริ่มลองปฏิบัติจริงแล้ว และก็ผ่านการปฏิบัติจริงนี่เองที่เราได้เรียนรู้และเข้าใจทฤษฎีกันอย่างลึกซึ้ง ช่วงที่ไปฝึกสามวันสองคืน ทุกคนได้จัดสิบกว่าแจกัน ทั้งเล็กทั้งใหญ่ ทั้งสูงทั้งเตี้ย แบบดอกเดียวและหลายดอก ทั้งฝึกหัดและได้จัดในสถานที่จริงด้วย

ผมพบว่าการเลือกดูดอกไม้สำหรับจัดลงแจกันนั้น ไม่ใช่การคิดออกแบบเอาไว้ในใจ หรือนึกเทียบเคียงตามทฤษฎีศิลปะการจัดวาง แต่หลักสำคัญคือ "เพียงแค่ดูดอกไม้ทั้งหมดตามสภาพจริง" เป็นการฝึกให้เรา "ดู" ดอกไม้ให้ดี ซึ่งจะทำให้เรา "เข้าใจ" ดอกไม้ได้อย่างแท้จริงอย่างถูกต้อง โดยที่ไม่นำเอาความคิดของเรามาปรุงแต่งหรือให้ความหมาย

เรื่องนี้ท่านโอกาดะเคยกล่าวไว้ว่าต้องเข้าถึงภาวะที่เรียกว่า "ตัวตนชั่วขณะ หมายความว่า ไม่มีทั้งอดีตและอนาคต ไม่ใช่สิ เป็นตัวของเราเองในปัจจุบันที่มีสติ เป็นจิตที่บริสุทธิ์ ในกรณีที่มองเรื่องต่างๆ ด้วยสติของเรา อันดับแรกจะต้องเป็นการมองตามสภาพจริงที่ไม่มีอะไรมาขวางกั้น"

เจออย่างนี้เข้า ผมเองก็ออกอาการหนักเลยละครับ แต่ไหนแต่ไรนักวิทยาศาสตร์ถูกฝึกมาเพื่อระบุพันธุ์และประเภทของพืช จัดอยู่กลุ่มไหน มีดอกหรือไม่ ใบเลี้ยงเดี่ยวหรือใบเลี้ยงคู่ ผลเดี่ยว ผลกลุ่มหรือผลรวม นึกไปถึงการจัดเรียงตัวของท่อลำเลียงน้ำและลำเลียงอาหาร เห็นสีเขียวก็นึกถึงชั้นของคลอโรฟิลล์ ในเม็ดคลอโรพลาสต์ที่วิ่งวนๆ ในเซล เห็นสีส้มสีแดงก็นึกถึงโครงสร้างแคโรตินอยด์ เห็นดอกบางดอกแล้วเห็นแผนภูมิ Dichotomous Key ที่ใช้ในการจำแนกชนิดของดอกนั้นๆ ลอยมาเลย มนุษย์จำพวกอย่างผมพอมาอยู่ในกระบวนการจัดดอกไม้แบบไม่คิดก็เลยมีการบ้าน มีสัมภาระที่ผมต้องปลดวางลงมากหน่อย

ถ้าไม่เข้าใจแล้ว ดอกไม้ที่แต่ละดอกมีความสวย มีความงดงามสมบูรณ์โดยตัวของมันเอง อาจถูกมองเป็นของแบนๆ มีไม่กี่มิติ ซื้อทีต้องซื้อเป็นกอบ ใช้ทีต้องใช้เป็นกำ เพราะบางดอกมันไม่ "สวย" คือ มันไม่ตรงกับเสปคที่เรามีอยู่ในใจ ว่าอยากให้ยาวเท่านี้ สีอย่างนี้ ใหญ่เท่านี้ หันไปทางนี้ เอนไปทางนี้ หรืออื่นๆ อีกมาก เวลาจัดจะเอาด้านที่เราอยากจะเห็นออกมา แต่ถ้าดอกไหนไม่เข้าสเปคก็เสียบๆ เอาไว้ในแจกัน ไว้ข้างหลังหน่อย หรือใส่ให้เป็นส่วนที่ให้แจกันดูเต็มๆ บางทีกำหนึ่งมีดอกที่เราอยากจะโชว์ไว้ด้านหน้าแจกันเพียงดอกหรือสองดอกเท่านั้น ซ้ำร้ายบางกำก็ไม่มีเอาเสียเลย

เหมือนกับว่าเราจะเข้าใจใครสักคนได้จริงๆ ต้องละเลิกความคิดความคาดหวังของเราต่อเขา ลืมทฤษฎีความเชื่อดั้งเดิมที่เราเคยมีต่อเขาไป เพื่อจะได้เปิดใจรับรู้รับฟังเขาได้เต็มที่ กระบวนการนี้จะว่าง่ายก็ง่าย จะว่ายากก็ยากนะครับ ถ้ามัวแต่คิดวิเคราะห์ดอกไม้อย่างนักวิทยาศาสตร์เราก็คงไม่ได้เห็นแง่มุมอื่นของเขา

ขั้นตอนต่อมาจากนั้นคือ "การกำหนดจุดหมาย" เป็นการสังเกตและวางดอกไม้ลงในมุมที่เขาได้แสดงความงดงามของตนออกมาได้มากที่สุด หากว่าเราลังเลหรือยังตัดสินใจกำหนดจุดหมายไม่ได้ แปลว่าเรายังไม่เข้าใจดอกไม้พอ ให้ดูดอกไม้นั้นใหม่

แต่ก็นั่นแหละครับ การกำหนดจุดหมายจะทำได้ก็ต้องเข้าใจดอกไม้ได้จริงๆ ด้วยการดูเขาตามสภาพจริงก่อน การดูดอกไม้ตามสภาพจริงนี้เป็นการฝึกที่จะเลิก "พากย์" หรือให้พื้นที่กับชุดความคิด ที่ถูกใส่โปรแกรมมาในหัวเราตั้งแต่เด็ก แล้วดูเขาตามที่ดอกไม้เป็นจริงๆ

ท่านโอกาดะผู้เป็นครูของแนวคิดการจัดดอกไม้ในแนวทางนี้ ได้กล่าวไว้กว่า ๕๐ ปีมาแล้วว่า หากเราเข้าใจดอกไม้ได้อย่างจริงจังแล้ว เราก็จะเข้าใจว่าเขาต้องการอย่างไร แล้วเราจึงจะสามารถ "จัดตามใจดอกไม้" ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็น เพราะว่า "ถ้าไม่จัดตามใจดอกไม้ ดอกไม้จะไม่ดีใจ เพราะว่าไม่ดีใจ จึงเหี่ยวเฉาเร็ว"

ได้ยินแล้วนึกๆ ดูก็คงจะจริงว่า ที่ผ่านๆ มาพวกเราหลายคน รวมทั้งผมเองก็คงไม่ได้สื่อสารกับดอกไม้ก่อนจัด อย่าว่าแต่จัด "ดอกไม้" เลย หลายครั้งเราเรียกเป็น จัด "แจกัน" เสียด้วยซ้ำ

หากเราจัดตามใจเรา ไม่จัดตามใจดอกไม้ โอกาสที่การ "จัดดอกไม้" ของเราจะกลายเป็นการ "บังคับดอกไม้" นั้นมีอยู่มากโข เป็นสิ่งที่เราเห็นกันอยู่ทั่วไปที่มนุษย์ไปบังคับดอกไม้ ให้เขาดิ้นไปไหนไม่ได้ด้วยลวดดัดดอกไม้ ด้วยฟองน้ำจัดดอกไม้โอเอซิส หรือไม่ก็ใช้วิธีการยัดให้เขาอยู่อย่างแน่นๆ กับอะไรก็ตามที่เราพยายามยัดเข้าไปให้เต็มแจกัน ให้เขาขยับไปไหนไม่ได้

การเรียนจัดดอกไม้อิเคบานาคราวนี้ พวกเราและโดยเฉพาะตัวผมยังได้บทเรียนสำหรับชีวิตประจำวันไปด้วย เหมือนผมได้หันหน้าเข้าหากระจก มีโอกาสคุยกับคนๆ นั้นที่รู้จักกันมาหลายสิบปี มองเห็นว่าเขาเคยมีมุมมองความเข้าใจโลกมาอย่างไร เมื่อปล่อยวางความคิดเดิมๆ ลง ก็เหมือนกับได้เดินทางไปในทางที่ไม่คุ้นเคย ได้ออกจาก "ร่อง" ของการทำงาน ของความคิดแบบเดิมๆ

จากที่จะไปเรียนจัดดอกไม้ใส่แจกัน กลายเป็นว่าพลอยได้ให้ดอกไม้และแจกันมาจัดใจตัวเองด้วยเลย :-)

2 comments:

ocean-ocean said...
This comment has been removed by the author.
ocean-ocean said...

โพสต์ไปอันหนึ่งแล้ว ขออนุญาตลบเอง เพราะว่า ชอบบล็อคที่สวยงามและกลั่นจากประสบการณ์การเดินทางของผู้คน โดยเฉพาะคนเขียน ก็เลยขออนุญาตเขียนแจมด้วย comment ที่กลั่นจากความรู้สึกเราบ้างนะ แบบว่า ลึกซึ้ง ด้วยกันหน่อย.. (โพสต์เมื่อกี้ที่ลบไป ออกแนวอำเพื่อนเล่นมากไปหน่อยอ่ะนะ.. เพื่อนบอกว่า ปิ๊งแว้บ.. เราอยากจะบอกว่า "จ๊ะเอ๋" จัง.....หุหุ... )

จากหัวใจ.. ที่ไปคุยกับดอกไม้มาเหมือนกัน คงเป็นเหมือนหลายๆ เรื่องในชีวิต ที่ต้องวางใจให้คนอื่นหรือสิ่งอื่น ได้นำพาชีวิตเราเดินทางไปบ้าง เวลาที่เจอประสบการณ์อย่างนี้ (เช่น เหนื่อยมาก ไปทำงานอาสาช่วยคนที่สึนามิ ศพก็เยอะ การบ้านที่ต้องส่งอาจารย์ก็มี รายงานวิจัยก็ต้องส่ง.. และเราทำอะไรไม่ถูก และก็เลยนอนหลับไปเลย.. ตื่นขึ้นมา ทุกอย่างก็เคลียร์กันเองเรียบร้อย ไป present งานวิจัย ก็ได้รับคำชม ทั้งที่พูดด้นสดทั้งนั้น) เวลาดีๆ ที่เรียกว่า ปาฏิหาริย์ของความวางใจ มันมีอยู่จริง

แต่บางครั้งเรารู้สึกว่า เราต้องทำทุกอย่าง ต้องจัดการ..จัดการ..และจัดการ..

จริงๆ เราก็แค่ "มีชีวิตอยู่" เท่านั้นเอง.. :-)

สิ่งที่ลุงฟู (กูโอกะ) เคยบอกไว้ว่า "เฮ้อ.. มนุษย์เป็นสัตว์โลกชนิดเดียวที่ (โง่) ทำงาน สัตว์อื่นมันแค่มีชีวิตอยู่"..

แปลก็คล้ายๆ กันประมาณนี้.. มนุษย์คงเป็นสัตว์ชนิดเดียวที่จัดดอกไม้.. สัตว์อื่นมันแค่อยู่กับดอกไม้อย่างที่เค้าเป็น..

หุหุ..