ตีพิมพ์ในคอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้
หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับประจำวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๕๐
แดดสีโอโรส (สีส้มอมแดง หรือ orange + rose) ยามอาทิตย์ใกล้จะอัสดงส่องลอดที่กั้นจากไซต์งานก่อสร้างข้างบ้านเข้ามาในห้องทำงาน ปริมาณแสงในห้องที่เปลี่ยนไปเหมือนเพื่อนเข้ามาทักทาย ให้ได้รู้สึกตัวขึ้นมาว่าอยู่ในการทำงานด้วยความคิดเสียนาน แสงจับกับผ้าม่านสีครีมดูนุ่มเย็นตา พอหันไปมองก็ได้พักสายตาจากเครื่องคอมพิวเตอร์ตรงหน้า รู้สึกว่าเพื่อนสีสวยที่อยู่ไกลออกไปหนึ่งร้อยสี่สิบเก้าล้านกิโลเมตรยังทำตัวกลมโตน่ารักเหมือนอยากชวนให้ออกไปเดินเล่น ผมขยับตัวดูรู้สึกถึงความตึงในร่างกายจากการนั่งอยู่กับที่หลายชั่วโมง ให้เหตุผลกับตัวเองว่าน่าจะไปเปลี่ยนอิริยาบถบ้าง นี่ก็วันหยุดสุดสัปดาห์นะ อากาศข้างนอกก็ดี ดูไม่ร้อน ไม่ชื้น แม้อาทิตย์ยังอยู่สูงใช้ได้
อันที่จริงผมมีเหตุผลให้กับการออกไปชื่นชมธรรมชาติเป็นพิเศษอีกข้อ ด้วยว่าวันที่เขียนต้นฉบับนี้เป็นวันพิเศษในรอบปี หลายคนโดยเฉพาะคนเมืองรุ่นใหม่คงไม่ค่อยคุ้นเคยกับวันนี้ อาจเพราะใช้นาฬิกาและปฏิทินบอกเวลากันจนเคย วันนี้เป็นวันที่จุดที่แสงอาทิตย์ตกกระทบทำมุมตั้งฉากกับโลกนั้นอยู่ไปทางซีกโลกใต้และอยู่ไกลจากเมืองไทยที่สุด อยู่เหนือเส้นทรอปิกออฟแคปริคอร์น (เส้นรุ้งที่ยี่สิบสามเศษหนึ่งส่วนสององศาใต้) พอดิบพอดี
ฝรั่งเรียก winter solstice (ตามรากศัพท์คือวันที่พระอาทิตย์หยุดเคลื่อน ซึ่งในฤดูหนาวหมายถึงการหยุดเคลื่อนจุดทำมุมตั้งฉากลงไปทางใต้) ส่วนคนไทยเรียกว่า “เหมายัน” (อ่านว่า เห-มา-ยัน จากรากศัพท์คือการมาถึงของหิมะหรือฤดูหนาว)
ใครที่สังเกตบ้างคงจะเห็นว่าพระอาทิตย์นั้นไม่ได้ขึ้นทางทิศตะวันออกและตกทางทิศตะวันตกพอดีเป๊ะทุกวัน ในหน้าร้อนก็จะขึ้นและตกค่อนไปทางเหนือ ส่วนหน้าหนาวอย่างในตอนนี้ ก็จะค่อนไปทางใต้ ดังที่ชาวบ้านเรียกว่า “ตะวันอ้อมข้าว” ข้าวที่กำลังออกรวงโน้มตัวลงต่ำ เหมือนกับจะสอนอะไรบางอย่างให้กับคนที่ปลูกและคนที่กิน
สำหรับคนหลายล้านคนหรืออาจจะถึงพันล้านคน วันนี้ในรอบปีเป็นหมุดหมายสำคัญของการเปลี่ยนผ่าน วันที่กลางวันสั้นที่สุดและกลางคืนยาวนานที่สุด
วันและช่วงนี้มีการเฉลิมฉลองกันทั่วโลก เช่น บรรดาคนจีนไม่ว่าในจีนแผ่นดินใหญ่หรือในไทยวันนี้ต้องฉลองเทศกาลไป่อี๊ ทำขนมบัวลอยหรืออี๊ ที่มีรากแปลว่า การกลับมาเจอกัน การรวมกันใหม่จนครบสมบูรณ์
รวมถึงเทศกาลคริสต์มาส แม้ว่าเป็นวันแห่งการระลึกถึงการมาประสูติของพระเยซู แต่ไม่ได้หมายถึงวันจริงๆในปฏิทิน อาศัยการกำหนดเอา คืนที่รัตติกาลอันเหน็บหนาวและยาวนานเหลือเกินเริ่มหดสั้นเข้า ความอบอุ่นและความสว่างได้ยาตรากลับเข้ามาในวันและคืนหนึ่งๆ มากขึ้น
แต่เอาละ ... ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ผมพาตนเองออกมาเดินเฉลิมฉลองวันนี้แล้วล่ะ ตั้งใจเดินไปเรื่อยๆ โดยไม่ได้มีจุดหมายอะไร เดินไปยังที่สาธารณะใกล้ๆ บ้าน
วันหยุด ผู้คนดูแจ่มใสกว่าวันทำงาน ออกมาเล่นกีฬากันเยอะ ฟุตบอล บาสเกตบอล เทนนิส เด็กหนุ่มคนหนึ่งซ้อมเทควันโดด้วย
มีคนพาสุนัขมาเดิน มีทั้งพันธุ์โปรดของผม แจ็ครัสเซล เทอร์เรีย จอมซน และเจ้าชิสุ จอมเห่าเก่ง
เดินวนรอบสนามสองรอบ และสระน้ำใกล้เคียงกันอีกสองรอบ หยุดดูเต่าตัวน้อยที่ว่ายน้ำบ้างสลับกับหยุดดูผมบ้างอย่างไม่เร่งร้อนเป็นระยะๆ ผมเดินไปเรื่อยๆ มีลมหายใจเป็นเพื่อนสนิท ไม่ต้องเอื้อนเอ่ยก็บอกเล่าได้ ไม่ต้องตั้งใจฟังก็ได้ยิน
จู่ๆ ก็รู้สึกเหมือนคิดได้ เข้าใจ คลี่คลายกับความยุ่งเป็นลิงแก้แหของการเมือง ไม่ว่าผลเลือกตั้งวันรุ่งขึ้นจะออกมาตรงกับใจตนเองหรือไม่
รอจนพระอาทิตย์สีแดงเหมือนไข่เค็มไชยาเริ่มลับเหลี่ยมอาคารจึงค่อยเดินกลับบ้านอีกทางหนึ่ง ได้ยินเสียงหัวใจกระซิบบอกให้ไปตามทางที่ยังไม่เคยไปบ้าง
ขากลับเห็นเด็กสาวตัวนิดเดียวขี่จักรยานให้คุณพ่อร่างแข็งแรงแบบนักกีฬานั่งซ้อน คงพากันไปออกกำลังกาย ดูน่ารักน่าเอ็นดูจัง
ผ่านช่อดอกไม้หน้าตาคล้ายดอกเล็บมือนางสีแดงสด บนก้านดอกสีเขียวอ่อน แต่อยู่บนต้นที่เหี่ยวแห้งกรอบที่ดูราวกับไม่มีชีวิตแล้ว นัยว่าจะบ่งบอกความจริงอะไรบางอย่าง
เดินมาอีกนิดถึงซอยอารีย์สัมพันธ์ ตรงข้ามกรมประชาสัมพันธ์ เห็นป้ายโปสเตอร์ติดประกาศไกลๆ อยู่อีกฟากของถนน หน้าร้านอาหารปลาดิบ ดูเหมือนงานแสดงศิลปะ อะไรเกี่ยวกับความรักสักอย่างเพราะเห็นคำว่า The ... Side of Love ผมข้ามไปดู
อ้อ The Other Side of Love
ที่แท้เป็นงานชิ้นแรกของชุมชนไซเบอร์ ชื่อ Sawasdee Multiply Community (http://smcharity.multiply.com) พวกเขาลุกขึ้นมาทำสิ่งบางอย่างที่พอทำให้คนอื่นได้ เป็นงานแสดงศิลปะเล็กๆ สะท้อนจิตใจอันยิ่งใหญ่ของคนทำ จัดแสดง (และขาย) ภาพถ่ายเพื่อนำรายได้ไปช่วยผู้ติดเชื้อเอดส์ที่วัดพระบาทน้ำพุ อืมม์ ใครว่าการใช้เวลาว่างต้องเสียเงิน นี่ได้ทั้งเงิน ได้ทั้งเพื่อน ได้ทั้งบุญ ดีจังที่แถวบ้านเดี๋ยวนี้มีงานแสดงศิลปะ ดูเป็นชุมชนและมีสุนทรีย์ขึ้นอีกโข
กลับ “ถึงบ้าน” แม้มีงานที่ทำยังไม่เสร็จ แต่ก็พอใจ วางใจ และภูมิใจกับที่ได้พยายามทำมาทั้งวัน
นึกย้อนไปวันหนึ่งวันนี้ เป็นวันที่เต็มอิ่ม ได้ตื่นแต่เช้าสวดมนต์ภาวนานิดหน่อย ใช้เวลาช้าๆ สบายๆ อยู่กับที่บ้านกับคุณแม่ พี่สาว น้องชาย มีอาหารง่ายๆ แต่สะอาด รสอร่อยจากฝีมือคุณแม่ที่พัฒนามาตลอดเกินกึ่งศตวรรษ บรรจงใส่ใจทุกขั้นตอน ตบท้ายด้วยขนมบัวลอยตามเทศกาล พร้อมเสียงหัวเราะเอิ๊กอ๊ากกัน
ได้เจียดเวลาให้กับงานที่มีความหมายต่อเรา ต่อสังคม และต่อโลกบ้าง
ได้อ่านต้นฉบับบทความจิตวิวัฒน์ฉบับ สคส. ปีใหม่ ๒๕๕๑ ของ อ.ประเวศ พูดถึงความสุขง่ายๆ แต่มีความหมายมากสี่ประการคือ ๑. นิพพานอยู่แค่ปลายจมูกตามสูตรอาจารย์พุทธทาส ๒. การเข้าถึงความจริงสูงสุด ๓. ความสุขจากงานทุกชนิดด้วยปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ และ ๔. ความสุขตามสูตร “ระพี - เสน่ห์ - ประเวศ”
ได้อ่านงานเขียน “ของดีที่ควรหวัง” ของหลวงพี่ไพศาล วิสาโล ที่ว่า “ถ้าเราหวัง ก็ควรหวังให้มีความเปลี่ยนแปลงที่ดีๆ ในจิตใจของเรา มีความต่างกันมากระหว่างการมีสิ่งดีๆ เกิดขึ้นในชีวิต กับการมีความเปลี่ยนแปลงที่ดีๆ เกิดขึ้นในจิตใจ อย่างหลังนี้อาจเกิดขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องมีสิ่งดีๆ เกิดขึ้นกับชีวิตของเราก็ได้” มิน่าเล่าเราถึงรู้สึกวางจิตวางใจกับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นได้อย่างง่ายดายขึ้น
แถมยังได้รับฟอร์เวิร์ดอีเมลจากเพื่อนกลุ่มสื่อสร้างสรรค์ Happy Media ที่เป็นเรื่องชายหนุ่มหญิงสาวคู่หนึ่ง ไปเจอยักษ์จินนี่ในกระป๋องเบียร์ที่มอบพรสามประการ โดยชายหนุ่มขอ “ให้เราพอใจกับสิ่งที่เรามีและมีความสุขกับมัน” แววตาของตัวละครยังอยู่ในใจอยู่เลย
ได้ออกไปเดินเล่นเพื่อเฉลิมฉลองไม่ใช่แต่วันนี้ วันเหมายัน แต่ยังมีวันเทศกาลขนมบัวลอย เทศกาลคริสต์มาส และเทศกาลอื่นๆ อีกนับสิบ
ตอนค่ำได้รับข้อความ SMS จากน้องว่า วันนี้รู้สึกดีที่มีสติได้เลือกใช้เวลาที่มีคุณภาพกับครอบครัว ไม่พยายามทำงานไปใช้เวลากับที่บ้านไป ซึ่งก็ไม่เคยเวิร์กสักที
ย้อนไปในหนึ่งขวบปีก็มีช่วงที่เรามีสุขบ้าง มีทุกข์บ้าง ทันตัวเองบ้าง ไม่ทันตัวเองบ้าง พยายามน้อยไปบ้าง พยายามมากเกินไปบ้าง แต่ก็ในเวลาสบายๆ ของวันธรรมดาปรกติๆ เช่นนี้แหละที่ได้รู้ว่าเราเองก็เรียนจากตนเองก็ได้
นึกขอบคุณคนหลายๆ กลุ่มที่ยังคงพยายามทำในส่วนที่ทำได้โดยไม่หมดหวัง ขอบคุณขา เท้า ร่างกายและใจที่พาตัวเรามาพบกับสิ่งดีๆ ขอบคุณตนเองที่เลือกเดินเส้นทางใหม่ๆ ที่ไม่คุ้นเคยบ้าง ให้โอกาสมองโลกใบเก่าด้วยสายตาคู่ใหม่ จนกระทั่งได้มาพบสมบัติอยู่ใกล้ๆ ข้างหน้านี้เองเรื่อยมา ขอบคุณโลกใบน้อยในจักรวาลที่ยิ่งใหญ่ที่ให้โอกาสทุกคนได้เติบโตบนเส้นทางเรียนรู้
นึกถึงเนื้อเพลงจากหนัง รักแห่งสยาม “ดั่งในใจความบอกในกวี ว่าตราบใดที่มีรักย่อมมีหวัง”
ขอบคุณจริงๆ :-)
ตีพิมพ์ในคอลัมน์ Happiness
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 4 พฤศจิกายน 2550
“ขอพระผู้เป็นเจ้าจงประทานพรให้ข้าได้มีความเยือกเย็นหนักแน่นในอันที่จะรับไว้ซึ่งสถานการณ์ที่ข้าไม่สามารถจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ ขอให้ข้าได้มีกำลังใจที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ข้าสามารถจะเปลี่ยนแปลงได้ อีกทั้งขอให้พระองค์ได้ประทานปัญญาให้ข้าได้มองเห็นความแตกต่างระหว่างสองสภาวะนี้”
เมื่อสองสัปดาห์ที่แล้วเครือข่ายแผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ ที่บริหารจัดการโดยมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ และสนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้พากันไปทำกิจกรรมจัดการความรู้ เพื่อถอดบทเรียนและรู้จักซึ่งกันและกันระหว่างคนทำงานส่งเสริมสุขภาวะทางจิตวิญญาณ
แม้ว่าพวกเราจะต้องฟังเรื่องเล่าต่อเนื่องแบบมาราธอนเก้าโครงการ สิบกว่าชั่วโมง (คล้ายๆ ได้ไปทัวร์ยุโรปเจ็ดวัน แปดประเทศอะไรทำนองนั้น) แต่ก็ได้รับรู้และเรียนรู้เรื่องราวดีๆ ไม่น้อย
หนึ่งในโครงการที่นำเสนอในวันนั้น คือ โครงการเผชิญความตายอย่างสงบ โดยเครือข่ายพุทธิกา พี่ธวัชชัย โตสิตระกูลกระบวนกรของโครงการ เล่าให้ฟังว่าเขาเข้ามาเกี่ยวข้องทำงานด้านนี้เพราะภรรยาเคยเข้าร่วมอบรมเรื่องการเผชิญความตาย ระหว่างอบรมเธอก็มี SMS หวานแหววมาหา กลับมาก็ตรงเข้ามากอดพร้อมกับบอกว่า “รักพี่จัง” และหลังจากนั้นความสัมพันธ์ของครอบครัวที่ดีอยู่แล้ว ก็ยิ่งดีขึ้นอีก เธอแนะนำให้เขาได้ลองไปอบรมดู นัยว่าอาจจะอยากได้รับ SMS จากเขาบ้าง (ฮา)
กิจกรรมในการอบรมนั้นมีอยู่หลายอย่าง แต่ละกิจกรรมถูกจัดเรียงเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้เข้าไปใกล้ชิด ทำความคุ้นเคย จนกระทั่งเห็นว่าการตายไม่เพียงเป็นส่วนหนึ่งของการมีชีวิต แต่ยังเป็น “นาทีทอง” (ดังที่ท่านอาจารย์พุทธทาสเรียก) อีกด้วย เพราะเป็นโอกาสอันเยี่ยม ให้ผู้ที่กำลังจะจากไปได้เกิดการยกระดับทางจิตวิญญาณอย่างมาก และหากจัดการได้ดี ผู้ที่อยู่รายรอบก็สามารถเรียนรู้ได้เช่นกัน ดังเช่นที่มีผู้กล่าวไว้ว่า “หากรู้ว่าอยากจะตายอย่างไร เราก็จะรู้ว่าต้องใช้ชีวิตอย่างไร”
ระหว่างการอบรมหลวงพี่ไพศาล วิสาโล ท่านเล่าสู่กันฟังว่าความตายที่ดี หรือที่เรียกว่า “ตายดี” นั้น ทางโลกกับทางพุทธเขาอธิบายว่าเหมือนหรือต่างกันอย่างไร มีการเขียนพินัยกรรม การได้คลี่คลายปมที่ตนเองเคยติดค้าง (เช่น คุณแม่บางคนลูกตายไปสิบกว่าปีแล้ว ยังไปปูผ้าปูที่นอนให้ลูกทุกคืน) กิจกรรมทดลองตาย กิจกรรมทดลองแจ้งข่าว (Break the news) ที่เรามักจะกระอักกระอ่วนใจว่าต้องพูดอย่างไร กิจกรรมทดลองเป็นผู้ป่วยระยะสุดท้าย เพื่อที่จะได้ทราบว่าคนป่วยนั้นเขารู้สึกอย่างไร เราจะได้มีความสามารถในการดูแลเขาเหล่านั้นอย่างเป็นองค์รวมในทุกมิติ รวมถึงกิจกรรมไปเยี่ยมผู้ป่วยระยะสุดท้ายจริงๆ ในโรงพยาบาล ซึ่งก็ได้รับประโยชน์กันอย่างเต็มที่ทั้งผู้ให้และผู้รับ เพราะแท้จริงแล้วต่างก็ได้ให้สิ่งสำคัญอย่างยิ่งแก่กันและกัน
ปัจจุบันพี่ธวัชชัย ลาออกจากงานครึ่งเวลา เพื่อจะมาทำงานนี้ โดยขอรับเงินเดือนเพียงครึ่งเดียว แต่หน่วยงานก็เห็นความสำคัญ ยินดีให้มาทำตามต้องการ พร้อมจ่ายเงินเดือนเต็มอีกด้วย
ผมกลับบ้านพร้อมความประทับใจ นำเรื่องมาเล่าและชวนคุณแม่กับพี่สาวที่เป็นหมอให้ไปร่วมการอบรมของโครงการเผชิญความตายอย่างสงบด้วย ปรากฏว่าทั้งคู่สนใจมากครับ ไปกลับมาก็ประทับใจมาก (แต่ไม่เห็นได้ส่ง SMS มา (ฮา)) แถมมีเรื่องราวมาเล่าให้ฟังเพิ่มเติมอีกไม่น้อย
สิ่งหนึ่งที่การอบรมช่วยให้ผู้เข้าร่วมได้เห็นคือ ความแตกต่างระหว่างสองสิ่งที่สำคัญมาก ดังเช่นที่อาร์กบิชอบเคนเนดี เขียนไว้ในบทสวดข้างต้น หรือที่เอพิกตีตัส (Epictetus) นักปรัชญาสายสโตอิก ชาวกรีก เขียนไว้ในหนังสือ Manual of Living ว่า “ความสุขและอิสรภาพเริ่มจากความเข้าใจอันแจ่มแจ้งถึงหลักการข้อหนึ่งที่ว่า บางสิ่งอยู่ภายในการควบคุมของเรา และบางสิ่งนั้นไม่ ต่อเมื่อคุณกล้าเผชิญกับบทบาทพื้นฐานและเรียนรู้ที่จะแยกแยะระหว่างสิ่งที่คุณสามารถและไม่สามารถควบคุมได้ ความสงบภายในและความมีประสิทธิภาพภายนอกจึงจะเป็นไปได้”
ชวนให้ผมนึกนิตยสาร Tzu Chi, Buddhism In Action ฉบับ Fall 2002 ที่ลงข้อความอันแสนจะเรียบง่ายแต่งดงามของลี เว่ย ฮวง (เรียบเรียงเป็นภาษาอังกฤษโดย เทเรซ่า จาง, แปลโดย อธิธัช สาทรกิจ) ชื่อ “ตัดสายป่าน” (Set the Kite Free)
เพราะเมื่อเรารู้ว่าชีวิตที่มีอยู่ในปัจจุบันนั้นมีค่าและเปราะบางเพียงใด เราก็จะใช้ทุกวินาทีของมันอย่างไม่ประมาทนั่นเอง :-)
ตีพิมพ์ในคอลัมน์ จิตวิวัฒน์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 3 พฤศจิกายน 2550
จดหมายข่าวอิเลคทรอนิกส์ของสถาบันโนเอติกซายน์ (Institute of Noetic Sciences) เดือนตุลาคมนี้ มีการแนะนำให้สมาชิกไปดูคลิปวีดิทัศน์ของ แมรีแอนน์ วิลเลียมสัน นักอบรมชั้นนำคนหนึ่งของโลก เธอเขียนหนังสือขายดีติดอันดับหนึ่งของหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์หลายเล่ม และเป็นหนึ่งในผู้ร่วมผลักดันให้มีการจัดตั้งกระทรวงสันติภาพในประเทศสหรัฐอเมริกา
ในคลิปวิดีโอหนึ่งนาทีนั้น แมรีแอนน์เชิญชวนกึ่งท้าทายให้ผู้ดูร่วมเป็นหนึ่งในประชากรสิบเอ็ดเปอร์เซ็นต์ที่จะเปลี่ยนแปลงโลกได้ เธออ้างถึงงานวิจัยของนักสังคมศาสตร์ที่บอกว่าการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในสังคมโลกหลายครั้งเกิดขึ้นได้ด้วยการที่มีผู้ที่เชื่อ ต้องการ และเปลี่ยนแปลงก่อนเพียงจำนวนหนึ่ง โดยยกตัวอย่างการเรียกร้องสิทธิเลือกตั้งของสตรีในอังกฤษ และการต่อสู้เพื่อเอกราชของประเทศสหรัฐอเมริกาจากอังกฤษ เหตุการณ์เหล่านี้ล้วนไม่ต้องมีผู้ต่อสู้เรียกร้องถึงครึ่งหนึ่งของประชากร แต่มีจำนวนที่ “เพียงพอ” โดยเธอบอกว่าเพียงสิบเอ็ดเปอร์เซ็นต์เท่านั้น
ตัวเลขนี้ตั้งอยู่บนความเชื่อเรื่อง มวลวิกฤต (Critical Mass) ซึ่งเป็นศัพท์แสงทางสังคมศาสตร์พลวัตร อธิบายถึงการมีอยู่ของโมเมนตัมของระบบสังคมที่สามารถขับเคลื่อนตัวเองและขยายเพิ่มได้ ขออนุญาตยกตัวอย่างเพื่อประกอบความเข้าใจ เช่น ในเมืองใหญ่ หากมีคนๆ หนึ่งหยุด แล้วแหงนมองดูท้องฟ้า คนอื่นๆ รอบข้างก็จะยังคงเดินไปเรื่อยๆ ราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่หากมีคนหยุดสักสามสี่คน อาจจะมีบางคนที่สงสัย หันกลับมาดูพวกที่ดูฟ้า แล้วอาจเดินต่อ แต่เมื่อมีคนจำนวนมากพอแหงนหน้าดูท้องฟ้า ซึ่งจริงๆ แล้วก็ไม่มากนักในกรณีนี้ (ขึ้นกับหลายปัจจัย) เช่น ประมาณหกถึงเจ็ดคนเท่านั้น คนอื่นๆ ก็จะหยุดแล้วแหงนหน้ามองดูเหมือนกัน จำนวนนี้แหละครับ เรียกว่า มวลวิกฤต
เอาเป็นว่าคุณแมรีแอนน์ เธอท้าให้คนที่เปิดดูคลิปเปลี่ยนแปลงตนเองเสีย จะได้เพิ่มจำนวนผู้เปลี่ยนแปลงไปให้ถึงสิบเอ็ดเปอร์เซ็นต์ครับ เธอบอกว่าหากตัวเราเองยังไม่เปลี่ยนแปลงก่อน ก็อย่าไปอ้างเลยว่าโลกจะเปลี่ยนแปลงได้
ผมอยากจะเพิ่มเติมว่า อันที่จริงแล้วเราไม่ต้องรอถึงสิบเอ็ดเปอร์เซ็นต์หรอก (ซึ่งสำหรับประชากรโลก ณ วันนี้ สัดส่วน ๑๑ เปอร์เซ็นต์ของหกพันหกร้อยสามสิบกว่าล้านคน ก็ตกราวๆ เจ็ดร้อยสามสิบล้านคน) เพราะจิตของเราแต่ละคนที่เข้าถึงความจริง ก็สามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้
ในมนุษย์จำนวนหกพันหกร้อยสามสิบกว่าล้านชีวิตนี้ แต่ละคนก็ล้วนแต่มีจิตที่คิดสร้างโลกขึ้นมา มีประสบการณ์และสร้างการดำรงอยู่ของตัวตนเราในโลกทางกายภาพนี้ทั้งสิ้น
โลกนั้นดำรงอยู่ในจิตของเรา และเราแต่ละคนต่างเลือกว่าจะมีประสบการณ์ต่อมันอย่างไร สิ่งที่เราคิด สิ่งที่เราทำ ล้วนก่อประกอบขึ้นเป็นโลกทางกายภาพตามแบบที่เราอยากจะมีประสบการณ์
เราจึงอาศัยอยู่ในโลกแห่งมายาการ ความรู้สึกที่เรามีต่อวัตถุทุกชนิดล้วนเป็นความรู้สึกที่เรามีต่อความสัมพันธ์ของสนามหรือคลื่นพลังงาน เป็นความรู้สึกที่จิตเราแปลผลตีความขึ้นมา และด้วยเหตุที่เราล้วนมีประสบการณ์ต่อมายาการนี้ร่วมกัน เราก็มักคิดตีขลุมเหมาเอาว่าเรานั้นอยู่บนโลกใบเดียวกัน เราเลือกที่จะเชื่อว่าโลกมีอยู่นอกเหนือจากการสร้างของเรา แต่แท้จริงแล้ว โลกนั้นมันอยู่ในจิตของเราเอง
ความพยายามใดๆ ที่เรากระทำเพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนั้น อาจเป็นความพยายามที่เปลืองแรง ไปจนถึงขั้นสูญเปล่า เพราะเป็นการไปแก้ไขปรับเปลี่ยนโลกทางกายภาพที่เราต่างสร้างขึ้นและให้ความหมายตีความแตกต่างกัน ในเมื่อโลกเกิดขึ้นและดำรงอยู่ภายในใจของเราเองแล้ว การเปลี่ยนแปลงใดๆ ก็ควรเริ่มต้นจากตัวเรา เริ่มขึ้นในใจตัวเอง
ตัวอย่างเช่น เรื่องสันติภาพ สันติภาพนั้นมิได้เข้าถึงได้ด้วยการพยายามสร้างให้สันติภาพเกิดขึ้นในโลก หากแต่สันติภาพที่แท้จริงนั้นเข้าถึงได้ผ่านการตระหนักรู้ว่าสันติภาพนั้นมีอยู่แล้ว อยู่ในโลกของคนทุกคน และเส้นทางการเข้าถึงนั้นมีการเดินทางเข้าสู่ด้านในตนเองเป็นบาทฐานสำคัญ
หากหญิงหรือชายใดได้มีสันติในเรือนใจแล้ว ทุกสิ่งที่เธอหรือเขาทำออกมาไม่ว่าด้วยกายหรือวาจาย่อมไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำย่อมถูกกระทำด้วยสันติวิธี (นั่นย่อมรวมถึงการพยายามสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นในโลกด้วย)
อีกทั้งสันติภาพนั้นมิได้เข้าถึงได้ด้วยการพยายามไปเปลี่ยนคนอื่น ความพยายามอันบริสุทธิ์ใจในการสร้างงาน สร้างกิจกรรม สร้างโครงการเกี่ยวกับการส่งเสริมสันติภาพเป็นความพยายามอันน่าชื่นชม หากแต่ต้องชวนผู้คิดและดำเนินการโครงการเหล่านั้นได้ตั้งคำถามกับตัวเองว่าเข้าถึงสันติภาพภายในตนแล้วหรือยัง หรืออย่างน้อยได้ใช้งานเป็นโอกาสในการเดินทาง ฝึกฝน และเรียนรู้ในการเข้าถึงสันติภาพที่แท้จริงหรือไม่ เพราะหากโลกภายในไม่มีสันติภาพแล้ว กิจกรรมต่างๆ ก็เป็นเพียงความพยายามอันไปไม่ถึงดวงดาว เป็นกิจกรรมที่ได้แต่รูปแบบ ขาดหัวใจ สาระ หรือจิตวิญญาณของสันติภาพ
โจทย์ของคนทำงานเรื่องสันติภาพหรือสมานฉันท์ รวมทั้งงานเพื่อการเปลี่ยนแปลงยกระดับสังคมไปสู่การมีจิตใหญ่ ดังเช่น จิตวิวัฒน์ จิตตปัญญาศึกษา พัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ ตลอดจนสุขภาวะทางจิตวิญญาณ/ทางปัญญา จึงมีหลายชั้น หนึ่งคือต้องทำการบ้านกับตนเองก่อน หนึ่งคืองานและชีวิตของคนทำงานควรเป็นบทพิสูจน์ของการเดินทางเข้าสู่ความเป็นหนึ่งเดียวกับเรื่องที่ทำในทุกระดับ ในทุกมิติ และอีกหนึ่งที่สำคัญคือต้องพยายามสื่อสารให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าใจว่า เป้าหมายภายในนั้นสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเป้าหมายภายนอก เราไม่สามารถทำงานเรื่องจิตวิวัฒน์โดยไม่ใช้กระบวนการจิตวิวัฒน์ได้
โดยเฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้องในฐานะผู้กำหนดนโยบายหรือผู้ให้ทุน ความตั้งใจที่อยากจะให้เรื่องดีงามแพร่ขยายกระจายไปทั่วแผ่นดินนั้นก็เป็นกุศลเจตนาที่ควรยกย่อง ทว่าจะต้องไม่กระทำอย่างผิวเผินเหมือนกับผลิตสินค้าให้ได้จำนวนมากที่สุดในราคาต่ำสุดและใช้เวลาสั้นที่สุด
ความท้าทายอยู่ที่เราจะทำอย่างไรให้ชีวิตเป็นเรื่องของความปรกติ เป็นเรื่องความสมดุลของการพัฒนาทางกาย ใจ และจิตวิญญาณ ผสมผสานงาน ครอบครัว และสังคมอย่างพอดี และให้การทำงานเป็นการปฏิบัติธรรมในทุกขณะจิต
ต้องเข้าใจว่าความคาดหวังและคำถามที่ว่า “เปลี่ยนได้กี่คนแล้ว” เพื่อจะได้ถึง ๑๑% เสียทีนั้น ต้องเริ่มนับหนึ่งจากตนเองก่อนเสมอ
ตีพิมพ์ในคอลัมน์ มหาสมุทรแห่งปัญญา
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 14 ตุลาคม 2550
“สิ่งที่กำลังจะได้เรียนรู้ร่วมกันในไม่กี่สัปดาห์ต่อไปนี้ อาจจะไม่เกิดประโยชน์ใดๆ กับพวกเธอเลยก็ได้”
หลังจากผมเอ่ยทักนักศึกษาครั้งแรกที่เราเจอกันเช่นนี้ ห้องที่เด็กๆ คุยกันแซ่ดเป็นนกกระจอกแถวตลาดสดแตกรังก็เงียบลง นักศึกษาดูงงๆ เล็กน้อย โดยมากคงคิดในใจว่า “อืมม์ ... ก็คงใช่แหละ เพราะที่ฉันเรียนมาตั้งสิบกว่าปีก็ไม่เห็นจะได้ใช้ประโยชน์อะไรเลย” (ฮา)
ผมอธิบายเพิ่มเติมว่า ที่ว่าไม่เกิดประโยชน์นั้นไม่ใช่ในแง่ที่เขามักคิดว่า “เรียนอะไรก็ไม่รู้ ไม่เห็นได้เอาไปใช้” อย่างที่มักบ่นให้ได้ยินกัน แต่เป็นเพราะมนุษย์จำนวนมาก มากอาจจะเกือบหมดโลกนี้ รวมถึงพวกเขา หรือรวมถึงผมด้วย อาจต้องตายไปเร็วๆ นี้
ยิ่งเมื่อผมเล่าตัวอย่าง และนำข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ให้ดูสนับสนุนคำพูดของผม ทั้งห้องก็ดูตกใจและเงียบงันลงไปอีกครั้ง โดยเรื่องและภาพที่ผมแบ่งปันให้พวกเขาดูก็เป็นหลักฐาน เป็นประจักษ์พยานโดยตัวมันเอง ไม่ต้องการให้ผมไปปกป้องไปเถียงแทนแต่ประการใด
ภาพของธารน้ำแข็งที่หดหายไปทุกปีๆ ไม่ว่าจะธารน้ำแข็งเซาท์แคสเคด รัฐอลาสก้า สหรัฐอเมริกา กรีส์ในสวิตเซอร์แลนด์ หรือ พาตาโกเนีย ในอาร์เจนตินา-ชิลี หรือหิ้งน้ำแข็งที่ละลายและถล่มอย่างต่อเนื่อง ทำเอานักศึกษาที่โลกปรกติหมุนวนหมุนเวียนแค่ระหว่างหอพักกับอาคารบรรยายได้เปิดกว้างขึ้น และทำให้เขารู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของผู้ที่กำลังได้รับผลกระทบในเวลาไม่ช้า
ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ผมมักเริ่มวิชาชีววิทยาเบื้องต้น สำหรับนักศึกษาชั้นปีที่ ๑ ด้วยการบอกเล่าเรื่องราวสุขภาพของโลกในปัจจุบันเช่นข้างต้น ว่าโลกเรานั้นป่วยแค่ไหน สาเหตุคืออะไร และเราจะทำอะไรกับมันได้อย่างไรบ้าง
ผมว่าเรื่องนี้ไม่ใช่แค่ความรับผิดชอบทางวิชาการ แต่เป็นความรับผิดชอบทางจริยธรรมด้วย ที่นักวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะนักชีววิทยาต้องเตือนมนุษย์ว่า “กรรมติดจรวด” ในแง่สิ่งแวดล้อมนั้นมีจริง ไม่ว่าคุณจะเชื่อหรือไม่เชื่อ ลบหลู่หรือไม่ลบหลู่ก็ตาม
ในวิชาชีววิทยาเบื้องต้น เราเริ่มเรียนรู้กันจากเรื่องวิวัฒนาการ ตามด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ พฤติกรรม นิเวศวิทยา สิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์ แต่ละหัวเรื่องถูกออกแบบให้สอดคล้องไหลเลื่อนเคลื่อนที่เชื่อมโยงกันเป็นดั่งคลื่นในมหาสมุทร ขณะเดียวกันก็เหมือนมาลัยที่บรรจงจัดวางแต่ละดอกไว้อย่างมีความหมาย อย่างสมเหตุสมผล
เริ่มด้วยเรื่องวิวัฒนาการ เรารู้จักโลกว่ามีอายุยืนยาวกว่าสี่พันหกร้อยล้านปี สี่พันหกร้อยล้านปีนะครับ ว่ากันว่าระยะเวลายาวขนาดนี้เรานึกกันไม่ออกหรอกครับ แต่ถ้าจะเทียบกันกับมนุษย์ที่เพิ่งจะโผล่มาบนโลกได้แค่สี่ถึงห้าล้านปีนี้ (นับเอาจีนัส Homo ที่เริ่มสร้างเครื่องมือได้) ให้อุปมาว่าหากความยาวตั้งแต่หัวไหล่ถึงปลายนิ้วของเราเป็นอายุของโลกแล้ว หากเราเอาตะไบเล็บปาดเข้าที่ปลายเล็บของเราครั้งหนึ่ง เศษขี้เล็บที่หลุดออกไปนั่นน่ะครับ ... มนุษย์เรา เราเพิ่งจะปรากฏกายบนโลกกลมๆ ใบนี้ได้เสี้ยวหนึ่งของโลกและจักรวาลนี้เท่านั้น แต่มักจะคิดว่าฉันนี่แหละเจ้าของโลกใบนี้ โลกนี้มีอยู่ก็เพื่อให้ฉันใช้ ถึงขนาดนั้นก็มี
จากนั้นเราพูดคุยกันต่อถึงการกำเนิดชีวิต โดยทฤษฎีหลักตอนนี้ที่นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อกันว่าสิ่งมีชีวิตบนโลกกำเนิดจากสิ่งไม่มีชีวิต จากแต่ก๊าซโมเลกุลเล็กๆ อยู่กับน้ำร้อนกับรังสีอุลตราไวโอเล็ต ต่อมาเกิดเป็นสารอินทรีย์ โมเลกุลใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งเป็นสิ่งมีชีวิตเซลเดียว กว่าจะเกิดขึ้นก็อาศัยเวลาพันกว่าล้านปีนะครับ เมื่อสามพันกว่าล้านปีที่แล้ว จากเซลเดียวก็กลายมาเป็นหลายเซล ซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งโลกเรามีความหลากหลายทางชีวภาพมากมายอยู่อย่างในปัจจุบัน
ที่ว่าหลากหลายนั้นมากมายสักแค่ไหนหรือครับ ว่ากันว่าโลกเรามีสิ่งมีชีวิตประมาณ ๕-๓๐ กว่าล้านชนิดหรือสปีชีส์ นักวิทยาศาสตร์บางคนว่ามากกว่านั้นอีกมาก แม้ว่าจำนวนชนิดทั้งหมดจะยังไม่รู้เป็นที่แน่ชัด แต่ที่รู้กันค่อนข้างแน่คือจำนวนที่เรารู้จักแล้ว มีการจำแนกและให้ชื่อทางวิทยาศาสตร์ (เช่น มนุษย์ คือ Homo sapiens) นั้น มีอยู่แค่หนึ่งล้านห้าแสนเท่านั้น โดยเป็นแมลงเสียครึ่งหนึ่ง ผมมักจะถามว่าใครอยากมีสิ่งมีชีวิตที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ตั้งตามชื่อตนเองบ้าง นักศึกษาเกือบทั้งหมดจะตอบว่าใช่ ผมก็จะยืนยันว่าโลกมีสิ่งมีชีวิตให้ทุกคนในชั้นเรียนอย่างแน่นอน คนละหลายๆ ตัวเสียด้วย
ต่อด้วยนิเวศวิทยาที่ทำให้เรารู้จักว่าสิ่งมีชีวิตทุกชนิด ไม่เว้นแม้แต่สิ่งเดียว มีความน่าทึ่งอย่างเหลือหลาย เช่น หอยบางชนิดเกิดในปล่องน้ำพุร้อนใต้ทะเลลึก อุณหภูมิหลายร้อยองศาเซลเซียส ไม่เคยเห็นแสงมาก่อนเลย แมลงบางชนิดจำศีลอยู่ใต้ดินแล้วโผล่ขึ้นมาผสมพันธุ์แล้วตายทุกๆ ๑๗ ปี แล้วก็นับปีไม่เคยพลาดเสียด้วย กบที่ออสเตรเลียก็จำศีลใต้ทะเลทรายได้ถึงเจ็ดปีทีเดียว สิ่งที่น่าประทับใจเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ คือ ความสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมและสิ่งมีชีวิตรอบๆ ตัวมันด้วย เช่น หมัดที่อาศัยรูจมูกนกฮัมมิ่งเบิร์ดในการเดินทางระหว่างดอกไม้
มาถึงขั้นนี้ เราได้รู้ความเป็นมาอันยาวนานของทุกชีวิตบนโลก ความหลากหลายงดงาม และความสมดุลของการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน พร้อมๆ กับได้รู้ว่า ชีวิตจำนวนมากนี้กำลังสูญพันธุ์อย่างรวดเร็ว ด้วยอัตราเร็วถึง ๑๐๐-๑,๐๐๐ เท่าของปกติ หรือประมาณชั่วโมงละอย่างน้อย ๓ ชนิดที่สิ้นจากโลก
สิ่งที่เรากำลังเรียนกันอยู่ในวิชานี้จึงไม่มีความหมายอะไรเลย ถ้าเกือบทุกชีวิตบนโลกกำลังจะหายไป น้ำแข็งขั้วโลกกำลังละลาย และหายนะจากภาวะโลกร้อนกำลังมา ซึ่งความเป็นจริงก็คือไม่ใช่แค่ “กำลังจะมา” แต่เรากำลังอยู่ในวิกฤตแล้ว เพียงแต่ช่วงนี้เป็นโหมโรงให้เราได้ตายใจเท่านั้น ทิม แฟลนเนอรี ผู้เชี่ยวชาญด้านการสูญพันธุ์และการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของโลกชาวออสเตรเลีย เพิ่งออกมาให้ข่าวว่า ระดับของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกที่นักวิทยาศาสตร์เคยประมาณการกันในโมเดลที่เป็นกรณีที่เลวร้ายที่สุด (worst case scenario) สำหรับอีกสิบกว่าปีข้างหน้าว่าคือ ๔๕๕ ส่วนในล้านส่วนนั้น ค่านั้นได้เลยไปแล้วตั้งแต่กลางปี ๒๕๔๘ “ไม่ใช่ปีหน้าหรือทศวรรษหน้า แต่มันเป็นตอนนี้แล้ว” เขากล่าว
ยามเมื่อน้ำท่วมอย่างถาวร ไม่เพียงแต่กรุงเทพ แต่ภาคกลางทั้งหมด ยามเมื่อเปลือกโลกเคลื่อนตัวอย่างรุนแรงมหาศาล ทุกคนจะเข้าใจดี แม้ว่ามันจะสายเกินไป
ความรู้ทางเทคนิคเหล่านี้แทบจะไม่ได้เกิดประโยชน์อะไรกับนักศึกษาและเราทุกคนเลยครับ ถ้ายังไม่เห็นว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของโลกที่กำลังป่วยหนัก และตระหนักว่ามนุษย์เรานี่เองที่เป็นต้นเหตุของภัยพิบัติ
เนื้อหาและเรื่องราวชีววิทยาที่เรียนกันมา จึงไม่ใช่เพียงแค่ความรู้ติดตัวไว้ใช้ประกอบอาชีพต่อไปหลังจบการศึกษาเท่านั้น แต่ต้องได้ซึมซับเข้าไปในหัวใจ ได้ชื่นชมความงามของโลกและชีวิต และรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งบนโลกที่สิ่งมีชีวิตใหญ่น้อยอยู่ร่วมกัน ถ้าเพียงแค่ท่องจำแล้วนำไปสอบให้ผ่าน เราก็กำลังพลาดเป้าหมายสำคัญของวิชานี้ไปเสียแล้ว
สิ่งที่ผมอยากจะบอกกับพวกเขาเหล่านั้นที่กำลังเรียนก็คือ ... ก็เป็นไปได้ที่ว่าสิ่งที่เธอจะได้เรียนแล้วไม่เกิดประโยชน์ แต่ถ้าหากมนุษยชาติและโลกจะร่วมกันผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้ ก็ต้องเป็นเพราะมีคนที่เข้าใจ เห็นความเชื่อมโยงของตนเองและทุกๆ สรรพสิ่งรอบตัว ในระดับที่วิทยาศาสตร์กลไกไม่ได้สอนพวกเขา ... บางทีสิ่งที่พวกเขาเรียนวันนี้อาจเป็นสิ่งที่โลกอนาคตต้องการและเป็นเงื่อนไขของการอยู่รอดของพวกเราทั้งหมดก็ได้ :-)
ตีพิมพ์ในคอลัมน์ มหาสมุทรแห่งปัญญา
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 7 ตุลาคม 2550
เชื่อไหมครับว่าการฟังเป็นสิ่งมหัศจรรย์มากอย่างหนึ่งของคนเรา? ในที่นี้ผมไม่ได้หมายถึงการได้ยินนะครับ (แม้ว่าการได้ยินจะเป็นคุณสมบัติที่มหัศจรรย์มากเช่นกัน) เพราะว่าการฟังเป็นเครื่องมือในการสืบค้นและสร้างความรู้ที่มนุษย์เราคุ้นเคยมากที่สุดอย่างหนึ่ง เราสามารถรับรู้ เรียนรู้เกี่ยวกับโลกภายนอกและโลกภายในได้อย่างมหาศาลหากเรา “ฟังเป็น”
สิ่งที่เรา “ฟัง” ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นเสียงเสมอไปจริงไหมครับ? นอกจากเสียงแล้วเรายังสามารถฟังความคิดของเราเองและผู้อื่นได้ การฝึกภาวนาของสำนักต่างๆ ครูบาอาจารย์หลายท่านก็แสดงอรรถาธิบายว่าไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าการฝึกความสามารถในการ “ฟังเฉยๆ” โดยไม่ต้องไปทำอะไรกับมันอีกแล้ว
ศิลปินเอกของโลกหลายคนเล่าประสบการณ์ความรู้สึกของตนว่า ก่อนที่เขาจะสร้างสรรค์งานชิ้นเอก ไม่ว่าจะเป็นดนตรี จิตรกรรม หรือประติมากรรม ก็ต้องทำจิตให้นิ่งเพื่อให้สามารถ “ฟังอารมณ์” ของตนเองได้ ไม่เว้นแม้แต่คนที่ฝึกฝนมวยจีน ไท้เก๊ก ไท่ฉีฉวน ต่างก็ล้วนต้องฝึก “ฟังพลัง” เช่นกัน
ทั้งๆ ที่การฟังนั้นช่างมหัศจรรย์และมีความสำคัญอย่างยิ่งยวด แต่ดูเหมือนว่าทุกวันนี้พวกเรากลับมีความสามารถนี้จำกัดจำเขี่ยเหลือเกิน หลายคนเป็นโรค “หูดับ” คือ ได้ยินแต่ไม่ได้ฟัง (Hearing but not listening) รู้สึกคุ้นๆ กันไหมครับ โรคนี้ บ้างก็มีอาการแบบรุนแรง บ้างก็เป็นแบบเรื้อรัง บ้างก็ทั้งรุนแรงและทั้งเรื้อรัง เล่นเอาคนรอบข้างปวดขมองไม่น้อย
โรคนี้ระบาดหนักในกลุ่มคนผู้คิดว่าตนเองเก่ง และมีความรู้มาก ยิ่งที่องค์กรไหนมีพนักงานประเภทดังว่ามากๆ ด้วยแล้วยิ่งน่าเห็นใจนะครับ เมื่อเร็วๆ นี้ มีพี่สาวผู้บริหารของบริษัทด้านสิ่งแวดล้อมท่านหนึ่งไต่ถามมาว่าจะมีกระบวนการดีๆ อะไรให้กับเหล่าทีมงานเจ้าหน้าที่บ้าง เพราะสำหรับที่บริษัทแล้วนั้น เรื่องความสามารถ เรื่องการผลิต ล้วนแล้วแต่ไม่ได้มีปัญหาอะไรนัก แต่ทว่ามีเรื่องการสื่อสารระหว่างกันนี่แหละครับ ที่ดูจะยากเอาการ แล้วปรากฏการณ์ดังว่าก็ไม่ใช่เกิดขึ้นแต่ในบริษัทเอกชนนะครับ ในกลุ่มผู้นำ ในกลุ่มครูอาจารย์นี่ก็ไม่ย่อยเช่นกัน
แหม ถ้าเราแก้โจทย์เรื่องการฟังได้ก็คงจะดีไม่น้อยนะครับ เพราะทำให้การทำการบ้านเรื่องการสื่อสารนั้นเสร็จไปแล้วเกินครึ่ง และลองคิดดูว่าชีวิตเราจะมีความสุขแค่ไหน หากตัวเราและคนใกล้ตัวของเราทั้งที่บ้าน ทั้งที่ทำงานให้ความสำคัญ และสามารถฟัง สามารถสื่อสารได้อย่างสร้างสรรค์
ไม่น่าแปลกใจเลยครับที่การฝึกอบรมหลายหลักสูตรถึงได้เน้นเรื่องการฟังเป็นอย่างมาก ดังเช่น สุนทรียสนทนา (Dialogue) ซึ่งในกระบวนการช่วงแรกไม่ได้ให้ความสำคัญกับวิธีการพูด มากเท่ากับการวางท่าทีของการฟัง ให้เป็นการฟังอย่างลึกซึ้ง ฟังเพื่อฟัง ฟังโดยไม่คอยต่อประโยคคนที่พูดกำลังพูด ไม่คาดเดาว่าจะได้ยินอะไรต่อ ฟังโดยห้อยแขวนการตัดสินเอาไว้ก่อน ไม่ประเมินว่ากำลังใช้เวลาในเรื่องที่คุ้มค่าต่อการฟังหรือไม่
กระบวนการหนึ่งซึ่งให้ความสำคัญกับการฟังเป็นอย่างมาก และผมเห็นว่าเป็นกิจกรรมง่ายๆ น่าสนใจ ผมให้ชื่อกิจกรรมนี้เองว่า “หันหลังฟังเพื่อน” ครับ ผมได้เรียนรู้มากมายจากกิจกรรมการฟังนี้ระหว่างที่เข้าร่วมงานจิตตศิลป์ (Arts as Dialogue) กับอาจารย์ ยาคอฟ นะออร์ (Yaacov Naor) ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา และการละครจากประเทศอิสราเอล คนที่แนะนำกิจกรรม “คุณคือใคร?” นั่นแหละครับ
รูปแบบวิธีการก็ดูง่ายๆ ไม่ซับซ้อนครับ เราแบ่งกันออกเป็นกลุ่มย่อย กลุ่มละประมาณห้าคน โดยเลือกจับกลุ่มเอาเองตามอัธยาศัย จากนั้นก็นั่งล้อมกันเป็นวงกลม แล้วเพื่อนๆ สมาชิกในวงก็จะเลือกใครคนหนึ่งในวงขึ้นมาเป็นหัวข้อสนทนา หรือเขาคนนั้นจะอาสาเลือกตัวเองขึ้นมาก่อนก็ได้ ทุกคนที่เหลือจะได้พูดถึงเพื่อนคนนี้อย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะด้านดี ด้านร้าย โดยตลอดช่วงเวลาแห่งการกล่าวถึงนี้ คนที่ถูกพูดถึงต้องนั่งหันหลังให้กับวง ไม่อนุญาตให้หันหน้ากลับเข้ามาในวง ห้ามส่งเสียงใดๆ ไม่ว่าจะโต้ตอบคัดค้านหรือยอมรับ แต่ละคนต้องหันหลังฟังเพื่อนอย่างนี้ไปตลอด ๑๕ นาที เวียนไปอย่างนี้จนทุกคนในวงถูกยกมาพูดถึงจนครบ
กระบวนกรบอกแต่ต้นก่อนแยกกลุ่มกันแล้วว่า เวลาที่คนอื่นๆ ในวงพูดถึงเพื่อนคนนั้น ขอให้พูดอย่างหมดเปลือก คิดเสียว่าเขาไม่อยู่ที่นั่น ไม่จำเป็นต้องพยายามมีมารยาท หรือพูดแต่เรื่องราวดีๆ “ทำเสมือนว่าเรากำลังพูดลับหลังเขา” ขณะที่เรากำลังจะเลือกว่าจะอยู่กลุ่มไหนกับใครนั้น เขาก็สำทับอีกว่า “ขอให้เลือกอยู่ในกลุ่มเดียวกับคนที่คุณอยากได้ยินความเห็นของเขา แทนที่จะเลือกอยู่ในกลุ่มเดียวกับคนที่คุณอยากพูดถึง”
วิธีการ “ดูเหมือน” จะง่ายๆ แต่ก็มีเงื่อนไขปัจจัยสำคัญที่จะทำให้กระบวนการออกมาดีอยู่นะครับ เช่นว่าองค์ประกอบของผู้คนที่เข้าร่วม สภาพบรรยากาศ หรือความสามารถของกระบวนกรในการแนะนำและสรุป
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฟังเพื่อนที่ถือได้ว่าเป็นกัลยาณมิตรก็ช่วยให้เราได้เห็นภาพสะท้อนของตัวเราในสายตาเขา บางเรื่องอาจเป็นสิ่งที่เราก็น่าจะรู้อยู่แล้วแต่ยากจะทำใจยอมรับมันได้ หลังจากจบกระบวนการนี้ บางคนอาจบอกว่าได้ใช้ความอดทนและปล่อยวางเวลาได้ฟังคนอื่นพูดถึงตนและรู้ว่ามันไม่จริงอย่างไร เพราะไม่อยู่ในสถานภาพที่จะโต้แย้งหรืออธิบายอะไรได้
แต่หัวใจสำคัญของการหันหลังฟังเพื่อนนี้ยังมีอะไรมากกว่านั้นครับ คงไม่ใช่ฟังเพื่อให้รู้ว่าคนอื่นคิดกับเราอย่างไร ไม่ได้เป็นไปเพื่อให้เราได้ปรับตัวตามความคาดหวังของเขาได้ แต่เป็นการฟังเพื่อการรับรู้ และเข้าใจโลก เข้าใจว่าโลกและตัวเรานั้นมีมากมายหลายแบบ ความเป็นเราไม่ได้มีเพียงคนเดียว แต่มีเราในสายตาเพื่อน มีเราในความคิดของเพื่อน มีเราอีกหลายต่อหลายคนในตัวคนอื่น และความเป็นเราแบบต่างๆ ก็ล้วนแล้วแต่ถูกต้องทั้งหมดตามเงื่อนไขของบริบท
เรื่องราวเกี่ยวกับตัวเราและสิ่งที่เพื่อนๆ ของเราได้สะท้อนออกมาไม่ว่าจะถูกหรือผิด มันไปกระทบใจทำให้ใจของเราฟูขึ้นหรือแฟบลง หัวใจสำคัญของกระบวนการอยู่ที่ว่าเราควรได้รู้สึกตัว ทำความรู้สึกตัวให้ชัด ถือเอาโอกาสที่ไม่อาจโต้แย้ง สื่อสารแสดงสีหน้าต่อผู้พูดได้นี้ เป็นโอกาสได้สังเกตการเปลี่ยนแปลงของร่างกายและการกระเพื่อมไหวของจิตใจ ได้รู้ว่าข้อคิดเห็นของเพื่อนๆ นั้น ทำให้เกิดผลอย่างไรในใจและในร่างกายของเรา
ระหว่างที่คำชมผ่านเข้ามา เรารู้สึกถึงเลือดที่สูบฉีดไปใบหน้าและหัวใจเต้นแรงไหม ขณะที่คำวิจารณ์วิพากษ์หลุดออกมา สังเกตเห็นไหมว่าเรากำลังตัดสินคำพูดนั้นด้วยความโกรธ ด้วยความกลัว ด้วยความเปราะบาง หรือหวั่นไหวไปด้วยความรัก เราอาจหัวเราะ มีน้ำตาซึม หรือแค่เฉยๆ แต่ทั้งหมดนี้เราได้รู้ตัวหรือเปล่า?
หลังจบกิจกรรมหันหลังฟังเพื่อนแล้ว สิ่งที่เราได้จากการหันหน้ามาคุยแลกเปลี่ยนกันต่อจากนั้น คือ การค้นหาตัวเอง มากกว่าการแก้ตัวว่าเราใช่หรือไม่ใช่อย่างที่เขาคิดเขาเข้าใจ เพราะความเป็นตัวเราจริงๆ แล้วก็ไม่มีหนึ่งเดียวที่ใช่ตัวเราจริงๆ เลย มีแต่ตัวเราตามความเข้าใจของเรา ตามความเข้าใจของเขา ตัวเราที่เราอยากจะเป็น ที่เขาอยากให้เราเป็น ที่เราไม่อยากจะเป็น หรือแม้แต่ตัวเราที่เขาไม่อยากให้เราเป็น
หันหลังฟังเพื่อนพูดถึงเราบ้าง เปิดทั้งหู เปิดทั้งใจให้กว้างเข้าไว้ รับฟังทั้งเสียงภายนอก ทั้งเสียงภายใน เราไม่เพียงได้ฟังเสียงของร่างกายและจิตใจซึ่งเกิดปฏิกิริยาต่อคำพูดความเห็นเท่านั้นแล้ว เรายังจะได้โอกาสสังเกต รู้จัก และยอมรับตัวเองในแง่มุมต่างๆ นานาด้วยนะครับ :-)
ตีพิมพ์ในคอลัมน์ มหาสมุทรแห่งปัญญา
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 30 กันยายน 2550
ว่ากันว่ามนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวที่มีความรู้ตัวว่า “ฉันคือใคร” รู้ว่าฉันเป็นฉัน และฉันนั้นต่างจากคนอื่นๆ อย่างไร
และว่ากันว่าเจ้าความรู้เนื้อรู้ตัวนี้เอง ที่ก่อให้เกิดเรื่องเกิดราวต่างๆ มากมายขึ้นในโลกนี้
ความสามารถในการรู้ตัวคือองค์ประกอบอันเป็นบาทฐานสำคัญของความสามารถก้าวข้ามการมีชีวิตอยู่แค่ตามสัญชาตญาณและเวียนว่ายตายเกิดไปได้ แต่ในอีกด้านหนึ่ง เจ้าความคิดว่าตนเองเป็นใครบางคน หรือเป็นอะไรบางอย่างนี่เอง ก็เป็นที่มาของความทุกข์ เพราะเรามักจะไป “ยึด” ติดว่าเราเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เป็นคนนั้นคนนี้อย่างเป็นจริงเป็นจังเกินเหตุ
อยากจะรู้จักความคิดว่าเราเป็นนู่นเป็นนี่มากขึ้นไหมครับ เราลองมาทำกิจกรรมง่ายๆ กันดูครับ
กิจกรรมการเรียนรู้นี้ทำได้ไม่ยาก เพราะไม่ต้องมีเครื่องมืออุปกรณ์อะไรเป็นพิเศษ เพียงแค่จับคู่กัน หาเพื่อนหรือคนรู้จักที่เราไว้วางใจมากๆ สักคนหนึ่ง นั่งลงหันหน้าเข้าหากัน สบตาเอาไว้ แล้วให้เขาคนนั้นถามเราว่า “คุณคือใคร?” ส่วนเราก็ตอบคำถาม เขาจะต้องถามคำถามเดียวกันนี้ไปเรื่อยๆ และเราก็ตอบไปเรื่อยๆ แค่นี้เอง ทว่าคำตอบต้องไม่ซ้ำเดิม จะบอกว่าเป็นผู้ชาย เป็นคนขยัน เป็นต้นไม้ เป็นความเศร้า เปรียบเทียบหรืออุปมาอย่างไรก็ได้ทั้งนั้นครับ
เพียงแต่ว่าเวลาเราจะตอบคำถามว่าฉันเป็นอะไรออกไป ก็ขอให้เราได้ตอบอย่างจริงๆ จังๆ ใช้ช่วงเวลาที่ถูกถามอย่างต่อเนื่องนั้นได้สืบค้นเข้าไปข้างในตัวในหัวเราก่อน หาเจอแล้วค่อยตอบว่าฉันคือใคร ไม่ต้องรีบร้อนตอบให้ผ่านๆ ไปนัก ตอบด้วยความซื่อสัตย์กับความรู้สึกของตนเอง ด้วยความจริงใจ เปิดเผยและจริงจัง
ส่วนเพื่อนคนถามก็ต้องไม่พูดตอบโต้ หรือให้ความเห็นอะไรเลยครับ แค่ฟังไว้เฉยๆ และสบสายตาไว้ไม่ละสายตาไปจากกัน ถามต่อไปอีกว่า “คุณคือใคร?” โดยไม่ทำเล่นๆ นะครับ ให้เกียรติกับคำตอบของเพื่อน ถามตอบกันอยู่อย่างนี้ประมาณ ๑๐ นาทีครับ
เมื่อครบเวลาแล้วลองผลัดกันกับเพื่อนในการทำหน้าที่ถามกลับดูบ้างครับ ทางเราเป็นฝ่ายถามบ้างแล้วให้เขาตอบ ไม่ต้องเร่งคำถามให้กระชั้นนักครับ แต่ก็ไม่ทอดยาวจนเยิ่นเย้อ
เสร็จกระบวนการถามคำถามแล้วขอให้เราทบทวนบันทึกบางคำตอบของเราที่รู้สึกว่ามันใช่หรือว่า “โดน” สักจำนวนหนึ่ง ไม่ว่าเราจะรู้สึกว่าเป็นคำตอบที่ดี เป็นคำตอบที่เราเองก็ประหลาดใจ หรือคำตอบอะไรก็ตามที่ติดอยู่ในใจ แล้วลองดูถ้อยคำเหล่านั้นว่าเราเห็นอะไรจากกระบวนการบ้างไหม
ไม่น่าเชื่อว่าคำถามง่ายๆ เพียงคำถามเดียว กับกระบวนการพื้นๆ ทำให้เกือบทุกคน (หรือทุกคนเลยก็ว่าได้) พูดกับตนเองว่า “โห ... นี่ฉันหรือเนี่ยะ!” คำถามเดียวนี่แหละครับ สามารถพาเราไปยังดินแดนที่เรารู้จักแต่ไม่คุ้นเคย ดินแดนที่เราอาจไม่รู้ว่ามีอยู่ หรือไม่ก็ดินแดนที่ไม่อยากจะรู้ว่ามีอยู่ (ฮา)
ผมได้เคยลองทำกระบวนการนี้มาสองสามครั้งแล้วครับ ซึ่งแต่ละครั้งก็แตกต่างกันออกไปไม่น้อยครับ โดยครั้งล่าสุดนี้อยู่ในประชุมเชิงปฏิบัติการ Arts as Dialogue กับอาจารย์ ยาคอฟ นะออร์ (Yaacov Naor) ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตตศิลป์ จิตวิทยา และการละครจากประเทศอิสราเอล
ตอนแรกคิดว่าเคยทำแล้วก็คงรู้สึกคล้ายๆ กับที่ผ่านๆ มากระมัง แต่ความเป็นจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลยครับ คงเป็นเพราะองค์ประกอบของคนที่เข้าร่วม โดยเฉพาะคู่ของเรา ความพร้อมของเราทั้งสองคน จังหวะย่างก้าวในการเดินทางในชีวิตของเรา ประเด็นหรือเรื่องราวหลักที่ติดอยู่ในใจเรา ณ ช่วงเวลานั้นๆ และอื่นๆ อีกมากมายครับ
คำถามกว้างๆ ที่ทำให้เราตอบเกือบจะอะไรก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นชื่อ เป็นนามสกุล เป็นอายุ เป็นอาชีพ เป็นลำดับครอบครัววงศาคณาญาติต่างๆ หลังจากค่อยๆ ละเลียดตอบคำตอบแบบพื้นๆ ไปจนเกือบหมด ก็ชักเริ่มรู้สึกถึงความยากของคำถาม
ยิ่งการที่คู่ของเราถามอย่างต่อเนื่อง ทำให้บางครั้งเราอาจคิดไม่ทัน บางคำตอบออกมาจากความรู้สึกชั่วแล่น หรือบ้างก็หลุดออกมาจากอารมณ์ในเวลานั้น สิ่งที่เผยออกมาจากปากของเราไม่ใช่เพียงแค่คำตอบ แต่เหมือนตัวตนของเราถูกลอกออกไปทีละชั้นๆ อย่างที่เราอาจไม่ต้องตั้งใจ ไม่ต้องพยายามมากเกินไป
จากช่วงแรกๆ ของกิจกรรม เราอาจพบว่าคำตอบที่เราบอกไปยังอยู่ในระดับความคิดที่ผ่านการคำนวณร้อยแปดแล้วว่าสิ่งนี้ดี พูดแล้วดูดี เป็นสิ่งที่ใครๆ ก็ยอมรับได้ เป็นสิ่งที่ฉันอยากเป็น (ส่วนจะเป็นจริงหรือไม่นั้นอีกเรื่องหนึ่ง) จนต่อมาก็เริ่มมีคำตอบที่เป็นความรู้สึก เป็นอารมณ์ เป็นสิ่งที่อยู่ในจิตใต้สำนึกของเราถูกเปิดเผยหลุดออกมา
การพยายามตอบเป็นการทำให้เราได้กลับมาตั้งคำถามกับตัวเองอีกครั้งว่าเราเองนั้นคือใคร คืออะไร โดยในแต่ละชั่วขณะของการพูดคุยเป็นประตูบานวิเศษที่เราอาจผ่านเข้าไปรู้จักตนเองมากขึ้น ว่าเรานั้นนิยามตัวเองว่าอะไร ในความรู้ตัว และในความไม่รู้ตัว หรือไม่ทันตั้งตัวก็ว่าได้
ทุกๆ ขณะที่เราตอบ เชิญชวนกึ่งท้าทายให้เราสงสัยว่าเรายังเป็นสิ่งเดิมที่ตอบไปเมื่อชั่วครู่หรือไม่ ยังเป็นคนเดิมที่เหมือนเดิมทุกประการ หรือเป็นคนเดิมที่ไม่เหมือนเดิมแล้ว อาจมีบางขณะที่เรารู้สึกว่าเราทั้งเป็นและไม่เป็นสิ่งที่เราเพิ่งจะตอบไปในเวลาเดียวกัน
เพราะในชั่วเวลาไม่กี่วินาทีที่เราเพิ่งกำหนดความเป็นตัวตนของเราลงไป ว่าเราคือใคร เราเป็นอะไร คำถามว่า “คุณคือใคร?” ก็กลับมาใหม่ ให้เราได้ค้นหาอีกครั้ง เหมือนว่าเป็นการพยายามทิ้งตัวตนที่เพิ่งสร้างไป แล้วขุดค้นหาความเป็นตัวตนใหม่ไปเรื่อยๆ ไม่รู้จบ
กระบวนการมันชวนให้เราฉุกคิดและใคร่ครวญว่า เราเป็นสิ่งที่เราให้คำตอบไปจริงหรือไม่? (แม้ว่าเราจะจริงใจมากๆ ก็ตาม) แล้วอะไรที่ทำให้เราเป็นหรือไม่เป็นดังว่า หากเราคิดว่าเราเป็นบางคนหรือบางอย่าง แล้ว คนอื่นไม่เห็นด้วยล่ะ ความคิดของใครถูกกันแน่ เป็นไปได้ไหมที่ถูกต้องทั้งสองคนหรือหลายคนก็ตาม
หรือว่าแท้จริงแล้วเราเป็นเพียงแค่ทะเลแห่งความเป็นไปได้จำนวนอเนกอนันต์ รอคอยการสังเกต การสัมผัส การเรียกขาน การทำให้ตัวตนของเราอุบัติขึ้น? :-)
ตีพิมพ์ในคอลัมน์ มหาสมุทรแห่งปัญญา
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 23 กันยายน 2550
ท่านจะจดจำมันได้เหมือนน้ำที่ได้ไหลผ่านพ้นไป
- โยบ 11:16
ผมดูข่าวเครื่องบินลื่นไถลจากทางวิ่ง เห็นภาพไฟไหม้ ผู้คนบาดเจ็บและเสียชีวิตมากมายด้วยความรู้สึกพิเศษ คำว่า “เกินบรรยาย” ดูจะตรงกับสิ่งที่ผุดขึ้นในใจไม่น้อย อาจเป็นเพราะผมหวนนึกถึงประสบการณ์เมื่อคราวที่ผมต้องบินกลับมาเมืองไทย เนื่องด้วยพี่สาวเป็นหนึ่งในผู้โดยสารเครื่องบินตกที่สุราษฎร์ธานีเมื่อหลายปีมาแล้วนั้น เหตุการณ์มันดูเร็วไปหมด ทั้งครอบครัวเราต้องช่วยกันคิดตัดสินใจและดูแลเรื่องกฎหมาย พิธีฌาปนกิจ และอื่นๆ อีกทั้งงานบวชของตัวผมเองด้วย
แม้ว่าเทียบกันกับเหตุการณ์เมื่อเก้าปีก่อนซึ่งผมแทบไม่เห็นภาพข่าวอะไรในเวลานั้นเลย แต่ข่าวอุบัติเหตุที่ภูเก็ตคราวนี้มีรายงานออกรายการโทรทัศน์กันทุกๆ ช่อง ทุกๆ ชั่วโมง พาดข่าวทุกๆ หัวหนังสือพิมพ์ มันฉุดดึงและเชิญชวนให้ผมกลับมาสำรวจความรู้สึกตนเองอีกครั้ง เหมือนได้กลับมาที่เดิม ที่ไม่ใช่ที่เดิม
แล้วก็คงไม่ใช่สำหรับผมคนเดียวแน่นอน ยังมีคุณแม่ คุณอา พี่สาว พี่ชาย ...
อาจารย์คนหนึ่งที่อเมริกาซึ่งผมเคารพได้บอกผมว่า “มันเป็นเรื่องที่ทำใจลำบาก สำหรับพ่อแม่ที่ต้องไปงานศพของลูก” ก็คงจะจริง เพราะดูเหมือนโลกของคุณแม่มืดมนไปอย่างมาก หลังจากผ่านพ้นเหตุการณ์ไปใหม่ๆ หลายต่อหลายครั้งที่คุณแม่ยืนนิ่งไปแล้วก็น้ำตาซึม
ยิ่งเมื่อคราวที่คุณพ่อเสียด้วยแล้ว ผม “นึก” ไม่ออกว่าการสูญเสียคนที่เคยอยู่ใกล้ชิดด้วยกันร่วมครึ่งศตวรรษนั้นมันหนักหนาสาหัสประการใด ช่วงนั้นคุณแม่ดูหงอยเหงาเศร้าซึม ไม่อยากฟังแม้บทสวดมนต์ที่เคยเปิดให้คุณพ่อในช่วงสุดท้าย โลกของคุณแม่ดูขาดๆ หายๆ อะไรไป
แต่หลังจากนั้นผ่านไประยะหนึ่ง เมื่อได้ผ่านช่วงเวลาแห่งการ “ไว้ทุกข์” ที่ไม่ใช่แค่พิธีกรรมข้างนอก แต่เป็นการวิถีอันศักดิ์สิทธิ์ภายใน คุณแม่เริ่มมีกิจกรรมใหม่ๆ ที่สามารถทำคนเดียวได้ เช่น ปลูกต้นไม้ ไปเข้าค่ายอบรมสมาธิสมถะวิปัสสนาสายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอานาปานสติที่สวนโมกขพลาราม หรือยุบพองที่ยุวพุทธิกสมาคม คุณแม่ก็ดูสดใสขึ้นทีละนิดๆ แถมช่วงหลังยังติดตามลูกๆ ไปงานเสวนาและเวิร์กชอปต่างๆ บางครั้งก็ไปเองคนเดียว แม้ว่าแม่จะไม่เคยเรียนเขียนอ่านหนังสือมาเลยก็ตาม
เมื่อไม่กี่เดือนมานี้ พวกเราลูกๆ ช่วยกันคะยั้นคะยอให้คุณแม่ไปฟิตเนส ต้องใช้เทคนิคต่างๆ ไม่น้อยครับ เราเลือกสถานที่ออกกำลังกายซึ่งมีสระว่ายน้ำในร่ม เพราะท่านคงวิ่งบนเทรดมิลล์หรือปั่นจักรยานไม่ไหวแน่ ช่วงแรกเราก็ไปว่ายด้วยกัน ท่านก็จะกลัวๆ กล้าๆ เพราะว่ายน้ำไม่เป็น กลัวจมบ้าง กลัวน้ำเข้าปากบ้าง
เดี๋ยวนี้หรือครับ ไปเองแล้วครับ ไปทุกวันเลย วันไหนไม่มีใครไปส่งก็ขึ้นรถแท็กซี่ไปเองได้ ว่ายได้ทั้งเดินหน้า ถอยหลัง สนุกสนานเอิ๊กอ๊ากใหญ่ ตอนนี้เธอเลยมีก๊วนเกิร์ลลี่แก๊งรุ่นใหญ่ในสระด้วย คุยกันกระหนุงกระหนิงเป็นที่ครื้นเครงน่ารัก
โลกของคุณแม่ที่เดิมมีแต่เรื่องการสูญเสีย การขาดหายไปพร่องไป ก็ค่อยเปลี่ยนผ่าน เปลี่ยนไปตามสามัญธรรมดาของธรรมชาติ ทุกวันนี้คุณแม่สวดมนต์วันละเกือบร้อยจบ ออกกำลังกายวันละเกือบชั่วโมง เจริญทั้งสติ เจริญทั้งอาหาร หลับก็สบาย แถมครอบครัวเรายังสามารถพูดคุยกันเรื่องความเจ็บป่วยและความตายได้อย่างปรกติธรรมดาอีกด้วย
ผมเชื่อว่าความทุกข์อันยิ่งใหญ่ของผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่ภูเก็ตนั้นเป็นความรู้สึกจริงๆ ผมขอร่วมแสดงความเสียใจด้วย และเป็นกำลังใจให้ทุกคนได้ก้าวเดินต่อ เพราะ สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นต่อหน้าต่อตาเรา ไม่ว่าจะเล็กน้อยหรือยิ่งใหญ่เพียงใด ล้วนแล้วแต่จะผ่านพ้นไป
คุณหมออภิชัย มงคล แห่งกรมสุขภาพจิต บอกว่าจากการวิจัยเอกสารพบว่าจิตใจของมนุษย์จะเผชิญความเสียใจร้ายแรงในระยะสั้นๆ หนึ่งถึงสองอาทิตย์ก็ปรับจิตใจได้
ดูเหมือนเข้ากันได้กับเรื่องของอาจารย์ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งซึ่งท่านเคยไปเยี่ยมคุณหมอคนหนึ่งผู้ประสบอุบัติเหตุหนัก สมาชิกครอบครัวเสียชีวิตในเหตุการณ์เดียวกันหลายคน คุณหมอนอนจมอยู่ในความทุกข์ทางกายและทางใจ อาจารย์ท่านกล่าวว่า “ไม่เคยมีใครเสียใจจนตาย” (ยกเว้นจากอาการอื่นๆ ข้างเคียง) คำพูดนี้ช่วยทำให้คุณหมอท่านนั้นได้สติ และกลับมามีชีวิตใหม่ มีอนาคตอันแจ่มใส อยู่ในความเป็นปัจจุบันอันอุดมไปด้วยความโอบอุ้มและการเยียวยา
มากมายหลายครั้งที่เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงขึ้นในชีวิตของเรา แต่ผู้คนจำนวนไม่น้อยก็ยากจะยอมรับและเผชิญได้ บางคนทุ่มเทเวลาให้กับงาน บางคนละทิ้งสิ่งแวดล้อมเดิมๆ หลีกเลี่ยงไม่มองไม่พูดถึงสิ่งที่จะทำให้ย้อนคิดถึงเหตุการณ์นั้น อาจเพราะความรู้สึกโศกเศร้ามันรุนแรงและหนักหน่วงเกินกว่าจะดำเนินชีวิตไปตามปรกติประจำวันเช่นเคยได้
เราปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องร้ายนั้นเกิดขึ้นไปแล้ว และเกิดขึ้นจริงๆ เช่นเดียวกันกับความรู้สึกเสียใจซึมเศร้าซึ่งเกิดขึ้นในใจเรา ผมคิดว่าเราควรพร้อมยอมรับและเผชิญกับมันตรงๆ ไม่มีความจำเป็นต้องหลีกเลี่ยง พยายามลืม หรือหาเรื่องอื่นเข้ามาเติมถมลงไปในความคิดให้ไม่มีพื้นที่ว่างสำหรับความเศร้า เพราะการได้อยู่ในอารมณ์ได้ปลดปล่อยความรู้สึกสูญเสีย เป็นขั้นตอนสำคัญของการเปลี่ยนผ่านจากอดีตไปสู่อนาคต
ในฐานะคนรอบข้าง เราก็ไม่ควรบังคับหรือเร่งให้ใครเลิกโศกเศร้าเสียใจ ด้วยว่าแต่ละคนต่างมีหนทางและการเดินทางเป็นของตนเอง หากจะช้าหรือเร็วก็ขึ้นกับคนผู้นั้นเอง คนรอบข้างจึงควรได้ช่วยดูแลเขาในระยะเวลาแห่งความเศร้าให้ข้ามผ่านพ้นสภาวะนั้นไปได้ด้วยดี ประคับประคองสุขภาพกาย เกื้อหนุนการดำเนินชีวิตแต่ละวันให้ลุล่วงไปได้โดยไม่ทำร้ายตัวเอง
วัฒนธรรมของมนุษย์เรามีพิธีกรรมต่างๆ ช่วยเยียวยาและพาเราผ่านสถานการณ์สูญเสียไปได้ แม้ปัจจุบันโลกหมุนไวไปสู่สังคมสมัยใหม่ แต่ก็มีความรู้ว่าด้วยการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย การรักษาเยียวยาจิตใจของญาติ โดยกลุ่มคนต่างๆ ร่วมกันทำงาน ทั้งพระ บุคลากรสุขภาพ กระบวนกร นักฝึกอบรม ร่วมกันเป็นกลุ่ม เป็นเครือข่าย ดังเช่น งานของเครือข่ายพุทธิกา เป็นต้น ใจความสำคัญของความรู้เรื่องนี้ก็เป็นเช่นกันกับพิธีกรรมคือการได้เข้าใจความรู้สึกของตนและถือเอาความโศกเศร้านี้เป็นสะพานข้ามผ่านไปสู่วันใหม่
อดีตที่เจ็บปวดจึงไม่ควรถูกกลบฝังไปด้วยการละเลยความรู้สึก แต่เราต้องเผชิญกับความทุกข์ในใจ ยอมให้ได้สัมผัสกับความรู้สึกของตัวเอง จนกระทั่งยอมรับและพร้อมสำหรับการพบวันใหม่ ให้เป็นช่วงเวลาที่ได้ปลดปล่อยตัวเองออกจากอดีตอย่างเข้าใจปัจจุบันไปสู่อนาคตต่อไป
ตีพิมพ์ในคอลัมน์ มหาสมุทรแห่งปัญญา
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 16 กันยายน 2550
เมื่อเร็วๆ นี้ ผมเพิ่งได้ไปเยี่ยมผู้ต้องหาซึ่งถูกฝากขังในเรือนจำครับ แปลกใจเหมือนกันที่ครั้งนี้เป็นครั้งแรก เพราะดูเหมือนคนใกล้ชิดที่คุ้นเคยทั้งหลายดูจะมีแนวโน้มได้แวะเวียนเข้าไปหลายคน แต่ก็มักเป็นด้วยเหตุผลจากการทำเรื่องดีๆ ทั้งนั้นนะครับ
เธอและเขาเหล่านั้นล้วนแล้วแต่เป็นคนจำพวกที่มีความกล้าเหนือมนุษย์ปรกติทั่วไป กล้ายืนหยัดแสดงความกล้าหาญทางจริยธรรม ต่อสู้เพื่อความถูกต้อง เพื่อความดีงามของสังคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิในฐานทรัพยากรหรือสิทธิของชนกลุ่มน้อย ชนชายขอบต่างๆ
สาเหตุที่ทำให้ผมได้ไปเรือนจำนั้นเป็นเพราะรุ่นพี่ที่สนิทสนมนับถือชอบพอกันมาก เขาได้เข้าไปนอนอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครอยู่นานเกือบสัปดาห์
ด้วยความที่เป็นครั้งแรก ผมจึงเกิดอาการงงๆ ว่าเขาต้องทำอย่างไรบ้าง ทำอะไรก่อนหลัง จะต้องลงชื่อในบัตรแจ้งเยี่ยมญาติหรือไม่ ต้องรอตรงไหน ซื้อกับข้าว อาหาร ขนม เป็นของฝากอย่างไร ดีที่กระบวนการไม่ยากเย็น จึงใช้เวลาไม่นานในการจัดหาข้าวเหนียว หมูเค็ม ปลาสลิด กุนเชียง เงาะ ลองกอง มะม่วงและอื่นๆ เป็นเสบียงสำหรับวันเสาร์-อาทิตย์ที่ห้ามเยี่ยม
แม้จะอยู่เยี่ยมได้ไม่นาน แต่ก็รับรู้ถึงความขัดแย้ง ความคับข้องของบรรยากาศ มันช่างเป็นสภาพการณ์และพื้นที่ซึ่งตึงเครียดมาก อาจจะเป็นสถานที่อันมีความเขม็งเกร็ง ขัดแย้งกันมากที่สุดแห่งหนึ่งของมนุษยชาติ ขัดแย้งระหว่างความเชื่อในเมล็ดพันธุ์แห่งโพธิภายในมนุษย์แต่ละคนกับรูปธรรมของการกระทำที่เราได้พบเห็น ขัดแย้งระหว่างหน้าที่ของระบบที่มีเพื่อจำกัดเสรีภาพกับจิตวิญญาณและเจตจำนงอิสระของมนุษย์ หรือขัดแย้งระหว่างความรู้สึกของผู้ได้รับความเสียหายกับความรักความผูกพันของครอบครัวของผู้ต้องหา
การไปเยือนสถานที่อย่างนี้ยังทำให้ผมหวนนึกถึงรุ่นน้องอีกคนหนึ่ง เธอมีความสามารถในการคลี่คลายความขัดแย้งโดยเฉพาะความขัดแย้งในใจของผู้คน เธอเป็นนักจิตบำบัดผู้สนใจทำงานช่วยเหลือนักโทษประหาร โครงการวิจัยระดับปริญญาเอกที่เธอเคยเสนอคือการเข้าไปช่วยให้คนเหล่านี้ได้สงบจิตสบายใจในช่วงท้ายของชีวิต
ขณะที่อาจารย์บางคนในคณะกลับวิจารณ์งานนี้ว่าไม่น่าทำ เพราะท่านเห็นว่ามันเสียเวลา อีกไม่นานคนเหล่านี้ก็จะไปแล้ว สู้เอาเวลามาช่วยคนที่จะยังอยู่ อย่างงานจิตวิทยาในเด็กยังจะดีกว่า
ผมทึ่งและประทับใจในความมุ่งมั่นและจิตใจของเธอ เพราะเธอไม่ขอทำงานวิจัยที่ไม่ได้เป็นผลงานอันมาจากความคิดและความพยายามของเธอเอง แม้ว่าจะเป็นงานขั้นสุดท้ายที่จะได้สำเร็จการศึกษาก็ตาม สุดท้ายเธอก็เลือกลาออกจากคณะ เพื่อแสดงจุดยืนทางความคิดและวิชาการของตัวเอง
ส่วนรุ่นพี่คนที่ผมไปเยี่ยม เขาก็ต้องเข้าไปอยู่ในสถานที่อย่างเรือนจำเหมือนกัน สาเหตุนั้นก็มีที่มาจากการมีจุดยืนอีกเช่นกัน เพราะในช่วงที่สถานการณ์บรรยากาศทางการเมืองของประเทศไทยยังอยู่ใต้กฎอัยการศึก เขาก็ได้เลือกที่จะแสดงจุดยืนทางการเมืองของเขา
“เสรีภาพของคนเรานั้นมี ๒ อย่าง คือ เสรีภาพทางความคิด และเสรีภาพทางกาย การที่ผมอยู่ในนี้แม้จะถูกจำกัดเสรีภาพทางกาย แต่ไม่ได้ถูกจำกัดเสรีภาพทางความคิด และก็เป็นการเลือกด้วยตนเอง ผมได้เลือกแล้ว จากนี้ก็เป็นหน้าที่ของแต่ละคนข้างนอก ที่จะต้องเลือกว่าจะใช้สิทธิและเสรีภาพของตนเองอย่างไร”
พี่เขาผู้ซึ่งทำงานอาสาสมัครมาต่อเนื่องยาวนาน ยังกล่าวเสริมอีกด้วยว่า “นี่เป็นงานอาสาสมัครที่ท้าทายที่สุด มากกว่าทุกๆ ครั้ง” หลังจากหยุดคิดพักหนึ่ง “บางคนอาจไม่เรียกว่าเป็นงานอาสาสมัครนะ แต่ผมขอเรียกว่าผมอาสาตัวเองเข้ามาตรงนี้ละกัน”
ผมตั้งคำถามกับตนเองว่า คนเหล่านี้เขาเลือกที่จะทำหรือไม่ทำอะไรบางอย่างนั้น เขาเลือกในฐานะอะไร? อะไรเป็นเกณฑ์คุณค่าและบรรทัดฐานในการตัดสินใจของเขา ไม่ว่าจะในกรณีรุ่นน้องที่แสดงจุดยืนทางวิชาการ หรือในกรณีรุ่นพี่ที่แสดงจุดยืนทางการเมือง
คำถามนี้ทำให้ผมนึกถึงท่านทะไลลามะ ผู้เป็นประมุขทางศาสนาและเป็นผู้ปกครองทิเบต ดินแดนหลังคาโลกที่ผู้คนล้วนศรัทธาในพระพุทธศาสนา ต่อมาเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองในประเทศจีน ทิเบตจึงถูกรัฐบาลจีนส่งกำลังทหารเข้ายึดครอง ผนวกรวมดินแดนแห่งนี้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของประเทศ
จุดเปลี่ยนนี้เองที่ทำให้ท่านซึ่งยังเยาว์วัยในเวลานั้น ต้องหลีกลี้ภัยออกมายังเมืองธรรมศาลา ในประเทศอินเดีย นับจากนั้นเป็นต้นมา ท่านได้เผยแพร่คำสอนมากมายให้แก่โลก ขณะเดียวกันก็เป็นสัญลักษณ์และตัวแทนการเรียกร้องสันติภาพและความสงบสุขให้กลับคืนสู่ทิเบต
ต่อคำถามว่าด้วยการเลือกในฐานะอะไรนี้ ท่านเคยกล่าวไว้ว่า การตัดสินใจกระทำการสิ่งใดๆ ท่านจะพิจารณาตามฐานะที่ท่านเป็น เพราะในเวลาเดียวกันที่ท่านเป็นคนทิเบต ท่านยังคงมีสถานภาพฐานะเป็นลามะหรือพระด้วย และแน่นอนที่สุดคือ ท่านเป็นมนุษย์ เป็นส่วนหนึ่งของมนุษยชาติ
ท่านกล่าวว่าในฐานะประชาชนคนทิเบต ท่านย่อมต้องมีความคิด และการกระทำที่สอดคล้องเหมาะสม สามารถแสดงจุดยืนเกี่ยวกับประชาชนและประเทศทิเบต
แต่การแสดงออกของท่านก็ไม่ใช่ว่าจะไร้ขอบเขต ไม่มีขีดจำกัด เพราะหากต้องสูญเสียเลือดเนื้อชีวิตผู้คนเพื่อต่อสู้ให้ได้มาซึ่งเสรีภาพในการปกครองตนเองของทิเบตแล้ว ท่านก็ไม่คิดกระทำ เพราะในฐานะที่เป็นพระ ท่านก็มีวินัยสงฆ์กำกับ การแสดงออกอะไรที่ไม่เหมาะสม ท่านก็พึงละเว้นงดเว้นเสีย
ท่านทะไลลามะยังไปไกลกว่านั้นด้วยการบอกว่า สิ่งที่ท่านเป็นยิ่งกว่าสิ่งใดๆ นั่นคือ ท่านมีฐานะเป็นมนุษย์ หากมีสิ่งไหนเรื่องราวใดต้องตัดสินใจ แล้วเป็นทางเลือกซึ่งขัดกับพื้นฐานของความเป็นมนุษย์เสียแล้ว ท่านก็จะไม่กระทำ
ผมนึกย้อนกลับไปถึงรุ่นพี่รุ่นน้องทั้งสองคนนั้นอีกครั้งว่า เขาเห็นตัวเองเป็นอะไรในตอนที่เขาเลือก?
ส่วนผมก็ได้เลือกแล้วเช่นกัน ผมเลือกที่จะไปเยี่ยมรุ่นพี่คนนี้ที่เรือนจำ ผมคิดว่า ความคิดเห็น ความเชื่อ หรือจุดยืนทางการเมือง หรือจุดยืนทางอาชีพ ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เพราะไม่ใช่จุดยืนหลักที่ผมใช้ในการตัดสินใจไปในกรณีนี้ :-)
ตีพิมพ์ในคอลัมน์ มหาสมุทรแห่งปัญญา
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 2 กันยายน 2550
ระหว่างการประเมินสองแบบที่คุณมาการ์เร็ต วีตเลย์ เธอได้อธิบายเอาไว้นี้ “การประเมินด้วยมาตรฐาน” ดูจะเป็นรูปแบบที่พวกเราคุ้นเคยกันดี จริงไหมครับ? เพราะตั้งแต่เล็กจนโตเราคงได้มีประสบการณ์เคยทำข้อสอบแบบปรนัยให้เลือกข้อใดข้อหนึ่ง หรือยากขึ้นไปอีกนิดก็เป็นข้อสอบอัตนัยที่ตั้งคำถามมาให้เราเขียนตอบอธิบาย
ไม่ว่าจะต้องเผชิญกับข้อสอบแบบปรนัยหรืออัตนัย สุดท้ายเราต้องเลือกคำตอบ หรือเขียนคำตอบ ให้ตรงตามเฉลยที่ตั้งไว้แต่ต้นแล้วให้มากที่สุด (อยู่ดี) และแน่นอนว่าข้อสอบนี้ต้องเกิดจากการคิดการออกแบบและตั้งคำถามโดยครูอาจารย์ และท่านผู้รู้เหล่านี้แหละจะนำคำตอบของเราไปเทียบกับคำเฉลยเพื่อ “ประเมิน” ว่าเรามีความรู้แค่ไหน มีความสามารถเพียงไร
วิธีสอบคุ้นๆ กันดีแบบนี้แหละครับ “การประเมินด้วยมาตรฐาน”
สำหรับแบบที่สองชื่อว่า “การประเมินที่มีชีวิตด้วยวงจรป้อนกลับ” นั้น คุณมาการ์เร็ต วีตเลย์ ไม่ได้ตั้งชื่อนี้ขึ้นมาลอยๆ ครับ มันมีส่วนต่างกันตรงที่เธอเห็นว่าการประเมินแบบนี้มีพื้นฐานอยู่บนความเชื่อในเรื่องการเจริญเติบโต ความสามารถในการปรับตัว และการมีพัฒนาการของของชีวิต
เอ ... แล้วการสอบแบบแรกไม่มีชีวิตหรืออย่างไร? ความหมายไม่ได้ตรงไปตรงมาว่าคนออกข้อสอบและคนทำข้อสอบไม่มีชีวิตไม่มีหัวจิตหัวใจ แต่กระบวนทัศน์ที่เป็นพื้นฐานสำหรับการวัดประเมินด้วยมาตรฐานนั้นมีที่มาจากวิทยาศาสตร์กลไก เราจึงให้ความเชื่อมั่นกับสิ่งที่วัดค่าได้แน่นอน ควบคุมจัดการได้ มีเป้าหมายที่ชัดเจน และต้องการให้กระบวนการดำเนินไปตามที่คาดการณ์
ฉะนั้น คำถามปรนัยในแบบแรกจึงต้องมีคำตอบที่ถูกต้องที่สุดเพียงข้อเดียว และคนตอบห้ามทะลึ่งเขียนคำตอบเป็นอย่างอื่นนอกเหนือไปจากทางเลือก ก. ข. ค. ง. 4 ข้อนี้ที่จัดให้ หรือบางวิชาในบางคณะ อาทิ คณะแพทยศาสตร์ ก็อาจมีตัวเลือกที่วิจิตรพิสดารมากขึ้นไปอีก เช่น ก., ข., ค., ถูกทั้ง ก. และ ข., ถูกทั้ง ก. และ ค., ถูกทั้ง ข. และ ค., ถูกทั้ง ก. ข. และ ค., หรือ ผิดทั้งหมด
ถึงจะเปิดอิสระเพิ่มขึ้นเป็นอัตนัย แต่เมื่อเป็นการประเมินด้วยมาตรฐาน คนตอบก็ต้องพยายามเขียนไปตามลำดับและให้คำตอบตรงกันกับคำเฉลยที่มีไว้ล่วงหน้าแล้ว
ไม่ใช่ไม่ดีหรอกครับ แต่ไม่ได้เหมาะกับทุกเรื่อง ถ้าเป็นการวัดคุณลักษณะของสิ่งของสถานที่ล่ะก็ใช่เลย หาความสูง ชั่งน้ำหนัก วัดอุณหภูมิ หรือจะวัดความรู้ในเชิงความจำอย่างสูตรคูณ ชื่อบุคคลสำคัญ การคำนวณทางคณิตศาสตร์ อย่างนี้คือสอบแบบการประเมินด้วยมาตรฐาน
ย้อนไปดูการประเมินที่มีชีวิตด้วยวงจรป้อนกลับกันอีกทีว่าเป็นอย่างไร ผมเคยเล่าไว้แล้วว่าการวัดประเมินแบบนี้ให้ความสำคัญกับบริบทเรื่องราว เพราะความมีชีวิตของแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน แทนที่จะกำหนดใช้มาตรฐาน การสอบแบบนี้ก็จะเปิดช่องไว้สำหรับการรับรู้ ชื่นชม ให้คุณค่ากับนวัตกรรมใหม่ ความคิดสร้างสรรค์ ความฝันจินตนาการ สิ่งที่ทำให้เราร้อง “ว้าว” ด้วยความทึ่ง ความประหลาดใจว่า “อืมม์ ... เนอะ ... คิดได้ไงเนี่ย!”
สิ่งเหล่านี้ถ้าใช้การประเมินด้วยมาตรฐานจะมองไม่เห็นเลยครับ เพราะเชื่อว่าการทำซ้ำและการคาดการณ์ได้เป็นเรื่องสำคัญและมีคุณค่า อะไรที่อยู่นอกเหนือคำเฉลย (ของครู) หรือมาตรฐานที่ตั้งไว้ (ในตำรา) อาจถูกพิจารณาว่าเป็นสิ่งผิดพลาด หรือเป็นตัวก่อกวนในระบบไปเสียอีก
ตัวอย่างชัดๆ เมื่อเร็วๆ นี้ ในงานเสวนา “Creativity: Key to Success” จัดโดยนิตยสาร Modern Mom วิทยากรทุกท่านเห็นพ้องต้องกันว่า การไม่เปิดให้เด็กแสดงความเห็นนอกกรอบ ต้องเป็นไปตามหนังสือตำรา หรือตามคำบอกเล่าของครู ดังที่พบมากในการศึกษาบ้านเรานั้น ล้วนไม่เอื้ออำนวยต่อการแสดงความคิดสร้างสรรค์ของเด็ก
การประเมินที่มีชีวิตฯ จึงเป็นอีกกระบวนทัศน์สำหรับการสอบที่ให้ความสนใจต่อการเจริญเติบโต สร้างสรรค์และปรับตัว ดังนั้น การตั้งคำถามจึงมีลักษณะเปิดกว้างพร้อมจะรับข้อมูลคำตอบจากทุกๆ ด้าน การให้ความหมายต่อเรื่องใดๆ จะเกิดการเปลี่ยนแปลงในลักษณะวิวัฒนาการก้าวไป เพราะถ้ากำหนดให้หยุดนิ่งหรือแน่นอนตายตัวเมื่อไหร่ นั่นแหละครับจึงเป็นลักษณะของเครื่องจักรกลไก เป็นระบบที่เราต้องการความแน่นอน มีการทำงานแบบเดิมซ้ำๆ ไม่ต้องเติบโตและไม่ปรับตัว
ประการสำคัญอีกอย่างที่ลืมไม่ได้คือ การปรับตัวของชีวิตนั้นเป็นพัฒนาการ และชีวิตจะวิวัฒนาการร่วมไปกับสิ่งแวดล้อม การสอบในมุมมองนี้จึงเป็นส่วนสำคัญสำหรับการเรียนรู้เพื่อปรับปรุงพัฒนาตัวเอง ภายในบริบทสังคมและสิ่งแวดล้อมของผู้เรียน
เด็กๆ ในป่าชุมชนจึงไม่จำเป็นต้องท่องชื่อสามัญทางวิทยาศาสตร์ของแมลงไว้เพื่อตอบข้อสอบ แต่ควรจะได้รู้จักชื่อท้องถิ่นและนิสัยของแมลงนานาชนิดที่เกี่ยวข้องอยู่ในวิถีชีวิตประจำวันของเขา
ที่สำคัญ คือ การเข้าใจถึงลักษณะที่แท้จริงของกระบวนการเรียนรู้ของมนุษย์ ว่ามนุษย์แต่ละคนนั้นมีความแตกต่างหลากหลายกันทั้งตามธรรมชาติ และตามสังคม วัฒนธรรมประเพณี สิ่งแวดล้อม รวมไปถึงประสบการณ์ในอดีตแต่ละช่วง ทำให้แต่ละคนมีวิถี จริต จังหวะ และอัตราการเรียนรู้แตกต่างกันไป การเรียนรู้และการสอบประเมินที่เหมาเอาว่าผู้เรียนแต่ละคนเหมือนกัน เมื่อถึงเวลาหนึ่งๆ ต้องผ่านตามเกณฑ์หนึ่งๆ จึงเป็นสิ่งที่น่าขบขันและน่าเศร้าในคราเดียวกัน
ฐานคิดที่อาจนำไปสู่การพัฒนาการวัดประเมิน การสอบที่เหมาะสมกับมนุษย์มากขึ้น ก็คือ การเปิดพื้นที่ให้มี “การประเมินเหตุ” ควบคู่ไปกับ “การประเมินผล” เพราะบางครั้งเราอาจไม่รู้ว่ากระบวนการเรียนรู้ที่เราอยากให้เกิดในผู้เรียนนั้นจะเกิดขึ้นเมื่อใด จะไปบังคับให้เกิดก่อนที่เราจะวัดก็ไม่ได้ แต่สิ่งที่เรารู้จากหลักปัจจยการ ที่ว่าสิ่งๆ หนึ่งเกิดขึ้นได้ก็เพราะมีเหตุอันเป็นปัจจัยให้เกิดผลนั้น ผลที่ดีก็ย่อมมาจากการมีเหตุที่ดี ดังนั้น เราก็อาจจะวัดว่าการเรียนรู้ตามที่เราอยากเห็นนั้น มันมีเหตุมีปัจจัยที่เอื้อให้เกิดขึ้นหรือไม่ สักกี่มากน้อย หรือเรียกอีกนัยหนึ่งก็คือ เป็นการประเมินปัจจัยนำเข้า (Input) และกระบวนการ (Process) ควบคู่ไปกับการตรวจดูผลลัพธ์ (Output) ผลปลายทาง (Outcome) หรือผลกระทบ (Impact)
สำหรับการเรียนรู้แล้ว การสอบซึ่งน่าจะเป็นคำตอบที่ถูกต้องที่สุดไม่ใช่การเลือกใช้การประเมินด้วยมาตรฐาน หรือใช้การประเมินที่มีชีวิตด้วยวงจรป้อนกลับ อย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น แต่ควรจะได้ใคร่ครวญ “ใส่หัวใจ” ลงไปในกระบวนการสอบ เพื่อจะได้เป็นกระบวนการที่มีความสุขมากกว่าความเครียด
แนวโน้มช่วงสามสิบปีผ่านมาก็พบว่าเป็นไปในทำนองเดียวกันนี้ การสอบวัดตามเกณฑ์ลดน้อยลง คุณบราวน์และคณะทำงานสำรวจพบว่าการสอบข้อเขียนและสอบประเมินโดยผู้สอนมีน้อยลง แต่มีการใช้วิธีทำงานในวิชาเรียนและประเมินการเรียนรู้โดยตัวผู้เรียนมากขึ้น ชัดมากๆ คือเดิมใช้การสอบแบบวัดผลลัพธ์ หรือดูปลายทางเป็นสำคัญว่าจำได้มากน้อยแค่ไหน กลายมาเป็นการประเมินกระบวนการมากขึ้น
ผลการสำรวจของเขาคงไม่ได้สร้างความประหลาดใจให้เราเท่าไหร่กระมังครับ เพราะพวกเราในแวดวงการศึกษาก็พอจะได้ยินได้เห็นและรับรู้การเปลี่ยนแปลงในวงการศึกษาทั้งต่างประเทศ และวงการศึกษาทางเลือกของไทยเรามิใช่น้อยเลย หากแต่ว่าเรายังไม่กล้าจะเปลี่ยนแปลง หรือยังไม่สามารถออกไปพ้นจากกรอบวิธีการเดิมๆ ที่ถูกกำหนดมาว่าต้องเป็นไปในแนวทางนี้เท่านั้น
ใส่หัวใจให้การสอบแล้วเราอาจจะพบคำตอบว่า การสอบไม่ใช่กระบวนการเพื่อการวัดประเมินให้รู้ผลเท่านั้น ดังที่ดอกเตอร์ Daniel L. Stufflebeam นักวิชาการผู้เป็นเสมือนเจ้าพ่อแห่งวงการวัดประเมิน เคยบอกไว้ว่า “เป้าหมายที่สำคัญที่สุดของการประเมินไม่ใช่เพื่อพิสูจน์ แต่คือเพื่อพัฒนา -- to improve, not to prove.” นั่นเองครับผม :-)
ตีพิมพ์ในคอลัมน์ มหาสมุทรแห่งปัญญา
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 26 สิงหาคม 2550
เวลาพูดถึงการสอบขึ้นมา ใครต่อใครที่ได้ยินถ้าไม่ส่ายหน้า ก็ถอนหายใจ หรือไม่คงเบื่อหน่ายกะทันหัน นักเรียนก็เครียด อาจารย์ก็เบื่อ เมื่อตอนสัปดาห์ก่อนผมไปนำเสนอประเด็นเรื่อง “ทำการสอบให้เป็นคำตอบของความสุข” ในงาน “ความสุขในสังคมสมัยใหม่: จิตวิญญาณ สังคม และวิทยาศาสตร์” ของมูลนิธิพันดาราและคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แม้แต่พิธีกรดำเนินรายการยังแนะนำทำนองว่าให้รอติดตามฟังเรื่องที่ดูไม่เข้ากันอย่างนี้จะเป็นไปได้อย่างไร ด้วยวิธีการไหน?
หลังจากผมเล่าเรื่องที่เราๆ ท่านๆ รู้กันดีอยู่แล้ว ว่าด้วยความทุกข์ความเบื่ออันมากมายที่มีต่อการสอบไป ผมเสนอด้วยว่าพวกเราไม่ได้สิ้นหวังและอับจนหนทางไปเสียทั้งหมดหรอกครับ การสอบที่จ้องจะวัดความรู้เปรียบเทียบความสามารถการท่องจำของผู้เรียนจนสะสมความเครียดกันมาตั้งแต่ระดับอนุบาลนี้ ยังไม่ได้มาถึงปลายทางที่เลวร้ายจนทำให้เราต้องฝ่าด่านปัญหาออกไปด้วยการลืมมัน พยายามล้มล้างยกเลิกมัน หรือว่าหลับหูหลับตาให้มันผ่านๆ ไป
เพราะการสอบไม่ได้ผิดนะครับ กระบวนทัศน์ในการสอบในปัจจุบันนั่นแหละผิด (แก๊สโซฮอลล์ก็ไม่ผิดครับ)
อย่างที่คุยกันครับว่า กระบวนทัศน์แบบวิทยาศาสตร์กลไกนั้นไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับทุกเรื่อง อย่างการสอบก็เหมือนกัน วิทยาศาสตร์กลไกช่วยพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ มากมาย แต่ครอบงำการศึกษาของเรามากไป กลายเป็นว่าการสอบคือคำตอบทุกอย่างของชีวิต แทนที่การสอบจะเป็นตัวช่วยให้ครูและนักเรียนได้ปรับปรุงพัฒนากระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน กลับเอาไว้ชี้เป็นชี้ตายว่าเราจะได้เข้าเรียนคณะดังๆ มีงานดีๆ ทำหรือไม่
ปัจจุบันความรู้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ใหม่ ทฤษฎีระบบ เผยให้เราเห็นกระบวนทัศน์ใหม่ ทำให้เราได้ย้อนมองเห็นวิธีคิดของพวกเราที่มีต่อการวัด สอบ และประเมินมากขึ้น มาการ์เร็ต วีตเลย์ เธอเปรียบเทียบให้เราเข้าใจในความแตกต่างนี้ โดยเธอเรียกการประเมินแบบที่เราคุ้นเคยพบเห็นกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันนี้ว่า “การประเมินด้วยมาตรฐาน” ส่วนกระบวนทัศน์ใหม่มองว่าการประเมินเป็นเหมือนการปรับพัฒนาตัวเองของระบบชีวิต เธอจึงเรียกการประเมินแบบนี้ว่า "การประเมินที่มีชีวิตด้วยวงจรป้อนกลับ"
การประเมินด้วยมาตรฐานแบบเดิมนั้น กำหนดวิธีการและคำถามคำตอบมาตรฐานขึ้นมาให้ทุกคนตอบเหมือนๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นนักเรียนโรงเรียนไหน กรณีระบบข้อสอบเอ็นทรานซ์ และมาถึงสอบเอ็นที (National Test) คงทำให้เรานึกภาพออก
ขณะที่การประเมินอีกแบบ ซึ่งผมขอเรียกสั้นๆ ว่า “แบบวงจรป้อนกลับ” เป็นการประเมินที่ขึ้นอยู่กับบริบทของเรื่องราว แต่ละสถานการณ์ แต่ละคน ก็มีความเป็นมาและสิ่งแวดล้อมแตกต่างกันและต้องให้ความสำคัญ ไม่อาจใช้ข้อสอบหรือคำถามแบบเดิมใช้ในทุกโอกาสทุกสถานที่กับทุกคนได้
อย่างเช่นในวิชาหนึ่งที่เปิดเรียนกันอยู่ในปีนี้ นักศึกษาได้ฝึกเขียนข้อเสนอโครงการ (Proposal) เพื่อทำโครงการสิ่งแวดล้อมศึกษา ตอนแรกหลายคนเลือกทำโครงการที่คิดว่า “ง่าย” เพื่อจะได้ “คะแนนสูงๆ” หลังจากยืนยันนั่งยันและตกลงกันว่าจะไม่ใช้มาตรฐานเดียวในการวัด เป้าหมายการเรียนไม่ใช่เพื่อแข่งขันกันว่าใครเขียนเอกสารได้ดูดีกว่ากัน แต่ให้แต่ละคนได้ไปตามฝันของตนเอง ได้มีโอกาสเลือก โอกาสเรียน โอกาสทำโครงการที่รู้สึกเชื่อมโยงกับใจ รู้สึกมันว่าใช่ และมีความหมายกับตนเองจริงๆ เพราะเอกสารโครงการที่ข้อมูลครบถ้วน มีชื่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถูกต้อง แต่ไม่มีกึ๋น แข็งทื่อขาดชีวิตจิตวิญญาณ ไม่มีแรงบันดาลใจให้ผู้คนลุกขึ้นมาทำก็ไม่มีความหมายอะไรไปกว่ากระดาษปึกหนึ่ง
ลงท้ายเราจึงได้โครงการที่แต่ละคนเชื่อมั่นกับมันจริงๆ เขียนโครงการราวกับว่าจะได้ทำมันจริงๆ นักศึกษาสาวชาวพื้นเมืองสมุยฝันอยากจัดค่ายเพื่ออนุรักษ์ทะเลที่หมู่บ้านหัวถนนของตนเอง เธอเดินทางกลับไปบ้านสัมภาษณ์คุณพ่อคุณแม่และชาวบ้านถามถึงสถานการณ์ โอกาส และความต้องการจริงๆ ของชุมชน จนคุณแม่ถึงกับดีใจว่าเธอจะมาทำโครงการที่บ้านแล้ว ซึ่งผมว่าเธอจะทำแน่นอนหากมีโอกาส
นักศึกษาชายอีกคนสนใจการเกษตรและเศรษฐกิจพอเพียง ฝันอยากเป็นเกษตรกร ตอนแรกคิดจะทำเรื่องกล่องรับบริจาคขยะรีไซเคิล ก็เปลี่ยนมาเป็นเรื่องของเขาเองจริงๆ หยิบยื่นโอกาสให้ตนเองเดินทางไปค้างแรมกับเจ้าหน้าที่หน่วยงานส่งเสริมที่นครนายก และกำลังจะต่อด้วยการไปหาบุคคลตัวอย่าง ไปพบชาวเมืองที่ผันตัวไปเป็นชาวบ้าน
ส่วนอีกราย อยากลองทำโครงการผลิตหนังสือด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับแจกฟรี ซึ่งก็ไม่ย่อท้อ แม้จะรู้ว่าการทำหนังสือนั้นยากมากที่จะรอด บนแผงหนังสือแท้จริงคือสุสานของหัวนิตยสารต่างๆ มากมาย
เราจะปฏิเสธการเดินทางล่าฝันของเธอและเขาเหล่านั้นได้ละหรือ? คงเป็นการโหดร้ายและไม่ยุติธรรมกับนักเรียน นิสิต นักศึกษาอย่างยิ่ง ถ้าเราใช้กฎเกณฑ์มาตรฐานที่แห้งแล้ง ไร้จิตใจ มากึ่งบังคับกลายๆ ให้เลิกฝัน หยุดจินตนาการ แล้วยอมกายยอมใจให้กับอะไรที่พื้นๆ ที่ทำแล้ว “เสร็จ” แน่ๆ แต่ไร้จิตวิญญาณความเป็นตัวตนจริงๆ ของเธอและเขา
เป้าหมายของการเรียนของเราไม่ใช่เพื่อให้เขาผลิตกระดาษข้อเสนอโครงการที่มีครบถ้วนทุกหัวข้อ (ถ้าทำได้ก็ดี) แต่เขียนเสร็จแล้วก็ไม่ได้คิดจะไปทำจริงๆ ไม่ทำให้เขาเดินทางเข้าใกล้ความฝันของตนเอง ได้เตรียมความพร้อมและพัฒนาตนเองไปเป็นมนุษย์คนที่เขาอยากและภูมิใจที่จะเป็นจริงๆ
สิ่งที่มีความหมายที่สุด คือ ประสบการณ์และสิ่งที่เขาเก็บเกี่ยวได้ระหว่างการเดินทางไปสู่จุดหมายต่างหาก แม้ว่ามันจะล้มลุกคลุกคลานบ้าง ความสำเร็จของคนเราก็มิได้วัดอยู่ที่เกรดวิชาหนึ่งๆ ในระหว่างที่เรียน มากเท่ากับการที่เขาได้ใช้ชีวิตตามที่เขาเชื่อหลังจากจบ ดังนั้นการศึกษาที่มีความหมายคือการเตรียมความพร้อมในการเดินทางให้กับผู้เรียนแต่ละคน
คนที่ฝันอยากเห็นทะเลโทรมที่บ้านกลับมาสวย อุดมด้วยสัตว์น้ำหลากชนิด ปลิงทะเลนานาพันธุ์ก็ควรได้ทำตามฝัน เช่นเดียวกับคนที่อยากเห็นบางลำพูกลับมามีต้นลำพูขึ้นเต็มไปทั้งบางสมชื่อ ใครจะรู้ว่าเพชรในชีวิตที่นักศึกษาผู้มีทักษะการเจียรนัยฝันเหล่านี้เมื่อผลิตขึ้นมาให้โลกเชยชมนั้นจะสวยงามเพียงใด
ทั้งหมดนี้คงจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าเราไม่เปิดใจให้กว้าง ใช้การสอบที่มีแค่มาตรฐานเดียว ไม่เห็นถึงความเป็นมนุษย์ที่แตกต่างกันของแต่ละคน
ถ้าเรามองการสอบเป็นวงจรป้อนกลับ เป็นกระบวนการที่มีไว้เพื่อสะท้อนข้อมูลให้เราเรียนรู้กันได้ดีขึ้นเรื่อยๆ เปิดให้ผู้เรียนได้มีโอกาสที่จะสร้างและกำหนดความหมายด้วยตนเองด้วย กำหนดว่าอะไรที่เขาคิดว่าสำคัญ คิดว่าเป็นประโยชน์ คิดว่าท้าทายความรู้ความสามารถของตน มิใช่ว่าผู้สอนเป็นคนกำหนดมาทั้งหมด
แค่เอาหัวใจของผู้สอนและผู้เรียนใส่เข้าไปในการสอบ ก็เท่ากับได้สร้างโลกการเรียนใบใหม่ขึ้นมาแล้วล่ะครับ :-)
ตีพิมพ์ในคอลัมน์ มหาสมุทรแห่งปัญญา
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 19 สิงหาคม 2550
๑๙ สิงหาคมนี้เป็นวันที่สองและวันสุดท้ายที่กลุ่มสนทนาพระพุทธศาสนาและวิทยาศาสตร์ มูลนิธิพันดารา และศูนย์จริยธรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมกันจัดงานประชุมวิชาการเรื่อง “ความสุขในสังคมสมัยใหม่: จิตวิญญาณ สังคม และวิทยาศาสตร์” ที่อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ วิทยากรมีทั้งบรรพชิตและฆราวาส ทั้งนักคิด นักเขียน นักวิชาการ และนักปฏิบัติชั้นแนวหน้ามากมาย อาทิ พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (ว. วชิรเมธี) อาจารย์ ส. ศิวลักษณ์ ศ. นพ. ประสาน ต่างใจ อาจารย์กำพล ทองบุญนุ่ม อาจารย์วุฒิพงษ์ เพรียบจริยวัฒน์ อาจารย์เทียนชัย วงศ์ชัยสุวรรณ (ยุค ศรีอารยะ) คุณงามพรรณ เวชชาชีวะ การพูดคุยกันคราวนี้มี รศ.ดร. กฤษดาวรรณ และ รศ.ดร. โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์ เป็นผู้จัด
ในงานมีการนำเสนอและพูดคุยกันเรื่อง “ความสุขในสังคมสมัยใหม่” จากมุมมองต่างๆ ทั้งจากทางจิตวิญญาณ พุทธศาสนา วิทยาศาสตร์ ปรัชญาจีน ปรัชญาอินเดีย งานเขียน การทำงานเพื่อสังคม รวมไปถึงเรื่องความตายและการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย อีกทั้งยังมีการฉายภาพยนตร์อีกด้วย
ผมเองได้รับการชักชวนให้ไปร่วมแบ่งปัน เรียนรู้กันเรื่องความสุข จึงเสนอผู้จัดไปว่าจะพูดในหัวข้อ “ทำการสอบให้เป็นคำตอบของความสุข” ฟังแค่ชื่อก็ดูท้าทายแล้วใช่ไหมครับ เพราะผมว่าเรื่องการวัดผล การสอบ การประเมินนั้น ขึ้นชื่อลือชาว่าเป็นเรื่องสร้างทุกข์ได้อย่างยอดทีเดียว จะทำให้มันกลายเป็นเรื่องสุขๆ ที่ไม่ใช่สุกๆ ได้อย่างไร
นอกเหนือจากที่ผมต้องเตรียมตัวไปพูดในการประชุมแล้ว ช่วงที่ผ่านมาทางคณะวิจัยจิตตปัญญาศึกษาซึ่งผมเป็นสมาชิกในทีมได้ร่วมกันศึกษาทบทวนอ่านผลงานต่างๆ เพื่อสำรวจพรมแดนความรู้ด้านจิตตปัญญาศึกษา โดยมีหัวข้อเรื่องการประเมินผลด้วย ทำให้ผมได้อ่านงานวิจัยและบทความดีๆ รวมถึงมีโอกาสพูดคุยปรึกษาผู้เชี่ยวชาญหรือผู้มีประสบการณ์ในเรื่องบ้างพอประมาณ เห็นว่าน่าสนใจเลยนำเรื่องนี้มาเล่าสู่กันฟังนะครับ
เรื่องความหนักหนาสาหัสของการสอบหรือจะว่าไปก็การศึกษาในปัจจุบันของพวกเรานั้น ไม่ได้เป็นประเด็นใหม่ที่เพิ่งค้นพบเลย อาจารย์หมอประเวศ วะสี ท่านก็เคยเขียนไว้ใน สานปฏิรูป ว่า “การศึกษาเป็นความทุกข์ของแผ่นดิน” ถึงขนาดว่าต้องหลบหนีกันข้ามประเทศเลย เพราะ “แทบทุก ครอบครัวที่เดือดร้อนเมื่อถึงคราวที่ต้องเอาลูกเข้าโรงเรียน บางคนที่พอมีเงิน ... ก็จะส่งลูกไปเรียนต่างประเทศ ซึ่งผมถือว่าคนเหล่านี้ เป็นผู้ลี้ภัยทางการศึกษา”
ในวงสัมมนาพ่อแม่ผู้ปกครองเมื่อเกือบสิบปีที่แล้ว อาจารย์ท่านได้สรุปทุกข์จากการศึกษาหลักๆ คือ “หนึ่ง ขาดแคลนโรงเรียนดีๆ สอง กระบวนการเรียนรู้ของเรา กระบวนการเรียนรู้ที่เราใช้ ยาก เครียด น่าเบื่อ มีความทุกข์ สุขภาพจิตเสียกันหมดทั้งประเทศ ทั้งตัวนักเรียน ทั้งผู้ปกครอง ครู และ สาม เราผลิตคนที่ด้อยคุณภาพ เพราะเราเน้นการท่องจำ ทำไม่เป็น คิดไม่เป็น ไม่มีทักษะชีวิตต่างๆ ร้อยแปด”
ผมเห็นว่าเรื่องทุกข์ทั้งสามจากการศึกษาดังว่ามานี้ ช่างเกี่ยวโยงกับการวัดการประเมินอย่างแนบแน่น
การวัดผลและการประเมินในแนวที่เราใช้อยู่ปัจจุบันเป็นมรดกตกทอดมาพร้อมกับแนวคิดแบบวิทยาศาสตร์กระแสหลัก มีลักษณะวิธีคิดเชิงกลไก และแยกส่วนในการวิเคราะห์ เชื่อว่าเราสามารถสร้างแบบวัดประเมินที่มีค่า “มาตรฐาน” สามารถนำไป “เทียบเคียง” ระหว่างนักเรียนนักศึกษารายคน ระหว่างห้อง ระหว่างชั้นเรียน หรือแม้แต่ข้ามโรงเรียนก็ทำได้
กระบวนวิธีคิดแบบนี้ได้พัฒนาขึ้นมาพร้อมกับความรุ่งเรืองของวิทยาศาสตร์ครับ เรื่องที่ถือว่าเป็นความรู้ตามทัศนะแนวคิดนี้คือ สิ่งที่มนุษย์สามารถรับรู้ได้ทางประสาทสัมผัสเท่านั้นที่เป็นความจริง และการเข้าใจเรื่องราวย่อยหรือส่วนประกอบ จะนำไปสู่การเห็นภาพรวมของปรากฏการณ์ เพราะส่วนย่อยต่างส่งต่อกันเป็นเหตุให้เกิดผลที่เราสังเกตเห็น
การสร้างเครื่องมือ มาตรวัดและวิธีการต่างๆ จึงต้องเป็นสิ่งที่มนุษย์เรารับรู้ได้เหมือนๆ กัน นั่นทำให้เราพยายามตีค่าวัดผลออกมาเป็นตัวเลขหรือหน่วยที่เทียบเคียงกันได้ เมื่อแนวคิดนี้ถูกนำไปใช้กับเรื่องเชิงกายภาพ อย่างระยะทาง น้ำหนัก หรือขนาด จึงมีประโยชน์และช่วยพัฒนาเทคโนโลยีของมนุษย์ไปได้ไกลและไวมาก
แต่กับเรื่องที่สลับซับซ้อนอย่าง “ความสุข” และ “การเรียนรู้” ของมนุษย์อาจจะไม่ตรงไปตรงมาอย่างนั้นหรอกครับ เรื่องง่ายๆ ที่ทุกคนรู้ๆ กันอยู่อย่างเช่นการวัดผลการเรียนออกมาเป็นคะแนนหรือเกรดก็เป็นตัวอย่างหนึ่ง ทุกวันนี้ทุกคนเข้าใจและยอมรับมาตรฐานเรื่องเกรดกันว่า A คือดีเยี่ยมที่สุดแล้ว ส่วน F คือไม่ผ่าน แต่ถามจริงๆ เถอะครับว่าระหว่าง A ของโรงเรียนสองแห่งนั้นเท่ากันจริงหรือ นี่ยังไม่นับว่ามีเกรด B C และ D อีกนะครับ
ในยุคนี้ที่เราชินชากับสภาวะเงินเฟ้อไปแล้ว เราก็กำลังเผชิญกับสถานการณ์ “เกรดเฟ้อ” อยู่เช่นกัน ไม่ใช่แค่เมืองไทยแต่ต่างประเทศก็ด้วย เพราะความที่เราต้องนำเอาเกรดเฉลี่ยสะสมของนักเรียนเข้านับเป็นส่วนหนึ่งของคะแนนเอนทรานซ์ ทำให้โรงเรียนต้อง “ปล่อยเกรด” มากขึ้น แถมภาวะเกรดเฟ้อนี้ไม่ได้เป็นเฉพาะระดับโรงเรียนนะครับ ระบาดต่อเนื่องมาถึงระดับมหาวิทยาลัยแล้ว เพราะมีการแจ้งอาจารย์ว่านักศึกษาต้องใช้เกรดในการสมัครเรียนต่อปริญญาโทและเอก ถ้าไม่ปล่อยเกรด นักศึกษาจะไปเรียนต่อยาก และก็ไม่ใช่แค่ในประเทศด้วย แต่เป็นทั้งโลก ดังที่ ดร. โลเวลล์ แบร์ริงตัน บอกว่ามีมหาวิทยาลัยหลายแห่งในสหรัฐอเมริกา ที่นักศึกษาระดับปริญญาตรีสามในสี่คน จบด้วยเกรดเฉลี่ยสะสม ๔.๐๐ เลยทีเดียว
แต่การปล่อยเกรดก็ยังไม่ใช่ผลในเชิงลบที่รุนแรงที่สุดที่การวัดการประเมินมีต่อเรื่องการศึกษา ดร. โลเวลล์ บอกกว่าการเน้นเรื่องการวัดประเมินแบบนี้ยังทำให้อาจารย์มหาวิทยาลัยต้องเผชิญกับสถานการณ์และตัวเลือกที่ไม่อยากเลือก คือ (ก) นั่งเทียนเขียนข้อมูลการเรียนรู้ของนักศึกษา หรือ (ข) สอนเน้นหรือเฉพาะเนื้อหาหลักสูตรที่สามารถวัดประเมินได้ง่าย
ตัวอย่างในมหาวิทยาลัยไทย ถ้าในรายวิชาหนึ่งๆ อาจารย์ต้องสอนนักศึกษาหลายกลุ่ม หรือวิชารหัสเดียวกันแต่มีอาจารย์หลายคนสอน เวลาออกข้อสอบก็ต้องออกเป็นปรนัยหรือหลายตัวเลือก เพราะตรวจง่าย เทียบเคียงง่าย ปัจจุบันใช้เสียบกระดาษคำตอบเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์กันหมดแล้ว บางคณะก็มี “คำสั่ง” หรือ “ขอความร่วมมือ” ให้ออกข้อสอบแบบนี้เท่านั้น
การที่สถาบันการศึกษาต้องปรับการเรียนการสอนถึงระดับรากฐานเพื่อให้มีการวัดประเมินได้ “สะดวกง่ายดาย” อาจจะเป็นทิศทางที่ต้องตั้งคำถามกันอย่างจริงจัง ใช่หรือไม่?
แถมเมื่ออาจารย์มาออกข้อสอบด้วยกันก็มักจะเลือกเฉพาะข้อที่ทุกคนสอน เพราะเกรงว่าหากไม่ได้พูดไปในชั้นเรียน นักศึกษากลุ่มที่ตนเองสอนจะไม่สามารถหาความรู้ได้ด้วยตนเอง ทำข้อสอบไม่ได้ หาว่าอาจารย์ออกข้อสอบในส่วนที่ไม่ได้สอนในชั้น และได้คะแนนน้อยกว่ากลุ่มอื่นๆ ซึ่งก็มักจะถูกตีความ เหมาเอาว่าอาจารย์ท่านนั้นสอนไม่ดี สอนไม่เก่ง นักศึกษาที่เรียนด้วยจึงได้คะแนนสู้กลุ่มอื่นไม่ได้ สรุปสุดท้ายเราจึงได้ข้อสอบ ก. ข. ค. ง. ที่ง่ายดายที่สุด เป็นข้อสอบและคำตอบที่บอกอะไรๆ ได้จำกัดมาก
ในระบบที่ต้องการหาประสิทธิภาพและประสิทธิผลนี้ ผู้คนหลงใหลคลั่งไคล้ไปกับการวัดการประเมิน นักศึกษาก็มีโอกาสประเมินอาจารย์ด้วย ยิ่งหากนักศึกษาได้คะแนนน้อยกว่ากลุ่มอื่น เวลาเขียนใบประเมินก็อาจนึกแค้นใจอาจารย์ เขียนประเมินเสียๆ หายๆ ซึ่งก็อาจมีผลต่อ “ผลงานและความดีความชอบ” ของอาจารย์ผู้สอน ทำให้อาจารย์เองก็ได้คะแนนประเมินต่ำเหมือนกัน
ระบบเช่นนี้จึงไม่ให้แรงจูงใจให้อาจารย์สอนเรื่องที่สำคัญจำเป็นต่อกระบวนการเรียนรู้อย่างแท้จริงแก่นักศึกษา เพราะทั้งสอนยากและวัดยาก บางคนบอกเนื้อไม่ได้กิน หนังไม่ได้รองนั่ง เอากระดูกมาแขวนคอ เลยกลับกลายไปเป็นเอาชั่วโมงเรียนมาติวข้อสอบไปบ้างเสียเลยก็มีให้ได้ยิน ได้เห็น
อ่านแล้วอย่าเพิ่งรู้สึกหมดหวังนะครับ เพราะว่าปัจจุบันความรู้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ใหม่ ชีวิต และทฤษฎีระบบ ได้ก้าวหน้าไปพอสมควร และอาจช่วยให้เราเห็นแนวทางในการพาการวัดการประเมินออกจากอุโมงค์เสียทีครับ แนวคิดของระบบการประเมินที่ได้รับการ “ใส่หัวใจของความเป็นมนุษย์” ระบบที่มีชีวิต ที่ให้ความสำคัญกับการปรับตัว การเรียนรู้ และการเจริญเติบโตไปตามวิวัฒนาการ มากไปกว่าเรื่องความคงที่ มาตรฐาน เสถียรภาพ และการควบคุม อาจจะช่วยเราฝ่ามายาการของการวัดประเมินแบบปัจจุบันสำเร็จก็เป็นได้ ไว้ลองมาดูกันสัปดาห์หน้านะครับ :-)
ตีพิมพ์ในคอลัมน์ มหาสมุทรแห่งปัญญา
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 12 สิงหาคม 2550
ในกระบวนการ "การจัดดอกไม้อิเคบานา ตามแนวท่านโมกิจิ โอกาดะ" ที่ผมนำมาเล่าสู่กันฟังเมื่อสัปดาห์ที่แล้วนั้น นอกเหนือจากเราจะรู้จักการดูดอกไม้ตามสภาพจริงแล้ว ยังทำให้เราได้ฝึกทักษะอื่นๆ อีกมากเลยครับ และในบรรดาทักษะต่างๆ นั้น ผมคิดว่าเรื่อง “การสื่อสาร” เป็นเรื่องที่สำคัญและเกิดประโยชน์สำหรับชีวิตประจำวันมากที่สุดเรื่องหนึ่ง
ผมเรียนรู้จากผู้เข้าร่วมท่านหนึ่งซึ่งไม่เคยเรียนหรือฝึกจัดดอกไม้มาก่อนเลย แต่เขากลับสามารถจัดอย่างสบายๆ ใช้ดอกไม้น้อยมากทั้งชนิดและปริมาณ แถมไม่ใช้เวลามากอีกด้วย ผลงานออกมาดีมากทุกแจกัน เรียบง่ายแต่ว่างดงามอย่างยิ่ง ทุกคนถึงกับเอ่ยปากชม ผมแอบกระซิบถามจนทราบเคล็ดลับว่า เขาใช้วิธี “คุยกับดอกไม้” ทั้งในการเลือก และในระหว่างที่พิจารณาดอกไม้ เขาพูดในใจกับดอกไม้นั้นว่า “ไหน ... หนูอยากหันด้านไหนออกมา?” หรือไม่ก็ “อยากให้จัดอย่างไรเหรอ?”
พวกเราชาวจิตตปัญญาชนที่ไปฝึกครั้งนี้ด้วยกันคงไม่ค่อยแปลกใจกับการสนทนาระหว่างคนกับดอกไม้สักเท่าไร เพราะเราคุ้นเคยดีกับคำพูดทำนองว่า “ให้เลือกดอกไม้ที่ ‘เรียก’ เรา” หรือถ้าเป็นกิจกรรมอื่น ดังเช่นการเขียนระบายภาพ กระบวนกรก็มักจะขอให้เราเลือกสีที่เรียกเรา คุณผู้อ่านอย่าเพิ่งด่วนหัวเราะขำกลิ้ง หรือคิดว่าคนเหล่านี้ไม่เต็มนะครับ ที่เขา “คุย” กับดอกไม้ได้ เรื่องทำนองนี้ ต้องท้าพิสูจน์ด้วยตนเองครับ
นี่ไม่ใช่เรื่องแปลกหรือต้องสงสัยเลยสำหรับคนจำนวนไม่น้อยในโลกอันกว้างใหญ่และ (ดูเหมือน) ลี้ลับใบนี้ อย่างเช่น เมื่อหลายสิบปีมาแล้ว คุณโดโรธี แมคเคลน (Dorothy Maclean) และเพื่อนๆ อีกหลายคนร่วมกันก่อตั้งชุมชนฟินด์ฮอร์น (Findhorn) อยู่ติดกับชายทะเลด้านตะวันออกเฉียงเหนือของสกอตแลนด์ เป็นชุมชนพึ่งตนเองและเกื้อกูลดูแลโลก มีสวนผักและผลไม้เติบโตบนที่ดินที่มีแร่ธาตุอาหารต่ำ แต่เธอและเพื่อนๆ กลับสามารถผลิตพืชผลที่มีขนาดใหญ่ทำลายสถิติได้มากมาย จนเป็นที่โด่งดังรู้จักกันทั้งในและนอกประเทศ เมื่อต้นปีเพิ่งมีรายงานออกมาว่าชุมชนนี้มีรอยเท้าทางนิเวศวิทยา (Ecological footprint) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดการใช้ทรัพยากรและผลิตของเสีย ที่น้อยที่สุดในหมู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว ปัจจุบันฟินด์ฮอร์นกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ดึงดูดผู้คนจากทั่วโลกปีละหลายพันคน พี่ประชา หุตานุวัตรก็ย้ายรกรากไปอยู่ (บางช่วงของปี) และสอนอยู่ที่นั่นด้วย
เมื่อสองปีก่อน คุณยายโดโรธี เธอได้เดินทางมาปาฐกถา เปิดการอบรมให้กับชาวบ้านและชาวเมืองคนไทยมีผู้ให้ความสนใจและสื่อต่างๆ ตีพิมพ์นำเสนอข่าวอยู่ไม่น้อย เธอสอนคนไทยที่นี่ทำสิ่งเดียวกับที่เธอทำที่นั่น ก็คือ “การสื่อสารกับธรรมชาติ” เธอบอกว่า หากเราสื่อสารกับธรรมชาติได้ เราก็สามารถทำอะไรๆ ได้มากมายโดยแทบจะไม่ต้องออกแรงอะไรมากเลย
การสื่อสารกับธรรมชาติ ดอกไม้ และแม้แต่สิ่งของนี้ ไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจเลยเช่นกัน ในสายตาของท่านโมกิจิ โอกาดะ ปรมาจารย์ผู้ให้แนวทางการจัดดอกไม้และเกษตรธรรมชาติ เพราะท่านเชื่อว่ามีสิ่งเชื่อมโยงเราเข้ากับคนอื่นๆ และทุกอย่างรอบตัวเราไว้ นั่นคือ “สายใยวิญญาณ” ท่านกล่าวไว้ว่า “สายใยวิญญาณนั้นไม่ได้เชื่อมโยงเฉพาะมนุษย์เท่านั้น แต่ยังเชื่อมโยงกับสรรพสิ่งอีกด้วย สายใยวิญญาณที่เชื่อมโยงกับบ้านที่อยู่อาศัยของมนุษย์ สิ่งของที่ใช้เป็นประจำและรักมาก โดยเฉพาะของที่รักมากสายใยวิญญาณจะหนาแน่นมาก ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้าอาภรณ์ เครื่องแต่งกาย ก็เช่นเดียวกัน”
ประสบการณ์การจัดดอกไม้ลงแจกันก็บอกพวกเราอย่างนั้นจริงๆ เราพบว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่เลือกดอกไม้เพราะคิดคำนวณวางแผนไว้ก่อน หรือเลือกแจกันตามหลักการใช้สีหรือองค์ประกอบศิลป์แล้ว เมื่อนั้นผลงานก็ยังออกมาไม่โดนใจ ดอกไม้หมุนแกว่งไปมาในแจกันไม่ยอมนิ่งอยู่ในจุดที่เรากะเก็ง แจกันก็ไม่เข้ากันกับสถานที่ ไม่กลมกลืนกับดอกไม้ แต่เมื่อได้วางความคิด ความเชื่อ และค่านิยมเดิมๆ เปิดใจติดต่อสื่อสารพูดคุยกับเขา ผลที่ตามมานั้นดูจะแตกต่างออกไป
ในชีวิตจริงของเรานอกเหนือจากการสื่อสารกับดอกไม้แล้ว เรายังต้องเรียนรู้เรื่องการสื่อสารกับคนข้างๆ ด้วย ในระหว่างกระบวนการฝึกอบรมจัดดอกไม้ ผมก็พบว่าบุคคลที่ช่วยเตือนใจในเรื่องดังกล่าวได้เป็นอย่างดี คือวิทยากรที่คอยดูแลให้คำแนะนำอยู่ข้างตัวเราตลอดเวลานี่เอง
หลายครั้งหลายคราวที่เราตั้งใจสูง และทุ่มเทให้กับผลงานแจกันนั้นมาก วิทยากรบางท่านเดินเข้ามาให้ความเห็นว่าการลิดใบ ตัดกิ่ง ปักดอกไม้ของเรานั้นไม่ถูกต้องยังไง บางคนบางหนก็เสนอไอเดียวิธีจัดวางดอกไม้ให้เสียด้วยซ้ำ จะว่าไปเขาก็มีเจตนาดีต้องการเข้ามาช่วยแนะนำเสนอความเห็น แต่การเข้ามาบางที่ บางเวลา หรือใช้บางถ้อยคำทำให้เรารู้สึกไม่รื่นหู ก็อาจทำให้เราอารมณ์ไม่แจ่มใสได้ ตอนนั้นก็ได้เห็นละครับว่าเราสื่อสารแต่เฉพาะดอกไม้กับแจกัน หลงลืมการสื่อสารกับคนรอบข้างไปบ้างหรือเปล่า
เป้าหมายสำคัญที่สุดของการจัดดอกไม้ตามแนวท่านโอกาดะ ที่มูลนิธิเอ็มโอเอจัด ไม่ใช่การสร้างผลงานศิลปะเป็นเลิศของเราหรอกนะครับ แต่ว่าเป็น “การนำไปใช้ในชีวิตประจำวันอย่างลึกซึ้ง พัฒนาคุณภาพชีวิต และยกระดับพลังชีวิตของตนเองให้สูงขึ้นด้วยการใช้ชีวิตอย่างมีความสุข” ถ้าอย่างนี้แล้ว จัดดอกไม้ลงแจกันไป แต่ใจเราหงุดหงิดรำคาญกับคนรอบข้าง จะเรียกว่าเราบรรลุเป้าหมายแท้จริงของการจัดดอกไม้อิเคบานาได้อย่างไรล่ะครับ
เปิดใจสื่อสารกับคนรอบข้างก็เหมือนสื่อสารกับดอกไม้ แค่ลดการ์ดที่ตั้งไว้ลง วางอัตตาตัวตนของเราลง เมื่อเราได้ฟังดอกไม้แล้ว เราก็ฟังคนอื่น สื่อสารกับเขาได้โดยไม่ทำร้ายทำลายอารมณ์และจิตใจดีๆ ของทุกคน ทั้งนี้ ส่วนสำคัญที่สุดที่จะทำให้เรานี้สำเร็จลุล่วงแฮปปี้เอ็นดิ้งทุกฝ่ายได้ นั่นคือ เรานี่แหละที่จำเป็นต้องฟังและสื่อสารกับตัวเราเอง
เวลาเราจัดดอกไม้เราจะเห็นใจของเราชัดเจนมากนะครับ ไม่ว่าจะเป็นตอนมองดูดอกไม้จากสภาพจริง ตอนเลือกดอกไม้ เลือกแจกัน แม้กระทั่งรินน้ำใส่แจกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสามกระบวนการที่ต่อเนื่องกัน คือ “กำหนดจุดหมาย-รีบตัด-รีบปัก” ซึ่งเป็นสามขั้นตอนที่สนุก เพลินเพลิน และก็ท้าทายที่สุดด้วย เพราะต้องกำหนดจุดหามุม เลือกด้านของดอกไม้ ใบไม้และกิ่งก้านที่เราและดอกไม้เขาต้องการจะนำเสนอ - ตัด - และปัก โดยไม่ชักช้า แต่ก็ไม่เร่งรีบ เร่งร้อน ต้องทำต่อเนื่องโดยอาศัยร่างกาย อาศัยใจ อาศัยสติ มากกว่าความคิดว่าจะออกมาดีไหม น่าเป็นอย่างนั้น อย่างนี้มากกว่าไหม อุปมาดั่งวิถีของซามูไรที่อยู่ในสนามจริง ไม่สามารถจะยักแย่ยักยัน ถอยเข้าถอยออกได้
ตอนจัดเสร็จแล้วเราอาจรู้สึกเสียใจเวลามีคนติ หรือดีใจเวลามีคนชม แต่เราอาจ “ไม่ทัน” อารมณ์ตรงนี้ครับ เพราะว่ามันฟุ้ง มันเร็ว แล้วเราก็อยู่ในร่องของการคิดเสียมาก ต่างกับระหว่างกระบวนการจัดที่โลกช้าลง บางทีก็ถึงกับหยุดเลย ทั้งจักรวาลมีแต่เรากับดอกไม้ สามารถเห็นตัวของเราชัดมากว่า ณ ขณะหนึ่งๆ เราเป็นอย่างไร ตอนไหนรู้เนื้อรู้ตัว ตอนไหนรู้สึกสนุก รู้สึกสบาย รู้สึกเครียดเหนื่อย หรือตั้งใจมากไป
การจัดดอกไม้คือการพาเราไปอยู่ในพื้นที่ที่เชิญชวนให้เรามีสติสูงมาก (แต่แค่สบายๆ ไม่ต้องออกแรงอะไร) เราจะเห็นสิ่งต่างๆ โดยเฉพาะสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในใจเราได้อย่างแหลมคม หากใจของเราสั่นไหว ไม่นิ่ง มีเรื่องรบกวนจิตใจ เราจะเห็นสิ่งนั้นชัดมาก ไม่ว่าจะเป็นความอยากจัดให้ได้สวยๆ ความอยากได้รับคำชม ความโกรธที่มีคนมาวิจารณ์ ความหงุดหงิดงุ่นง่านรำคาญใจ ความกังวลละล้าละลังกลัวทำได้ไม่ดี
การเห็นตัวเองชัดอย่างนี้ เป็นโอกาสอันดีมากๆ ที่เราจะได้ "จัดใจ" ของเรา ซึ่งก็อาจใช้หลักเดียวกันกับการ "จัดดอกไม้" ไม่ว่าจะเป็นการมองเขาตามสภาพจริง การสื่อสาร หรือการเห็นและเข้าใจธรรมชาติของเขา ไม่น่าแปลกใจเลยที่สถาบันการศึกษาหรือองค์การที่ส่งเสริมเรื่องกระบวนการเรียนรู้แบบจิตตปัญญาจำนวนมากจะมีวิชาการจัดดอกไม้อยู่ด้วย
เราจัดดอกไม้ ดอกไม้จัดเรา ... อืมม์ ก็น่าสนุกดีนะครับ :-)
ตีพิมพ์ในคอลัมน์ มหาสมุทรแห่งปัญญา
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 5 สิงหาคม 2550
แปลกดีครับ ผมเพิ่งจะเขียนบทความกล่าวขวัญถึงผู้คนรู้จักรอบข้างจำนวนมาก ว่าล้วนเป็นนักวิทยาศาสตร์หรือมีความเป็นนักวิทยาศาสตร์อยู่มาก และดูเหมือนหลายคนในจำนวนนี้ร่วมมุมมองเดียวกัน เห็นว่าสารเคมี พืชและสัตว์ทดลองนั้นจัดการได้ง่ายกว่ากับมนุษย์ด้วยกันเอง บ้างก็ชอบทำงานหรือใช้เวลา ใช้ชีวิตกับสิ่งเหล่านี้ที่ไม่ใช่มนุษย์มากกว่า
ครั้นมาถึงสัปดาห์นี้ ผมรู้สึกว่ามีอะไรบางอย่างที่โดนกับตนเองครับ แต่ไม่ถึงขนาดจะไปเป็นเรื่องงานจัดการหรือทำการทดลองกับหนู ปู ปลา ไก่ (ที่มหาวิทยาลัยมีทดลองทั้งหมด) นะครับ แค่รู้สึกว่าบางทีคนก็จัดการยากไม่น้อยเหมือนกัน
คนที่ว่ายากนั้นก็มิใช่ใครที่ไหนหรอกครับ รู้จักกันมาหลายสิบปีแล้ว แต่ถึงจะนานแค่ไหน บางทีเราก็ไม่เข้าใจ ไม่รู้เอาใจอย่างไรกันดี
เหตุการณ์ที่ชักพาไปให้ผมได้รู้สึกโดนนี้ เกิดขึ้นเมื่อช่วงหยุดยาวเข้าพรรษา-อาสาฬหะ ในการอบรมเชิงปฏิบัติการ “การจัดดอกไม้อิเคบานา ตามแนวคิดของท่านโมกิจิ โอกาดะ” ที่มูลนิธิเอ็มโอเอไทย จังหวัดลพบุรี โน่นแน่ะครับ ที่นั่นบรรยากาศน่าประทับใจมาก สะอาดเรียบร้อยกว้างขวาง เป็นระเบียบ รอบตัวอาคารเป็นสวนผักและสวนดอกไม้งดงามตามธรรมชาติ
เพื่อนร่วมเรียนครั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นอาจารย์และนักวิชาการในเครือข่ายจิตตปัญญาศึกษา เกือบทุกคนบอกว่าไม่เคยรู้มาก่อนว่าการจัดดอกไม้มีขั้นตอนวิธีการและแนวคิดเบื้องหลังน่าสนใจขนาดนี้ จากเดิมที่บางคนอยู่ที่บ้านจัดดอกไม้ด้วยวิธีตัดๆ ปักๆ พอให้เสร็จๆ เราพบว่ากระบวนการจัดดอกไม้อิเคบานา มีถึง 14 ขั้นตอน เป็นการเตรียมการจัดดอกไม้ 2 ขั้น และเป็นการจัดดอกไม้อีก 12 ขั้นตอน ดูเหมือนเยอะ ดูเหมือนยาก แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว ง่ายมากครับ อธิบายกันเพียงชั่วครู่เดียว ก็ได้เริ่มลองปฏิบัติจริงแล้ว และก็ผ่านการปฏิบัติจริงนี่เองที่เราได้เรียนรู้และเข้าใจทฤษฎีกันอย่างลึกซึ้ง ช่วงที่ไปฝึกสามวันสองคืน ทุกคนได้จัดสิบกว่าแจกัน ทั้งเล็กทั้งใหญ่ ทั้งสูงทั้งเตี้ย แบบดอกเดียวและหลายดอก ทั้งฝึกหัดและได้จัดในสถานที่จริงด้วย
ผมพบว่าการเลือกดูดอกไม้สำหรับจัดลงแจกันนั้น ไม่ใช่การคิดออกแบบเอาไว้ในใจ หรือนึกเทียบเคียงตามทฤษฎีศิลปะการจัดวาง แต่หลักสำคัญคือ "เพียงแค่ดูดอกไม้ทั้งหมดตามสภาพจริง" เป็นการฝึกให้เรา "ดู" ดอกไม้ให้ดี ซึ่งจะทำให้เรา "เข้าใจ" ดอกไม้ได้อย่างแท้จริงอย่างถูกต้อง โดยที่ไม่นำเอาความคิดของเรามาปรุงแต่งหรือให้ความหมาย
เรื่องนี้ท่านโอกาดะเคยกล่าวไว้ว่าต้องเข้าถึงภาวะที่เรียกว่า "ตัวตนชั่วขณะ หมายความว่า ไม่มีทั้งอดีตและอนาคต ไม่ใช่สิ เป็นตัวของเราเองในปัจจุบันที่มีสติ เป็นจิตที่บริสุทธิ์ ในกรณีที่มองเรื่องต่างๆ ด้วยสติของเรา อันดับแรกจะต้องเป็นการมองตามสภาพจริงที่ไม่มีอะไรมาขวางกั้น"
เจออย่างนี้เข้า ผมเองก็ออกอาการหนักเลยละครับ แต่ไหนแต่ไรนักวิทยาศาสตร์ถูกฝึกมาเพื่อระบุพันธุ์และประเภทของพืช จัดอยู่กลุ่มไหน มีดอกหรือไม่ ใบเลี้ยงเดี่ยวหรือใบเลี้ยงคู่ ผลเดี่ยว ผลกลุ่มหรือผลรวม นึกไปถึงการจัดเรียงตัวของท่อลำเลียงน้ำและลำเลียงอาหาร เห็นสีเขียวก็นึกถึงชั้นของคลอโรฟิลล์ ในเม็ดคลอโรพลาสต์ที่วิ่งวนๆ ในเซล เห็นสีส้มสีแดงก็นึกถึงโครงสร้างแคโรตินอยด์ เห็นดอกบางดอกแล้วเห็นแผนภูมิ Dichotomous Key ที่ใช้ในการจำแนกชนิดของดอกนั้นๆ ลอยมาเลย มนุษย์จำพวกอย่างผมพอมาอยู่ในกระบวนการจัดดอกไม้แบบไม่คิดก็เลยมีการบ้าน มีสัมภาระที่ผมต้องปลดวางลงมากหน่อย
ถ้าไม่เข้าใจแล้ว ดอกไม้ที่แต่ละดอกมีความสวย มีความงดงามสมบูรณ์โดยตัวของมันเอง อาจถูกมองเป็นของแบนๆ มีไม่กี่มิติ ซื้อทีต้องซื้อเป็นกอบ ใช้ทีต้องใช้เป็นกำ เพราะบางดอกมันไม่ "สวย" คือ มันไม่ตรงกับเสปคที่เรามีอยู่ในใจ ว่าอยากให้ยาวเท่านี้ สีอย่างนี้ ใหญ่เท่านี้ หันไปทางนี้ เอนไปทางนี้ หรืออื่นๆ อีกมาก เวลาจัดจะเอาด้านที่เราอยากจะเห็นออกมา แต่ถ้าดอกไหนไม่เข้าสเปคก็เสียบๆ เอาไว้ในแจกัน ไว้ข้างหลังหน่อย หรือใส่ให้เป็นส่วนที่ให้แจกันดูเต็มๆ บางทีกำหนึ่งมีดอกที่เราอยากจะโชว์ไว้ด้านหน้าแจกันเพียงดอกหรือสองดอกเท่านั้น ซ้ำร้ายบางกำก็ไม่มีเอาเสียเลย
เหมือนกับว่าเราจะเข้าใจใครสักคนได้จริงๆ ต้องละเลิกความคิดความคาดหวังของเราต่อเขา ลืมทฤษฎีความเชื่อดั้งเดิมที่เราเคยมีต่อเขาไป เพื่อจะได้เปิดใจรับรู้รับฟังเขาได้เต็มที่ กระบวนการนี้จะว่าง่ายก็ง่าย จะว่ายากก็ยากนะครับ ถ้ามัวแต่คิดวิเคราะห์ดอกไม้อย่างนักวิทยาศาสตร์เราก็คงไม่ได้เห็นแง่มุมอื่นของเขา
ขั้นตอนต่อมาจากนั้นคือ "การกำหนดจุดหมาย" เป็นการสังเกตและวางดอกไม้ลงในมุมที่เขาได้แสดงความงดงามของตนออกมาได้มากที่สุด หากว่าเราลังเลหรือยังตัดสินใจกำหนดจุดหมายไม่ได้ แปลว่าเรายังไม่เข้าใจดอกไม้พอ ให้ดูดอกไม้นั้นใหม่
แต่ก็นั่นแหละครับ การกำหนดจุดหมายจะทำได้ก็ต้องเข้าใจดอกไม้ได้จริงๆ ด้วยการดูเขาตามสภาพจริงก่อน การดูดอกไม้ตามสภาพจริงนี้เป็นการฝึกที่จะเลิก "พากย์" หรือให้พื้นที่กับชุดความคิด ที่ถูกใส่โปรแกรมมาในหัวเราตั้งแต่เด็ก แล้วดูเขาตามที่ดอกไม้เป็นจริงๆ
ท่านโอกาดะผู้เป็นครูของแนวคิดการจัดดอกไม้ในแนวทางนี้ ได้กล่าวไว้กว่า ๕๐ ปีมาแล้วว่า หากเราเข้าใจดอกไม้ได้อย่างจริงจังแล้ว เราก็จะเข้าใจว่าเขาต้องการอย่างไร แล้วเราจึงจะสามารถ "จัดตามใจดอกไม้" ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็น เพราะว่า "ถ้าไม่จัดตามใจดอกไม้ ดอกไม้จะไม่ดีใจ เพราะว่าไม่ดีใจ จึงเหี่ยวเฉาเร็ว"
ได้ยินแล้วนึกๆ ดูก็คงจะจริงว่า ที่ผ่านๆ มาพวกเราหลายคน รวมทั้งผมเองก็คงไม่ได้สื่อสารกับดอกไม้ก่อนจัด อย่าว่าแต่จัด "ดอกไม้" เลย หลายครั้งเราเรียกเป็น จัด "แจกัน" เสียด้วยซ้ำ
หากเราจัดตามใจเรา ไม่จัดตามใจดอกไม้ โอกาสที่การ "จัดดอกไม้" ของเราจะกลายเป็นการ "บังคับดอกไม้" นั้นมีอยู่มากโข เป็นสิ่งที่เราเห็นกันอยู่ทั่วไปที่มนุษย์ไปบังคับดอกไม้ ให้เขาดิ้นไปไหนไม่ได้ด้วยลวดดัดดอกไม้ ด้วยฟองน้ำจัดดอกไม้โอเอซิส หรือไม่ก็ใช้วิธีการยัดให้เขาอยู่อย่างแน่นๆ กับอะไรก็ตามที่เราพยายามยัดเข้าไปให้เต็มแจกัน ให้เขาขยับไปไหนไม่ได้
การเรียนจัดดอกไม้อิเคบานาคราวนี้ พวกเราและโดยเฉพาะตัวผมยังได้บทเรียนสำหรับชีวิตประจำวันไปด้วย เหมือนผมได้หันหน้าเข้าหากระจก มีโอกาสคุยกับคนๆ นั้นที่รู้จักกันมาหลายสิบปี มองเห็นว่าเขาเคยมีมุมมองความเข้าใจโลกมาอย่างไร เมื่อปล่อยวางความคิดเดิมๆ ลง ก็เหมือนกับได้เดินทางไปในทางที่ไม่คุ้นเคย ได้ออกจาก "ร่อง" ของการทำงาน ของความคิดแบบเดิมๆ
จากที่จะไปเรียนจัดดอกไม้ใส่แจกัน กลายเป็นว่าพลอยได้ให้ดอกไม้และแจกันมาจัดใจตัวเองด้วยเลย :-)
ตีพิมพ์ในคอลัมน์ จิตวิวัฒน์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 4 สิงหาคม 2550
ท่านผู้อ่านเคยมีความรู้สึกว่าเรากลับมาที่เดิม ที่ไม่ใช่ที่เดิม ไหมครับ? เหมือนกับเราเข้าใจอะไรบางอย่างที่เคยได้ยิน รู้เรื่อง หรือเข้าใจมาแล้ว แต่ได้กลับมาเข้าใจมันมากยิ่งขึ้น ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ทั้งๆ ที่ดูๆ ไปเราก็เหมือนจะไม่ได้เรียนอะไรใหม่ เมื่อเร็วๆ นี้ผู้เขียนได้มีประสบการณ์เรียนรู้แบบเกลียวพลวัต (spiral dynamic) นี้อีกครั้ง โดยครั้งนี้เป็นประเด็นที่เป็นเรื่องหลักของกลุ่มจิตวิวัฒน์เลยก็ว่าได้
ว่ากันว่าในสมัย แอกเซียล เอจ (Axial Age) ราว ๒,๒๐๐-๒,๘๐๐ ปีที่แล้ว คุณค่าที่นำไปสู่การปฏิวัติเปลี่ยนแปลงโลก พามนุษย์ไปสู่ระดับจิต (Stage of Consciousness) ที่สูงขึ้น คือ เรื่องความดี ถือได้ว่าเป็นยุครุ่งเรืองของศาสนา ก่อเกิดเป็นชุดความเชื่อ ลัทธิ และศาสนาหลักๆ ของโลกจวบจนปัจจุบัน ไม่ว่าจะพุทธ คริสต์ อิสลาม ลัทธิขงจื๊อ และอื่นๆ
เมื่อเข้ามาสู่ช่วง ๓๐๐-๔๐๐ ปีที่ผ่านมา โลกอยู่ในยุคของเหตุผลนิยม ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทำให้มนุษย์เราเข้าใจโลกและธรรมชาติจากมิติทางกายภาพยิ่งขึ้นอีกมาก ก่อให้เกิดความเจริญทางวัตถุ ผู้คนสามารถเชื่อมต่อกันทางกายภาพและทางโลกเสมือนดิจิตอลอย่างง่ายดาย ดังที่ โธมัส ฟรีดแมน (Thomas Friedman) คอลัมนิสต์ของนิวยอร์กไทมส์ บอกไว้อย่างชัดเจนในหนังสือ ใครว่าโลกแบน (The World Is Flat)
แต่ดูราวกับว่า ณ เวลานี้ โลกกำลังต้องการพลังขับเคลื่อนทางอารยธรรมและวิวัฒนาการอย่างใหม่ เพราะถึงแม้เส้นทางการพัฒนาการทางจิตวิญญาณผ่านความดีและความจริง อาจจะเหมาะกับกาละและเทศะในอดีต และอาจพาผู้คนข้ามทะเลทุกข์ไปได้บ้าง แต่ในวิถีการดำเนินชีวิตและโครงสร้างสังคมเศรษฐกิจปัจจุบันอาจไม่ได้เป็นคำตอบที่เพียงพออีกต่อไป บ่อยครั้งที่เราพบว่าองค์กรจัดตั้งและโครงสร้างอำนาจที่ยึดโยงกับคุณค่าเหล่านี้กลับเป็นปัญหามากกว่าเป็นคำตอบ
หรือว่าโลกต้องการองค์ประกอบสำคัญอื่น องค์ประกอบสุดท้าย ซึ่งจะทำให้การก่อประกอบโลกทางจิตวิญญาณที่สมบูรณ์เป็นจริงขึ้นมาได้ แล้วองค์ประกอบที่ว่านั้นคืออะไร?
เป็นไปได้หรือไม่ว่า คำตอบบางส่วนอาจอยู่ในประเด็นที่เป็นสายใยความเชื่อมโยงบางๆ ซึ่งร้อยบทสนทนาของสมาชิกจิตวิวัฒน์ในหลายๆ ครั้ง (หรือทุกๆ ครั้ง?) เข้าด้วยกัน
หนึ่งในบรรดาผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญและนักปฏิบัติภาวนาคนแรกๆ ที่กลุ่มจิตวิวัฒน์ได้มีโอกาสร่วมฟังและเรียนรู้ด้วย คือ อาจารย์กรินทร์ กลิ่นขจร อาจารย์หนุ่มจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ซึ่งมาถ่ายทอดนำเสนอเรื่อง “วะบิ-ซะบิ” ว่าด้วยความงาม
ต่อเนื่องจากนั้นจนปัจจุบัน กลุ่มก็ยังได้รับเกียรติร่วมเรียนรู้เรื่องราวจากผู้รู้อีกหลายท่าน อาทิ
- สุนทรียสนทนา โดย สถาบันขวัญเมือง ว่าด้วยความงดงามจากการสื่อสารและรับฟังการอย่างลึกซึ้ง
- สามัญวิถีแห่งความเบิกบาน โดย กลุ่มภิกษุณีจากหมู่บ้านพลัม พบกับความง่ายงามในการเจริญสติ
- การเดินทางสู่ความเป็นมนุษย์ที่แท้ โดย อาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ ความงามจากการเดินเท้าแสวงหาความหมายของชีวิต
- ศิลปะแห่งจิตวิญญาณ โดย พระอำนาจ โอภาโส การถ่ายทอดธรรมะและธรรมชาติผ่านภาพวาด
- ความเงียบกับความงาม โดย สมาคมหรี่เสียงกรุงเทพฯ ในความเงียบไม่ได้เป็นความว่างเปล่า แต่มีความงามเกิดขึ้น
ยิ่งทบทวนย้อนกลับไป ยิ่งเห็นว่าหัวเรื่องสนทนาหลายต่อหลายครั้ง มีประเด็นที่เรียงร้อยทุกครั้งนั้นไว้ คือ ความงาม
โดยความงามเหล่านี้มีลักษณะเฉพาะร่วมกันหลายอย่าง เช่น เป็นความงามจากการได้เห็นสรรพสิ่งหรือสถานการณ์ตามสภาพจริง โดยปราศจากการปรุงแต่ง ซึ่งเรื่องนี้ตรงกับแนวความคิดที่ท่านโมกิจิ โอกาดะ (๒๔๒๕-๒๔๙๘) ปรมาจารย์ผู้คิดค้นงานสำคัญ อาทิ การชำระล้างแบบโอกาดะ เกษตรธรรมชาติ อาหารธรรมชาติ และศิลปวัฒนธรรมซึ่งมีพลังแห่งต้นกำเนิดของธรรมชาติเป็นพื้นฐาน ท่านโอกาดะได้เคยกล่าวไว้ว่า
อาจจะจริงว่า เราคงไม่สามารถออกจากพันธนาการของโครงสร้างบริโภคนิยมได้ ถ้าเราไม่สามารถชื่นชม และเข้าถึงความงามผ่านดอกไม้ธรรมดาเพียงไม่กี่ดอก
อาจจะจริงว่า เราคงไม่สามารถออกจากพันธนาการของโครงสร้างทุนนิยมได้ ถ้าเราไม่สามารถชื่นชม และเข้าถึงความงามผ่านดอกไม้ราคาถูกๆ หาได้ตามฤดูกาลที่ปลูกได้เอง
และอาจจะจริงว่า กุญแจสำคัญอยู่ที่การทำให้ผู้คนที่กำลังวิ่งอย่างบ้าคลั่งในระบบที่หมุนเร็วและเร่งขึ้นทุกวันนั้น ได้เห็นคุณค่าของการได้ลองหยุดและลองช้าลงบ้าง ว่าถ้าเขาหัดและเรียนรู้ที่จะลดความเร่งรีบลง เขาก็อาจจะเข้าถึงความงาม ซึ่งนำไปสู่ความจริงและความดีในที่สุด
ผู้เขียนและเครือข่ายจิตตปัญญาศึกษาได้มีโอกาสเข้าร่วมเรียนรู้การจัดดอกไม้ "อิเคบานาของโมกิจิ โอกาดะ" กับมูลนิธิเอ็มโอเอไทย (www.MOAthai.com) ที่มีวัตถุประสงค์การนำไปใช้ในชีวิตประจำวันอย่างลึกซึ้ง พัฒนาคุณภาพชีวิต และยกระดับพลังชีวิตของตนเองให้สูงขึ้นด้วยการใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ทำให้ได้พอเข้าใจในสิ่งที่อาจารย์กรินทร์ และผู้รู้อีกหลายท่านนำเสนอมากขึ้นบ้าง
อีกทั้งยังได้สัมผัสกับความจริงอย่างยิ่งอีกประการ คือ เส้นทางการปฏิวัติด้วยความงามนั้น ก็เหมือนกับการปฏิวัติทางจิตวิญญาณอื่นๆ คือ ต้องผ่านการเดินทาง ผ่านการมีประสบการณ์ตรงกับความงาม และยินยอมให้ความงามนั้น หรือความจริงอันเปลือยเปล่านั้น เข้ามาเปลี่ยนแปลงเรา ณ จุดที่เป็นรากฐานที่สุดด้วยตัวเราเอง :-)
ตีพิมพ์ในคอลัมน์ มหาสมุทรแห่งปัญญา
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 29 กรกฎาคม 2550
บางคนอาจประทับใจกับบทสนทนาระหว่างเจ้าชายน้อยกับพ่อค้า จากบทประพันธ์ก้องโลกของอองตวน เดอ เซงเตกซูเปรี ตอนที่พ่อค้าพยายามปิดการขายยาเม็ดแก้กระหายน้ำ ด้วยการสาธยายสรรพคุณของยาวิเศษนี้ว่า เมื่อกินเพียงเม็ดเดียวแล้วไม่ต้องดื่มน้ำอะไรเลยเป็นเวลาถึงหนึ่งสัปดาห์
แต่มีคนจำนวนไม่น้อยบนโลกกลมๆ ใบนี้ที่กำลังคิดในสิ่งที่ดูเหมือนจะตรงกันข้ามกับความคิดนี้ของเจ้าชายน้อยไปเลย
เมื่อสามปีที่แล้ว แดนนี่ โอไบรอัน นักคอมพิวเตอร์ชาวอังกฤษ ได้เสนอแนวคิดของ ไลฟ์แฮก (Life Hack) ขึ้นมา จากการศึกษาว่าบรรดาโปรแกรมเมอร์คอมพิวเตอร์มักจะมีวิธี “แฮก” หรือหาทางลัดในการทำงาน อ่านอีเมล แก้ปัญหา หรือโดยรวมๆ ก็คือเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น ประหยัดเวลา ลดความยุ่งยากจากการทำตามขั้นตอนปกติ โดยตัวเขาพูดติดตลกว่าแนวทางของเขาคล้ายๆ กับ “เจ็ดอุปนิสัยแห่งความสำเร็จสำหรับ Geeks (เซียนคอมพิวเตอร์)” ราวว่าเป็นสตีเวน โควีแห่งโลกไซเบอร์อะไรทำนองนั้น
เขาบอกว่าวิธีดังกล่าวคือ ไม่ยึดติดกับปัญหาทั้งหมด แต่ใช้อะไรก็ได้ ที่ใกล้มือ ที่แก้ปัญหาเฉพาะจุดได้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาอะไรก็ตาม ตั้งแต่ไม้จิ้มฟันยันเรือรบ เช่น เรื่องการจำใบหน้าคน การจัดกระเป๋าเดินทาง รวมไปถึงการแก้ปัญหาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ต่างๆ
นับตั้งแต่เขาไปบรรยายในงานประชุมเทคโนโลยีที่อุบัติขึ้นใหม่ในปี 2547 ก็เกิดความสนใจในแนวคิดนี้ขึ้นเป็นอย่างมาก ก่อให้เกิดเว็บไซต์และบล็อก (blog) อื่นๆ จำนวนมาก ถึงขนาดว่าในปีถัดมา สมาคมภาษาท้องถิ่นแห่งอเมริกา (American Dialect Society) พากันลงคะแนนให้ ไลฟ์แฮก (Life Hack) เป็นคำใหม่ที่มีประโยชน์มากที่สุดเป็นอันดับสอง (รองจากคำว่า Podcast)
บรรดาบล็อกทั้งหลายในแนวทางนี้ ดูเหมือน 43Folders.com จะได้รับความนิยมมากที่สุด บล็อกนี้รวบรวมบรรดาเคล็ดลับ เทคนิค หรือ “แฮก” ในการทำงานต่างๆ ให้ได้ง่ายขึ้น เร็วขึ้น สะดวกขึ้น เช่นว่า 9 วิธีในการดำเนินการประชุมให้ได้ผลมากขึ้น วิธีการจัดการและโต้ตอบอีเมลโดยใช้เวลาน้อยลง หรือการกลับไปหาเครื่องบันทึกนัดหมายหรือรายการที่ต้องทำในแต่ละวันแบบโบราณ คือ ใช้กระดาษและตัวหนีบ แทนเครื่องพีดีเอที่กำลังฮิตกันอยู่ทุกวันนี้
เขาเสนอวิธีแก้การผัดวันประกันพรุ่งด้วยสูตร (10 + 2) x 5 ครับ นั่นคือ ขณะที่เราทำงานอยู่บนคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ต ให้ใช้เวลา 10 นาทีเต็ม มุ่งความสนใจให้แก่งานอย่างเต็มที่ อีก 2 นาทีถัดมาค่อยอนุญาตให้ตัวเองไปท่องเวบ คุยแชท หรือทำอะไรต่อมิอะไรเรื่อยเปื่อยที่ไม่ใช่งาน แต่ภายใน 2 นาทีนี้เท่านั้น ทำเป็นเซ็ทอย่างนี้ (อย่างกับออกกำลังเพาะกายนั่นละ) ทั้งหมด 5 ครั้ง เราก็จะใช้เวลา 1 ชั่วโมงได้อย่างมีประสิทธิภาพถึง 50 นาที ใช้เวลาเล่นเพียง 10 นาที แทนที่จะปล่อยให้ตัวเองเผลอเล่นไปเรื่อย รู้ตัวอีกทีก็ผ่านไปอีกชั่วโมงแล้ว วิธีคิดของวิธีการนี้จะว่าไปก็ละม้ายคล้ายพ่อค้าขายยาเม็ดวิเศษแก้กระหายน้ำเลยละครับ
ยังมีอีกครับ คุณจีน่า ทราปานี บอกว่า เว็บไซต์ LifeHacker.com ของเธอนั้น เน้นเรื่องการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น “เพื่อที่จะได้เล่นมากขึ้น ไม่ใช่แค่ทำงานได้มากขึ้นเฉยๆ” เธอยกตัวอย่างว่า หากเราๆ ท่านๆ สามารถลดเวลาในการทำงานลงสองวินาทีในกิจกรรมสี่อย่างที่ต้องทำวันละยี่สิบครั้ง แล้วละก็ เราจะมีเวลาเหลือสำหรับ "เล่น" ได้ถึงสิบเอ็ดชั่วโมงต่อปีเชียว (ฟังดูคุ้นๆ อีกแล้วไหมครับ? มีเวลาห้าสิบสามนาทีต่อสัปดาห์ไปทำอะไรก็ได้)
ในบล็อกของเธอยังรวบรวมเทคนิคสารพัน ไม่ว่าจะเป็นวิธีกำจัดรอยด่างจากน้ำในเนื้อไม้ให้หายไป การแก้ปัญหาน่ารำคาญกับโปรแกรมไมโครซอฟท์เวิร์ด (แหม ... แก้ได้หมดจะเป็นพระคุณเชียว แต่ลงท้ายเธอว่า ถ้าน่ารำคาญจริงๆ ก็เปลี่ยนโปรแกรมมันเสีย เพราะมีของฟรีแบบโอเพนซอร์ซให้ใช้มากมาย) รวมไปถึงวิธีก๊อปปี้แผ่นดีวีดีลงเครื่องไอพ็อด
อันที่จริงไลฟ์แฮกก็เป็นปรากฏการณ์ที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงไปของรูปแบบการทำงาน การดำเนินชีวิตของชนชั้นกลางในเมือง ที่ต้องตื่นแต่เช้า เดินทางไปที่ทำงาน เปิดคอมพิวเตอร์ เช็คอีเมล เอ็มหรืออิม เข้าประชุม เลิกงานฝ่าฝนตกรถติดกลับบ้าน หากมีเวลาก็เช่าหนังแผ่นมาดู หรือไม่สุดสัปดาห์ก็ต้องเดินทางไปเวิร์กชอปหรือโอดีต่างจังหวัด นี่ยังไม่นับเรื่องแฟน เรื่องครอบครัวเลยนะ
คงจะตื้นเขินเกินไปหากเราจะตัดสินว่าไลฟ์แฮกถูกหรือผิด ดีหรือไม่ดี มีประโยชน์หรือไม่มี แบบตรงไปตรงมาทื่อๆ เพราะข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้เลยคือ การที่วิถีชีวิตของเราโดยเฉพาะในสังคมเมืองได้เปลี่ยนไปแล้ว เราต้องเร่งรีบมากขึ้น มีงานบางอย่างที่เราต้องทำซ้ำๆ บ่อยๆ หากมีวิธีช่วยให้ประหยัดเวลาในการทำเหล่านี้ได้ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายแต่ประการใด
เพียงแต่ว่ามุมมองของการใช้ชีวิตไม่ว่าเราจะเป็นเซียนคอมพิวเตอร์โปรแกรมเมอร์ เป็นพนักงานออฟฟิศ เป็นครูอาจารย์ หรือเป็นแม่บ้านทำงานบ้านก็ตาม เราต่างไม่ได้ต้องการเพียงแค่กลเม็ดนานามาช่วยสำหรับการทำงานรายชิ้น หรือเป็นตัวช่วยในแต่ละสถานการณ์ให้ผ่านพ้นไปได้ แต่หัวใจสำคัญน่าจะอยู่ที่การมีความสุขกับการทำงานในทุกขณะมากกว่า เหตุที่เราต้องการเจาะฝ่างานทั้งหลายเพราะเราทุกข์ทรมานกับงานนั้น และดูเหมือนว่าวิธีการของไลฟ์แฮกจะมุ่งไปที่ "รีบทำให้เสร็จ" มากกว่าการมี "ประสบการณ์ที่ดีระหว่างทาง" ฉะนี้แล้วเราอาจจะไม่พบกับความสุขในงานตรงหน้าก็เป็นได้ ถ้าเรามุ่งหาทางลัดประหยัดเวลาโดยหวังไว้ว่าจะได้เวลาใช้หาความสุขเอาข้างหน้า
อันที่จริงเจ้าของ 43Folders.com ก็บอกว่าตนเองเพิ่งค้นพบวิธีการเจริญสติ และรู้สึกทึ่งมากๆ ทำให้เขานำแนวคิด "ที่นี่และเดี๋ยวนี้" (This and Here) มาทั้งประยุกต์ใช้ และอธิบายกระบวนการของไลฟ์แฮกต่างๆ เช่นว่า ทำไมต้องที่นี่ (หรืองานนี้) และทำไมต้องเดี๋ยวนี้
เราชาวพุทธที่ปฏิบัติอยู่สม่ำเสมอคงไม่แปลกใจเท่าไหร่ เพราะการอยู่กับปัจจุบันขณะ มีสติรู้เนื้อรู้ตัวย่อมนำพาความสุขมาแน่นอน ไม่ว่าจะใช้ประกอบอาชีพทำงานทำการอะไร และความสุขนี้เองเป็นคำตอบสุดท้ายของการทำงานที่เราทุกคนต้องการ
ทั้งนี้ เทคนิคที่ว่ามาไม่ว่าจะวิธีไหน หรือแนวทางอะไร เพียงเรานำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับตัวเราเองก็น่าจะเกิดประโยชน์ที่สุดแล้วครับ แค่ไม่ลืมหัวใจสำคัญของการทำงานว่า เราจะมีความสุขในทุกๆ ขณะทำงาน จะเป็นงานประจำซ้ำซาก หรือเป็นงานลัดสั้นแบบไลฟ์แฮกก็ตามที :-)
ตีพิมพ์ในคอลัมน์ มหาสมุทรแห่งปัญญา
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 22 กรกฎาคม 2550
ผมมีคนรอบข้างเป็นนักวิทยาศาสตร์หลายคนไม่ว่าจะเป็นอาจารย์ เพื่อน รุ่นพี่รุ่นน้อง รวมทั้งนักศึกษาที่อยู่ในกระบวนการฝึกฝน เรียนรู้ ผมพบว่าบุคคลเหล่านี้ส่วนใหญ่ นอกจากมีความสนใจในกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ความสามารถในการทำเรื่องยากๆ ให้เราเข้าใจ หรือบางทีพูดเรื่องง่ายๆ ให้เรางงไปเลยก็มี (ฮา) พวกเขายังมีสิ่งที่เป็นตัวร่วม หรือ หรม.--หารร่วมมาก-- อีกเรื่อง ก็คือ มุมมองต่อความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน
เป็นเรื่องปกติมากที่ผมได้ยินบรรดานักวิทยาศาสตร์ บ่นว่า การทำงานกับคนด้วยกันนี่ยากจัง ไม่เหมือนทำกับสัตว์ทดลอง หรือเชื้อจุลินทรีย์ หรือสารเคมีในหลอดทดลองเลย “อั๊วะเบื่อทำงานกับคนจริงๆ ว่ะ” อาจารย์ผมเคยบ่นให้ฟังเมื่อหลายปีก่อน
ทำงานกับคนก็ท้าทายจริงๆ แหละครับ มันมักพาเราไปเจอกับสิ่งที่ไม่คาดหมาย เจอโจทย์ยากๆ ที่ต้องการความสามารถหรือศักยภาพที่เรายังไม่ได้ค้นพบ ที่เราต้องเอามันออกมาใช้ เหมือนในเกมออนไลน์ที่ต้องเก็บ item ใหม่ๆ ให้ได้ก่อนผ่าน level ถัดไป ที่สำคัญ บางสถานการณ์โจทย์ยากๆ เหล่านี้ มันบังคับให้เราต้องเปลี่ยนแปลงตนเองก่อน จึงจะแก้ปัญหาได้ แล้วการเปลี่ยนแปลงมันง่ายเหมือนปอกกล้วยเข้าปากซะที่ไหนล่ะครับ?
ตัวอย่างกรณี “ผักติดฟัน” เรื่อง “ดูเหมือน” พื้นๆ อย่างนี้ เราก็ไม่ได้มีสูตรสำเร็จในการจัดการเสมอไป จริงไหมครับ? มันขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง ว่าเหตุเกิดขึ้นที่ไหน? มีคนเห็นเยอะไม๊? หากอยู่ที่บ้านกินกันเองสองคนนี่ก็ง่ายหน่อย คงบอกเลยทันทีเสียมาก หากกินในหมู่เพื่อนสนิท ก็อาจบอกตรงๆ หรือพูดติดตลก กันเพื่อนเขิน แต่ถ้าอยู่บนโต๊ะอาหารมื้อทางการ แถมนั่งอยู่ไกล นี่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ตรงไปตรงมา
สิ่งที่สำคัญมากสองสิ่งคือ ผักติดฟันใคร? และ ผักที่ติดส่งผลอะไรบ้าง!
ถ้าเป็นเพื่อนเรา เราก็คงดั้นด้นหาวิธีบอก แน่นอนว่าวิธีที่เราบอกเพื่อนนั้น ควรเป็นวิธีที่นุ่มนวลที่สุด บอกด้วยความรักและปรารถนาดี ไม่ได้หวังให้ได้เขินได้อาย แต่หากผักติดฟันคนที่เราไม่ชอบหน้า แล้วถ้าเราขาดสติ หรือเรามีความเมตตากรุณาไม่พอ เราก็อาจเผลอไผลปล่อยตัวปล่อยใจไม่ใยดีในความเดือดร้อนของคนอื่น
แต่อย่างที่ว่าตอนต้น ความสัมพันธ์กับคนนี่ยากนะครับ บางทีเพื่อนของเราอาจจะโกรธขึ้นมา ไม่พอใจที่เราไปบอก เจอตอบกลับมาแรงๆ สักทีสองทีนี่ก็อาจจะเหนื่อยใจไปเหมือนกัน เรียกว่ามึนกันทั้งผู้ฟังและผู้บอก
ยิ่งถ้าผักที่ติดฟัน ไม่ใช่ “ผัก” ธรรมดาที่เราเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่เป็น Shadow (เงา) หรือส่วนของตัวตนที่เราทิ้งไป นี่ยิ่งยากไปใหญ่
อาจารย์สมพล ชัยสิริโรจน์ กระบวนกรแห่งกลุ่มขวัญเมืองกรุง ผู้เชี่ยวชาญเรื่องนี้ที่สุดคนหนึ่งของเมืองไทย เคยบอกว่า ดอกเตอร์ ฮาล และ ซิดรา สโตน เปรียบ Shadow เหมือนกับไพ่ที่เราทิ้งไป ทำให้เราต้องคอยปฏิเสธความเป็นตัวตนที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของเราที่สมบูรณ์ จากเดิมที่เราเกิดมาเป็นเหมือนไพ่เต็มสำรับ ระหว่างการเติบโต เรากลับค่อยๆ ทิ้งไพ่ใบต่างๆ ไป และปฏิเสธว่าไพ่เหล่านั้น คุณลักษณะเหล่านั้น มันไม่ใช่ตัวเรา
ในกระบวนการเติบโตจนกระทั่งกลายมาเป็นคนอย่างเรา ไม่ว่าเราจะเลือกเป็นโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม ล้วนเป็นกระบวนการของการเลือกจะไม่เป็นบางอย่าง หรือบางสิ่งที่ขั้วตรงข้ามกัน อย่างเช่น หากเราเป็นคนเชื่อประสิทธิภาพการทำงานแบบที่สามารถวัดเป็น “ชิ้น” งาน ได้ เราก็มักปฏิเสธการให้เวลาและความสำคัญต่อความสัมพันธ์ และสิ่งนี้นี่เองอาจเป็นไพ่ที่เราทิ้งไป
ถ้าเรามีเพื่อนประเภททำงานแบบข้ามาคนเดียว ประมาณว่าเชื่อผู้นำชาติพ้นภัย ยากที่จะเกิดสภาพการทำงานอย่างมีส่วนร่วมได้ จริงอยู่แม้งานหลายชิ้นจะลุล่วงไปได้ แต่ข้อเท็จจริงคือเพื่อนเรามันเหนื่อยมาก ทุ่มเทเวลาให้กับงานมากจนทำให้คนอื่นถอยห่าง กรณีอย่างนี้เราจะบอกเขาอย่างไร และควรจะต้องบอกเขาให้เขี่ยผักที่ติดฟันอยู่นั้นออกไปหรือเปล่า
ว่ากันว่า Shadow นี้ ไม่ใช่เรื่องที่เจ้าตัว หรือเจ้าของ Shadow จะหาพบกันง่ายๆ อุปมาดั่งคนถือเทียนไขพยายามมองหาเงาของตน ด้วยการวิ่งไปข้างหน้าเรื่อยๆ ตัวเขาย่อมมองไม่เห็นเงาที่กำเนิดจากตนเอง ทาบยาวไปกับพื้นด้านหลัง ทั้งที่ผู้คนรายรอบต่างมองเห็นกันชัดเจน วิ่งหาจนงง จนหลง นึกไม่ออกเสียทีว่าสิ่งที่ฉันคิดว่ามันดีที่สุดในตัวฉัน มันเป็นสิ่งที่คนอื่นเห็นว่าไม่ดีได้อย่างไร?
ผักจำพวก Shadow นี้ ไม่เพียงแต่จะหาด้วยตัวเองให้พบยาก และต้องอาศัยเพื่อนรักที่หวังดีแล้ว มันยังเป็นเรื่องที่บอกกล่าวกันลำบากนะครับ ถ้าเราไม่เปิดใจ เราก็จะไม่สามารถรับฟังคำตักเตือนได้ เพราะว่าสิ่งนี้มันรับยาก ในกระบวนการเติบโตของเรา เราอาจต้องทำการบ้านทั้งภายในและภายนอกมากเหลือเกินที่จะกำจัดตัวตนส่วนนั้นของเราออกไป อยู่ๆ จะให้เราบอกว่าไอ้สิ่งที่เราใช้เวลาเกือบทั้งชีวิตเพื่อทิ้งมันไป มันนั่นแหละเป็นส่วนหนึ่งของเรา อย่างนี้จะรับได้อย่างไร?
กระบวนการให้เรายอมรับส่วนนั้นกลับเข้ามา ต้องอาศัยความกล้าหาญโดยส่วนตัว และการสนับสนุนจากชุมชนกัลยาณมิตรรอบตัวมากเหลือเกิน ดังเช่นที่ อาจารย์ณัฐฬส วังวิญญู จากกลุ่มจิตวิวัฒน์และขวัญเมืองกรุง เรียกว่าต้อง “ปลอดภัย เปราะบาง เปลี่ยนแปลง”
เจ้าของ Shadow ที่ไม่ฟังหรือไม่มีกัลยาณมิตร ก็ยากที่จะได้รู้จักและกลับไปรวมกับเสี้ยวส่วนตัวตนที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นของเขาได้ ถ้าเพื่อนเราไม่มีทีท่าว่าจะเห็นผักนี้เลย และดูเขาก็ยังไม่พร้อม ยังไม่อยากฟัง ซ้ำเพื่อนยังเป็นคนที่แรง หากเราดันทะเล่อทะล่าบอกไปไม่ดูตาม้าตาเรือ จะโดนหางเลขแถมมาด้วยหรือไม่ บางทีเราก็ควรจะอดใจ รอจนเขาคลี่คลายตนเอง เปิดใจยอมรับขึ้น ... ดีไหม?
ถ้า “ผัก” นั้น มันติดอยู่ที่ใจของเพื่อน แล้วมันส่งผลกระทบในแง่ลบต่อคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นที่บ้านหรือที่ทำงานล่ะ? หากเราเลี่ยงที่จะไม่บอกไม่ได้ เทคนิคการสื่อสารเจรจาทั้งหลาย ทั้งการประเมินสถานการณ์ รอจังหวะหาโอกาสบอก รวมทั้งคิดสรรหาคำพูดดีๆ ที่เหมาะสม ไม่ทำให้เพื่อนรู้สึกเสียหน้า หรือว่าถูกตำหนิโจมตี ทั้งหมดนี้อาจจะยังไม่พอ
ผมคิดว่าเราต้องทำความเข้าใจตรงนี้ให้ดี เพราะการบอกเพื่อนว่าผักติดฟันนี้สำคัญที่เจตนา เราต้องบอกเขาเพราะเรากำลังทำหน้าที่กัลยาณมิตร เป็นเงาสะท้อนให้เพื่อนได้เห็นตัวเองโดยไม่บิดเบือน ปัจจัยจึงไม่ได้อยู่เพียงเทคนิคร้อยแปดในการหาจังหวะเวลาหรือการเลือกใช้คำพูดเท่านั้น แต่อยู่ที่ความเปิดเผย จริงใจ และไม่คาดหวังผลอีกด้วย
หากเราไม่บอก เพื่อนเราคนนั้นคงยังทำงานต่อไปได้ และเราก็ยังสุขสบายดี แต่เราได้พลาดโอกาสในการทำหน้าที่ดูแลช่วยเหลือเขาอย่างจริงใจ ไม่มีผลประโยชน์เคลือบแฝง และเขาจะพลาดโอกาสในการได้กลับมาทบทวนตัวเอง กลับมาดูตัวเองในแง่มุมของคนอื่น เป็นโอกาสการพัฒนาตนที่เกิดขึ้นได้ง่ายๆ ทุกเมื่อ เหมือนโอกาสที่ผักจะติดฟันเราหลังทานอาหาร
ตัวเราก็ไม่ควรเกร็งหรือสรรหาเทคนิควิธีการมากจนไม่ได้เริ่มทำหน้าที่ การได้ลงมือบอกเท่ากับเราได้ฝึกฝนการสื่อสารด้วยความกรุณาไปแล้ว มีความจริงใจในฐานะกัลยาณมิตรเป็นเบื้องต้น ไม่คาดหวังว่าเพื่อนจะต้องเขี่ยผักออกทันทีที่เราบอก ไม่เสียใจผิดหวังถ้าเพื่อนจะมองไม่เห็นผัก แล้วแปรเจตนาเราไปเป็นอื่น
เพียงแต่ได้เอื้อเอ่ยบอกเพื่อนรักว่า “ผักติดฟัน” เราก็ได้ฝึกฝนตัวเอง ได้ทำหน้าที่เพื่อนที่ดี เพื่อนเราก็ได้ทบทวนตัวเอง ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นภายใต้สภาวะที่เป็นมิตร จริงใจ และไม่คาดหวัง :-)